เวียดนามภาคใต้
(บันทึกการเดินทางไปแสวงบุญเวียดนามใต้ 27-31
กรกฎาคม 2015)
บทนำ
“ประเทศไทยและเวียดนาม
ต่างตั้งในแถบเอเชีย
ร่วมทวีป
มีน้ำโขงไหลโยง เชื่อมถึงกัน
แม้นานวันนับพันปี
ก็ใกล้เคียง”
บทประพันธ์ของโฮจิมินต์
จาก
“เสี้ยวหนึ่งที่ผูกพันของลุงโฮที่บ้านนาจอก” ใน www.nongyat.com
ด้วยความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันของเวียดนามกับไทยดังที่โฮจิมินห์ประพันธ์ไว้
ทำให้ได้มีโอกาสเดินทางไปเวียดนามอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) กับคณะสงฆ์สี่สังฆมณฑลอีสาน ซึ่งเป็นการไปแสวงบุญเวียดนามภาคกลาง ได้แก่
ลาวาง เมืองเว้ ดานัง และเมืองมรดกโลกฮอยอัน ส่วนครั้งที่ 2 เดินทางไปในปี
ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) กับคณะสงฆ์จากสี่สังฆมณฑลอีสานอีกเช่นกัน
แต่เป็นการเดินทางไปเวียดนามภาคเหนือ ได้แก่ อ่าวฮาลอง แหล่งมรดกโลก และกรุงฮานอย
เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม
การเดินทางไปเวียดนามครั้งนี้แตกต่างจาก
2
ครั้งแรกเนื่องจากเป็นการไปเฉพาะคณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงเท่านั้น
ระหว่างวันที่ 27-31 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) อีกทั้งเป็นการเดินทางไปโดยทางเครื่องบิน
ดังนั้น การเดินทางครั้งที่ 3 นี้จึงเป็นการสานต่อพันธกิจให้เสร็จสิ้น
เพราะทั้งที่ราบลุ่มภาคกลางเคยเดินเที่ยวชมท่ามกลางสายฝนมาแล้ว
และที่ราบสูงภาคเหนือของเวียดนามก็เคยสัมผัสอากาศหนาวแบบจับขั้วหัวใจมาแล้วเช่นกัน
คราวนี้จึงเป็นการเดินทางไปพื้นที่ที่ยังไม่เคยไปคือ เวียดนามใต้นั่นเอง
อย่างที่เราทราบว่าพื้นที่ของประเทศเวียดนามมีลักษณะเหมือนตัว
“S”
ที่ทอดยาวจากเหนือจดใต้เป็นระยะทาง 1,650 กิโลเมตร
คงเป็นการยากที่จะไปเยี่ยมชมทุกพื้นที่ได้ในครั้งเดียว
หากทำเช่นนั้นคงใช้เวลาเป็นเดือน เช้าของวันที่ 27 กรกฎาคม
ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) เวลา 7.45
น. คณะของเราออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองโดยสายการบินแอร์เอเชีย เครื่องบินแอร์บัส A320 เที่ยวบิน
FD 650 ไปลงสนามบินเตินซอนเญิด (Tan Son Nhat) นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เวลา 9.30 น.
1.
