วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญลำดับแรกและแบบอย่างของเปโตร


ความสำคัญลำดับแรกและแบบอย่างของเปโตร

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
ปี C
กจ 5:27-32, 40-41
วว 5:11-14
ยน 21:1-19

บทนำ

นักพูดที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง เริ่มต้นการสัมมนาโดยหยิบธนบัตรใบละ 1 พันบาทขึ้นมาและถามผู้ฟังว่า “ใครต้องการธนบัตรใบนี้” ผู้ฟังยกมือสลอน นักพูดกล่าวต่อไปว่า “ผมจะให้ธนบัตรใบนี้แก่พวกเราคนหนึ่ง” จากนั้นก็ขย้ำธนบัตรจนยับยู่ยี่และถามต่อว่า “มีใครยังต้องการธนบัตรใบนี้อยู่ไหม” ผู้ฟังยังคงยกมือเช่นเดิม

นักพูดท่านนั้นจึงพูดว่า “ดีมาก ถ้าผมทำอย่างนี้ละ” พร้อมกับทิ้งธนบัตรลงบนพื้น ใช้เท้าขยี้จนธนบัตรเปื้อนฝุ่น บางส่วนฉีกขาด เขาหยิบธนบัตรขึ้นมากล่าวว่า “ตอนนี้ ยังมีใครต้องการมันอยู่อีกไหม” มีหลายคนยกมือเพราะธนบัตรใบนั้นไม่ได้ด้อยค่าลงแต่ประการใด ยังคงมีมูลค่า 1 พันบาทเหมือนเดิม บ่อยครั้งในชีวิตของเรา เรารู้สึกว่าตนเองยุ่งเหยิง เปรอะเปื้อน เต็มไปด้วยบาปและความไม่ดีต่างๆ อันเนื่องมาจากการตัดสินใจผิดและกระทำของเรา เรามีความรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยด้อยค่า

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเรา เราไม่เคยด้อยค่าลงในสายพระเนตรของพระเจ้า คุณค่าแห่งชีวิตของเราไม่ได้อยู่ที่การกระทำหรือสิ่งที่เราเป็น แต่อยู่ที่พระคริสตเจ้าซึ่งเป็นเจ้าของชีวิตเรา  ผู้ยอมทนทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพเพื่อเราทุกคน เราจึงเป็นคนพิเศษในสายพระเนตรของพระองค์ที่เราไม่ควรลืม นี่คือ บทเรียนที่เราได้จากพระวรสารวันนี้ ที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกเปโตรให้เป็นผู้นำพระศาสนจักร แม้ว่าเปโตรจะเคยปฏิเสธพระองค์ถึงสามครั้ง

ในการเริ่มงานประกาศเทศน์สอน พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกอัครสาวก 12 องค์ ในบรรดาอัครสาวกทั้งสิบสองพระองค์ทรงเลือกซีมอนให้เป็นหัวหน้า ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “เปโตร” (ศิลา) และบนศิลานี้พระองค์จะตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ พร้อมกับมอบกุญแจแห่งพระอาณาจักรสวรรค์ให้กับเปโตร (มธ 16:18-19) เปโตรจึงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก และตำแหน่งของเปโตรได้รับการส่งมอบต่อมาจนถึงปัจจุบัน (สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ลำดับที่ 266) พระสันตะปาปาจึงทรงเป็นผู้นำพระศาสนจักรและผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร

1.      ความสำคัญลำดับแรกของเปโตร

คริสตชนยุคแรกมีการเปรียบเทียบบทบาทของอัครสาวก บางคนเห็นว่ายอห์นยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักและมีความคิดลึกซึ้งกว่าคนอื่น บางคนเห็นว่าเปาโลยิ่งใหญ่กว่าเพราะท่านเดินทางไปประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าในดินแดนต่างๆ อย่างร้อนรน แต่วันนี้ยอห์นยืนยันว่า เปโตรยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนชีพได้ตรัสกับท่านถึง 3 ครั้งว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด” “จงดูแลลูกแกะของเราเถิด” และ “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15, 16, 17) นี่คือ การแต่งตั้งเปโตรให้เป็นนายชุมพาและผู้นำของพระศาสนจักร

พระเยซูเจ้าทรงตรัสถามเปโตร 3 ครั้งว่า ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม (ยน 21:15, 16, 17) เพื่อให้โอกาสแก่เปโตรได้ยืนยันความรักของท่านที่มีต่อพระองค์ 3 ครั้ง เท่ากับที่ท่านเคยปฏิเสธพระองค์ก่อนหน้านั้น 3 ครั้ง ถือเป็นการพิสูจน์รักแท้ของเปโตรที่มีต่อพระองค์ การปฏิเสธพระอาจารย์ถูกแทนที่ด้วยความรักแท้ และด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักและการให้อภัยของพระเยซูเจ้า ได้ลบล้างความรู้สึกผิดออกไปจากจิตใจของเปโตรจนหมดสิ้น

