กรุงปารีส (Paris) นครหลวงที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของฝรั่งเศสถือกำเนิดมาจากชุมชนเล็กๆ บนเกาะอิล เดอ ลา ชิเต (IIe de la Cite) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่หนึ่งในสองเกาะกลางแม่น้ำแซน โดยหัวหน้าเผ่าชาวเคลต์ชื่อ ปารีซีย์ (Parisii) ในราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลและตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า ลูตาเซีย (Lutasia) ปัจจุบันเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่งอย่าง มหาวิหารนอเทรอดาม
ปารีสเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยมาจนกลายเป็นเมืองทันสมัย พรั่งพร้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าตระการตา พร้อมๆ กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวปารีสมีวิถีชีวิตที่หรูหรา เป็นศูนย์รวมอาหารเลิศรสและแฟชั่นเลิศหรู ทำให้ปารีสดึงดูดและเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ที่อยากไปเยือนมหานครที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และความรื่นรมย์ที่สุดในยุโรปแห่งนี้ ปารีสมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย สถานที่เป็นที่รู้จักและสัญลักษณ์ของปารีสคือ หอไอเฟลและประตูชัย แต่ปารีสยังมีพิพิธภัณฑ์ มหาวิหาร พระราชวังและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ให้ชมมากมายนับไม่ถ้วน
พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ร์ที่มีชื่อเสียง เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ประตูตุยเลอรีส์ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าสวนสาธารณะ
มุมหนึ่งของสวนสาธารณะตุยเลอรีส์
คณะของเราเดินทางมาถึงปารีสก่อนเที่ยงวันที่ 27 กันยายน ทำให้หลายคนมีเวลาที่จะจับจ่ายซื้อของฝาก ส่วนบางคนก็เลือกที่จะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก แม้จะไม่มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมข้างใน เพียงแค่มองจากภายนอกก็รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตที่เคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ฝรั่งเศส ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ. 1793 มีการจัดแสดงผลงานศิลปะมากกว่า 35,000 ชิ้น รวมถึงภาพโมนาลีซา ผลงานของลีโอนาโด ดาวินชีและรูปปั้นเทพีวีนัสที่ทุกคนรู้จักดี จากด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จะเห็นประตูทุยเลอรีส์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสวนสาธารณะที่ทอดยาวไปจนถึงจัตุรัสคองคอร์ด และเป็นจุดเริ่มต้นของถนนชองป์เอลิเซ่ที่ชื่อเสียงและสวยงามที่สุดของฝรั่งเศส สามารถมองเห็นประตูชัยตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่แต่ไกล
อีกมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จากประตูตุยเลอรีส์
ปารีสที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแฟชั่นและน้ำหอม หลายคนจึงเลือกซื้อไปฝากคนรู้จัก
ถนนชองป์เอลิเซ่ ถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมื่องของฝรั่งเศส
2.1 ประตูชัย (Arc de Triomphe)
ประตูชัย ตั้งตระหง่านอยู่บนจุดบรรจบของถนน 12 สายกลางวงเวียนที่เรียกว่า จัตุรัสชาร์ลเดอโกล เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1806 ถึงปี ค.ศ. 1836 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับชัยชนะของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ตในศึกเอาส์เตอร์ลิทซ์ในปี ค.ศ. 1805 ด้วยความสูง 50 เมตร ฐานกว้าง 45 เมตร แต่ละด้านประดับด้วยภาพสลักแสดงเรื่องราวของการศึกในสมรภูมิต่างๆ ของนโปเลียน วีระบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส
ตรงกลางของประตูชัย มีเปลวไฟที่ไม่มีวันดับอยู่บนหลุมศพทหารนิรนาม ซึ่งเป็นตัวแทนของทหารที่เชียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีทางเดินใต้ดินจากริมถนนไปยังกลางวงเวียน เพื่อขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์และทัศนียภาพของปารีสได้ทุกด้านจากดาดฟ้าของประตูชัยได้ เช่น ยอดเขามงต์มาตร์ทางตอนเหนือ เสาโอปิลิสก์บนจัตุรัสคองคอร์ดและพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ทางตะวันออก ประตูชัยใหม่ในย่านลาเดฟองซ์ทางตะวันตก และหอไอเฟลทางด้านใต้ รวมถึงแนวถนนชองป์เอลิเซ่ที่สวยงาม
ประตูชัย ใจกลางถนนชองป์เอลิเซ่ บนจัตุุรัสชาร์ลเดอโกลด์ที่ถนน 12 สายบรรจบกัน
หอไอเฟล สัญลักษณ์ของกรุงปารีส มองจากเรือปาโตมุช
2.2 หอไอเฟล (Tour Eiffel)