เวียดนามภาคใต้
ภาคใต้ของเวียดนามแตกต่างจากภาคเหนือมาก
แม้จะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเหมือนกัน
ภาคเหนือเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนนานนับพันปี แต่ภาคใต้กลับได้รับอิทธิพลของเขมร
ภายใต้ “อาณาจักรจาม” มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ก่อนจะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น
เวียดนามเหนืออาจคุ้นเคยกับการปกครองแบบเผด็จการและทำตามคำสั่ง ขณะที่เวียดนามใต้กลับชื่นชอบการลงทุนทำธุรกิจและชีวิตที่อิสระเสรีตามอย่างตะวันตก
แม้สงครามจะจบไปนานแล้ว แต่ผลที่ตามมายังมีให้เห็นอยู่ ยังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายที่โหดร้ายของสงคราม
นครโฮจิมินห์
ซึ่งเป็นเป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศเวียดนาม
เดิมชื่อไซ่ง่อน (Sai Gon) เคยเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้
หลังการแบ่งประเทศออกเป็นเหนือ-ใต้ในตามข้อตกลงอนุสัญญาเจนีวาปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) โดยใช้เส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่ง ก่อนจะถูกเวียดนามเหนือยึดเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) และเปลี่ยนชื่อเป็นโฮจิมินห์
(Ho Chi Minh City) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม
ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) เพื่อให้เกียรติกับโฮจิมินห์
บิดาผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชและรวมชาติเวียดนาม
ปัจจุบัน
นครโฮจิมินห์เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจภาคใต้
ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทรงอิทธิพลของประเทศ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมได้มากเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ
อันเนื่องมาจากทรัพยากรธรรมชาติที่ล้นเหลือ บวกกับความกระตือรือร้นในการทำธุรกิจและแรงผลักดันจากชาวเวียดนามในต่างประเทศ
นำให้นครแดนใต้แห่งนี้คึกคัก มีชีวิตชีวา ทั้งยังเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
คำกล่าวที่ว่า “เศรษฐกิจของโฮจิมินห์คือ
ภาพสะท้อนเศรษฐกิจของเวียดนามทั้งประเทศ” คงไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
วันแรกของการเดินทางมาถึง
ยังไม่ได้ไปเยี่ยมชมนครโฮจิมินห์ เป็นเพียงทางผ่านเพื่อเดินทางต่อไปยังหวู่งต่าว
เมืองชายทะเลที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว
85
กิโลเมตร ตลอดเส้นทางสองข้างทางพบเห็นวัดคาทอลิกอยู่ทั่วไป
อันแสดงถึงความเจริญเติบโตพระศาสนจักรในเวียดนาม ซึ่งภาคใต้ของเวียดนามนอกจากเป็นศูนย์กลางของอุตสหกรรมและการเกษตรกรรมของประเทศแล้ว
ยังเป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนาที่มีความเจริญเติบโตและแพร่หลายมากที่สุด
นอกจากนั้น วันนี้ (27 กรกฎาคม) ยังเป็นวันทหารผ่านศึก จึงพบเห็นการประดับธงชาติและข้อความเชิดชูทหารตามอาคารร้านรวงต่างๆ
ตลอดสองข้างทาง
2.
การเข้ามาของคริสตศาสนาและรูปปั้นพระเยซูที่หวู่งต่าว
ตามประวัติศาสตร์คริสตศาสนาเข้ามาในเวียดนามตั้งแต่ปี
ค.ศ. 1533 (พ.ศ. 2070) ที่ตังเกี๋ยทางภาคเหนือ กระทั่งปี ค.ศ.
1615 (พ.ศ. 2158) ได้มีการเผยแพร่ศาสนาอย่างจริงจังในภาคกลางโดยมิชชันนารีเยซูอิต
ชาวโปรตุเกส ทำให้ชาวเวียดนามจำนวนมากกลับใจเป็นคริสตชน นับเป็นเเวลาร่วม 500
ปีที่เมล็ดพันธ์แห่งความเชื่อได้เติบโต ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากและการเบียดเบียนในระหว่างปี
ค.ศ. 1802-1884 (พ.ศ. 2345-2427)
มีคริสชนที่หลั่งเลือดเป็นมรณสักขียืนยันความเชื่อหลายแสนคน และสิ้นสุดลงเมื่อฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมดในปี
ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428)