เราได้เห็นถึงคำถาม 3 ครั้งของพระเยซูเจ้า การยืนยันความรัก 3 ครั้งของเปโตร และคำสั่ง 3 ครั้งของพระเยซูเจ้าที่ตรัสกับเปโตร  นี่คือการแต่งตั้งเปโตรให้เป็นตัวแทนของพระองค์ในโลกนี้ เปโตรจึงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของพระศาสนจักร นักพระคัมภีร์บางท่านตีความ “ลูกแกะ” หมายถึงกลุ่มคริสตชนหรือฆราวาสซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ส่วน “แกะ” หมายถึงบรรดาอัครสาวกที่เหลือและผู้นำพระศาสนจักร ซึ่งต้องการการดูแลและการเลี้ยงของเปโตร

เป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษแรกได้แสดงให้เห็นถึงความจริง 4 ประการเกี่ยวกับเปโตรและผู้สืบตำแหน่งของท่าน

ประการแรก พระสังฆราชแห่งโรมคือ หัวหน้าพระสังฆราชและผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักรทั้งหมดของพระคริสตเจ้าในโลก

ประการที่สอง พระสันตะปาปามีอำนาจสูงสุดในการสั่งสอนสมาชิกของพระศาสนจักร และบรรดาพระสังฆราชมีส่วนในอำนาจในการสั่งสอนนี้ในสังฆมณฑลของตน

ประการที่สาม พระศาสนจักรมีเอกภาพที่สามารถเห็นได้ ในการที่สมาชิกแต่ละคนของพระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวกับพระสันตะปาปา

ประการสุดท้าย พระสันตะปาปาจะไม่ผิดหลงในการสอนความจริงเกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรม

2.      บทเรียนสำหรับเรา

พระวรสารวันนี้และเรื่องราวของเปโตร ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนในการนำไปปฏิบัติหลายประการ

ประการแรก เราต้องเปิดตา เปิดหูและเปิดใจของเราให้กว้าง เพื่อจะได้มองเห็นและมีประสบการณ์เกี่ยวกับพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพ ซึ่งเสด็จมาในชีวิตของเราในหลากหลายรูปแบบ ในเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมต่างๆ ในแบบที่เราคาดไม่ถึง เราต้องสำนึกในพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า “ปราศจากเรา ท่านทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5) ประการสำคัญพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางเราในพิธีบูชาขอบพระคุณ ในพระวาจาที่เราได้ยินได้ฟัง ในศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เรากำลังจะรับและในการภาวนาร่วมกัน “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางพวกเขา” (มธ 18:20)

ประการที่สอง เราต้องดำเนินชีวิตในความรัก หลังจากการยืนยันความรัก 3 ครั้งของเปโตร  พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรว่า จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด นี่คือ “หน้าที่แห่งความรัก ต่อพระเยซูเจ้า ที่ต้องแสดงออกด้วยการรักและรับใช้ผู้อื่น ซึ่งล้วนแต่อยู่ในฝูงแกะของพระองค์เช่นเดียวกัน เราสามารถพิสูจน์ความรักต่อพระเยซูเจ้าได้โดยการรักและรับใช้เพื่อนมนุษย์เท่านั้น “ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา” (ยน 14:15)

ประการที่สาม เราต้องสานต่อพันธกิจของพระคริสตเจ้าและเป็นพยานด้วยชีวิตของเรา เปโตรได้เป็นพยานถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า โดยไม่เกรงกลัวคำสั่งห้ามของบรรดามหาสมณะที่ห้ามพูดในนามของพระองค์ แต่เปโตรยืนยันว่า “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์” และเป็นพยานด้วยชีวิตด้วยการตรึงกางเขนกลับหัว ให้เราดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าด้วยชีวิตของเราเช่นเดียวกัน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ซีมอนแม้พระเยซูเจ้าจะเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็นเปโตร และแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าอัครสาวก แต่เปโตรยังเป็นซีมอนคนเดิมที่อ่อนแอและขลาดกลัว ได้ปฏิเสธพระเยซูเจ้าถึง 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่เคยยืนยันหนักแน่นว่าจะยอมตายเพื่อพระองค์ แต่วิธีปฏิบัติของพระเยซูเจ้าตรงข้ามกับผู้นำทั่วไป พระองค์มิได้ขจัดเปโตรทิ้งไปหรือปลดจากตำแหน่ง พระองค์ยังทรงรักและให้โอกาส ดังนั้น ความรักและการให้อภัยของพระองค์ได้ชนะใจและเปลี่ยนชีวิตของเปโตร

เราปฏิบัติตนเช่นไรกับเพื่อนพี่น้องที่ทำผิดต่อเราหรือทำไม่ดีต่อเรา คงมีแต่ “ความรักและการให้อภัย” เท่านั้น ที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและความขัดแย้งรุนแรง ในอีกด้านหนึ่ง เราแต่ละคนไม่ต่างจากเปโตรที่อ่อนแอและขลาดกลัว เราต้องการใครสักคนที่เข้าใจถึงความอ่อนแอของเรา ขอให้เราพร้อมที่จะเข้าใจคนอื่นด้วยความรักในแบบเดียวกันกับพระเยซูเจ้า ในความรัก การรับใช้และให้อภัยความผิดของกันและกัน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
12 เมษายน 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น