ตอนบ่ายของวันเดียวกันคณะของเราได้ล่องเรือของบริษัทบาโตมุช (Compagnie des Bateaux Mouches) เพื่อชมทัศนียภาพของกรุงปารีส โชคดีที่วันนี้ท้องฟ้าเปิดและเป็นใจทำให้พวกเราได้เห็นความสวยงามของอาคารสำนักงานและสถานที่สำคัญริมสองฝั่งแม่น้ำแซน อาทิ จัตุรัสคองคอร์ด พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โฮเตล เดอ วิล ซึ่งเป็นที่ทำการของสำนักงานของนครปารีส สะพานใหม่ (Pont neuf) ซึ่งเป็นสะพานที่เก่าแก่ที่สุด เกาะกลางแม่น้ำเดอ ลา ซิเต อันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนอเทรอดาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ยลหอไอเฟลจากแม่น้ำแซน นับเป็นมุมมองที่สวยงามยิ่งหย่อนไม่แพ้กัน
หอไอเฟล เป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสที่ทุกคนรู้จักดี สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1887-1889 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของงานแสดงสินค้าโลกในปี ค.ศ. 1889 ในวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดย กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel: 1832’1923) สถาปนิกและวิศวกรชาวฝรั่งเศส เพื่อให้หอนี้เป็นเครื่องหมายถึงงานวิศวกรรมสมัยใหม่ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในสมัยนั้น ซึ่งชื่อ “ไอเฟล” ก็มาจากชื่อของกุสตาฟ ไอเฟลนั่นเอง
ทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำแซนและปองเนิฟ สะพานใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด
มหาวิหารนอเทอดามที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม
แม่น้ำแซนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ไหลผ่านใจกลางกรุงปารีส มีสะพานที่สวยงามหลายแห่ง
เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ชาวปารีสไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์งานวิศวกรรมยิ่งใหญ่นี้ว่าไร้รสนิยม ทำลายทัศนียภาพความสวยงามของปารีส จึงอยากให้รื้อถอนออกไปเมื่อเสร็จงานมหกรรมสินค้าโลก (ความจริงกุสตาฟ ไอเฟลตั้งใจจะสร้างหอไอเฟลไว้ใช้งานเพียง 20 ปี) แต่กระแสความต้องการของชาวปารีสได้เปลี่ยนไป เมื่อเห็นว่าหอคอยนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก หอนี้จึงยังคงตั้งตระหง่านและเป็นสัญลักษณ์ของปารีสและฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเมื่อมาฝรั่งเศสแล้วต้องได้ไปชมหรือถ่ายรูปที่หอไอเฟล มิฉะนั้นแล้วจะถูกค่อนขอดว่ามาไม่ถึงฝรั่งเศส
หอไอเฟลนี้ ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแซน สูง 324 เมตร (รวมเสาสัญญาณ) เคยเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกเมื่อแรกสร้าง ใช้ปริมาณเหล็กในการก่อสร้างหนักราว 1 หมื่นตัน ประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งหมด 18,038 ชิ้น ใช้หมุดเป็นตัวยึดถึง 2.5 ล้านชิ้น ต้องทาสีใหม่ทุกๆ 5 ปี ใช้สีครั้งละ 50 ตัน ในวันที่อากาศร้อนหอนี้จะสูงขึ้นไปอีก 10 เซนติเมตรเนื่องจากเหล็กขยายตัว ช่วงกลางคืนทุกต้นชั่วโมงหอนี้จะสว่างไสวด้วยไฟประดับกว่า 2 หมื่นดวง (10 นาที) ถือเป็นช่วงเวลาที่หอไอเฟลสว่างไสวและสวยงามที่สุด
เยี่ยมวัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ที่ถนนดือบัก
วัดน้อยที่นักบุญคัธรินลาบูเรได้เห็นแม่พระประจักษ์มาในปี 1830
พิธีมิสซาที่วัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ 27 กันยายน
หลังได้ชื่นชมความสวยงามของปารีสจากการล่องเรือ คณะของเราได้เดินทางไปที่วัดน้อยแม่พระเหรียญอัศจรรย์ วัดที่แม่พระประจักษ์มาแก่ซิสเตอร์คัธรินลาบูเร คณะธิดาเมตตาธรรม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1830 และได้ร่วมพิธีมิสซาที่วัดน้อยแห่งนี้ ก่อนจะเดินต่อไปยังคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ได้พบกับคุณพ่อมังซุยซึ่งเคยทำงานที่ท่าแร่และอุบลฯ คุณพ่อแม้จะอายุมากแล้วแต่ยังแข็งแรง พาพวกเราเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของคณะ ซึ่งมีพระธาตุและเครื่องใช้ของนักบุญมรณสักขีจากประเทศต่างๆ ที่คณะทำงานอยู่ รวมถึงบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งสองคอน สิ่งที่น่าประทับใจมากที่สุดคือคุณพ่อได้พาพวกเราขึ้นไปเยี่ยมชมวัดน้อยของคณะ ที่เคยใช้ส่งบรรดามิชชันนารีไปทำงานยังประเทศต่างๆ
เยี่ยมชมคณะมิสซังต่างประเทศ (M.E.P.) ที่ถนนดือบัก
คุณพ่อมังซุยกำลังอธิบายป้ายจารึกชื่อมรณสักขี มีชื่อบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งสองคอนด้วย
วัดน้อยของคณะที่เคยใช้ส่งบรรดามิชชันนารีไปทำงานยังประเทศต่างๆ
Don Daniel เรื่อง-ภาพ
Roma, Italia
5 ottobre 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น