หลังการแบ่งเวียดนามออกเป็นเหนือ-ใต้ปี
ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) กล่าวกันว่าคริสตชนนับล้านคนได้หนีจากเวียดนามเหนือเข้ามาในเวียดนามใต้เพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา
บางส่วนได้หนีเข้ามายังประเทศไทยกระจายตามเมืองต่างๆ ตามแม่น้ำโขง และหลังการรวมชาติในปี
ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) พระศาสนจักรในเวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ขาดอิสรภาพ
ทำให้คริสตชนจำนวนมากหลบหนีภัยคอมมิวนิสต์ไปอยู่ที่ใหม่อีกครั้ง ในรูปของ “มนุษย์เรือ
(Boat People)” ที่ทั่วโลกรู้จัก ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามผ่อนปรนมากขึ้นในการนับถือศาสนา
ทำให้คริสตชนกว่า 7 ล้านคนในเวียดนามมีอิสระและเสรีภาพมากขึ้น
หวู่งต่าว
เป็นคำภาษาเวียดนามมาจากคำว่า “หวู่ง” แปลว่า “ท่า” ส่วนคำว่า “ต่าว”
แปลว่า “เรือ” หวู่งต่าว จึงหมายถึงเมืองท่าเรือ เนื่องจากมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ลำดับ
2
ของประเทศ ตั้งอยู่บนแหลมที่มีเขาสองลูกขนาบข้าง ถือเป็นเมืองชายทะเลที่มีทัศนียภาพงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนาม
ทำให้เป็นที่นิยมชมชอบของชาวเวียดนามและชาวต่างชาติ ที่มักเดินทางมาพักผ่อนในช่วงวันหยุดหรือสุดสัปดาห์
อีกทั้ง เป็นเมืองที่มีความทันสมัยสะดวกสบายไม่ต่างจากโฮจิมินห์เท่าใดนัก แม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่เศรษฐกิจของเมืองนี้กลับขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมน้ำมันนอกชายฝั่งมากกว่า
หลังรับประทานอาหารเทียงที่โรงแรมดิกสตาร์
(Dic
Star Hotel) คณะของเราได้เดินทางไปชมรูปปั้นพระเยซูเจ้าบนเนินเขาหยุยเญ่อ
ซึ่งเป็นพระรูปพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าขนาดความสูงกว่า 30 เมตร
ยืนกางแขนต้อนรับและรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยกอันสะท้อนถึงความเชื่อคริสตชน คล้ายกับรูปปั้นพระเยซูเจ้าที่นครริโอเดอจาไนโร
ประเทศบราซิลแต่เล็กกว่า กระนั้นยังถือว่าใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย สร้างโดยชาวอเมริกันในปี
ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ซึ่งต้องเดินขึ้นบันได 811
ขั้น จึงถึงฐานพระรูปพระเยซูเจ้า และสามารถเดินขึ้นไปถึงไหล่ของพระรูปนี้เพื่อชมทัศนียภาพโดยรอบของหวู่งต่าวได้
จากนั้นคณะของเราได้เดินทางไปวัดไบ๋ด่าว
(Bai
Dau) ซึ่งเป็นวัดแม่พระ
มีรูปพระนางมารีย์ถวายพระกุมารในพระวิหารขนาดใหญ่ยืนตระหง่านบนเนินเขา เคียงคู่กับวัดซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาเช่นกัน
พระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์
ได้เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณพระเจ้า เพื่อขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับการเดินทาง
และการได้มีโอกาสมาแสวงบุญที่ประเทศเวียดนามครั้งนี้ อีกทั้ง เพื่อเติมไฟแห่งความเชื่อในตัวเราให้ร้อนรนยิ่งขึ้น
หลังพิธีบูชาขอบพระคุณ
พระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ได้นำคณะสงฆ์ภาวนาเพื่อถวายประเทศไทย
และคริสตชนในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงแด่แม่พระ เพื่อขอให้พระนางได้อวยพรให้มีความเชื่อที่เข้มแข็งและร้อนรนเช่นเดียวกับคริสตชนเวียดนาม
ในการเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระคริสตเจ้าบุตรสุดที่รักของพระนาง
เพื่อการประกาศข่าวดีจะได้เกิดผลอย่างแท้จริง จากนั้น ได้เดินทางกลับที่พักที่โรงแรมดิกสตาร์ เพื่อรับประทานอาหารเย็นและพักผ่อน
เป็นการสิ้นสุดภารกิจของวันแรก
Don Daniele เรื่อง/ภาพ
Dic
Star Hotel, Vung Tau City, VIETNAM
July
27, 2015
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น