การประกาศข่าวดีในภาคอีสานและประเทศลาว
1.
บทนำ
ในอดีตดินแดนที่เรียกว่า “ภาคอีสาน” ปัจจุบัน
เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม ดังปรากฏร่องรอยให้เห็นในรูปของปราสาท ปรางค์ กู่
และโบราณสถานต่างๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1353-1707 (พ.ศ. 1896-2250) ภาคอีสานถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างโดยมีหลวงพระบางเป็นราชธานี
ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ตามลำดับ มีผู้ปกครองสืบทอดเรื่อยมาเรียกว่า
“อาญาสี่” มี 4 ตำแหน่งคือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร
จนขึ้นอยู่กับกรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของพระเจ้าตากสินและสืบเนื่องถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ก่อนหน้าที่คริสตศาสนาจะแผ่ขยายเข้ามานั้นภาคอีสานมีศาสนาอยู่แล้วคือ
ศาสนาผีหรือวิญญาณ อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนอีสาน[1] เช่น ผีปู่ตา
ผีฟ้า ผีเชื้อ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาคนในครอบครัวหรือหมู่บ้าน คนอีสานจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี นอกนั้นยังมี “ผีปอบ” ที่เชื่อกันว่าเป็นผีที่กินตับไตไส้พุงผู้คนทำให้ถึงแก่ความตายจนถูกขับไล่หนี
ส่วนพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในภายหลัง
แต่สามารถผสมผสานให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมได้อย่างกลมกลืน โดยได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาในรูปของธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ความเชื่อดังกล่าว นับว่ามีส่วนอย่างสำคัญต่อการกลับใจเป็นคริสตชนของคนอีสานในเวลาต่อมา
ความพยายามที่จะส่งมิชชันนารีไปประกาศศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว
เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1640 (พ.ศ. 2183) โดยคุณพ่อเลอเรีย (LERIE) คณะเยซูอิตจากประเทศฟิลิปปินส์ที่เดินทางมาอยุธยาเพื่อไปลาว แต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเดินทางไปเขมรและขึ้นไปเวียงจันทน์ในปี
ค.ศ. 1642 (พ.ศ.
2185) โดยพักอยู่ในลาวเป็นเวลา 5 ปี[2] ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis LANEAU: 1674-1696) ได้ส่งคุณพ่อโกรส
(GROSSE) และคุณพ่ออันเยโล (ANGELO)
ไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศลาวผ่านสุโขทัยและนครไทย แต่ถึงแก่มรณภาพก่อนที่จะไปถึงลาว[3] ในปี ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) คุณพ่อดาเนียล (DANIEL) และคุณพ่อมาติน
(MATIN) ได้เดินทางจากทับสะแกมาถึงนครราชสีมาพร้อมกับครูคำสอนชาวจีน
2 คน แต่ไม่มีใครสนใจ
2.
การแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรก
เดือนมิถุนายน ค.ศ.
1868 (พ.ศ. 2411) กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้มอบหมายการแพร่ธรรมในล้านช้างให้มิสซังสยาม
โดยมีคำสั่งให้ส่งมิชชันนารีไปล้านช้างให้เร็วที่สุด พระสังฆราชยอแซฟ ดือปอง
(Joseph DUPOND: 1864-1872) ซึ่งไปประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1
ได้ตกลงที่จะส่งมิชชันนารีไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระสังฆราชดือปอง
ได้ถึงแก่มรณภาพก่อนที่จะได้ปฏิบัติตามคำขอร้องของกรุงโรม
2.1
มิชชันนารีสององค์แรก
ในปี ค.ศ. 1876
(พ.ศ. 2419) พระสังฆราชฌอง
หลุยส์ เวย์ (Jean Louis VEY:
1875-1909) ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง
โปรดม (Constant Jean PRODHOMME) ให้ขึ้นไปช่วยคุณพ่อแปร์โร
(PERRAUX) ที่อยุธยา มอบหมายให้สำรวจดูว่ามีทางที่จะขึ้นไปภาคอีสานอย่างไร
โดยหวังที่จะเอาอยุธยาเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภาคอีสาน คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูแลกลุ่มคริสตชนที่หัวแก่งหรือแก่งคอยในปัจจุบัน
ซึ่งขณะนั้นมีผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนประมาณ 250-300 คน[4] และได้ไปสร้างวัดที่คลองท่าเกวียนใกล้มวกเหล็ก
ในปี ค.ศ. 1880
(พ.ศ. 2423) คุณพ่อโปรดม
ได้พยายามเดินทางไปแพร่ธรรมที่นครราชสีมา แต่อยู่ได้ไม่นานนักเพราะเป็นไข้มาลาเรียต้องไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯและพักฟื้นที่จันทบุรี
ในขณะเดียวกันคุณพ่อซาเวียร์ เกโก (Xavier GUEGO) กำลังเรียนภาษาไทยที่วัดอัสสัมชัญเกิดเป็นแผลที่หัวเข่าได้ไปรักษาตัวที่จันทบุรีด้วย พระสังฆราชเวย์ จึงมอบหมายให้คุณพ่อโปรดมกับคุณพ่อเกโก
ไปสำรวจภาคอีสาน เพราะเล็งเห็นว่าการแพร่ธรรมในภาคอีสานจะเกิดผลอย่างแท้จริงเมื่อผู้แพร่ธรรมไปอยู่ในภาคอีสาน
คุณพ่อทั้งสองได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ วันที่
12 มกราคม ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) พร้อมกับครูเณรคนหนึ่งและคนรับใช้อีก
2-3 คน มุ่งสู่อุบลฯ ผ่านแก่งคอยมาถึงนครราชสีมาวันที่ 1
กุมภาพันธ์ และพักอยู่ที่บ้านพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งเป็นเวลา 12
วันก่อนมุ่งหน้าสู่ขอนแก่นผ่านอำเภอชนบท ถึงที่นั่นวันที่ 16
มีนาคม และไปถึงกาฬสินธุ์วันที่ 25 เดือนเดียวกัน
ออกจากกาฬสินธุ์วันที่ 1 เมษายน
มุ่งหน้าไปกมลาไสยถึงร้อยเอ็ดวันที่ 4 และวันที่ 11 ได้มาถึงยโสธร
หยุดพักทำสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์และฉลองปัสกาในเต็นท์ที่นั่น
นับเป็นการฉลองปัสกาครั้งแรกในภาคอีสาน
ที่สุด ได้มาถึงอุบลราชธานีวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน รวมระยะเวลาในการเดินทาง 102 วัน
เมื่อเดินทางมาถึงอุบลฯ คุณพ่อทั้งสองได้เข้าเยี่ยมคารวะข้าหลวงใหญ่
พร้อมกับแสดงเอกสารสำคัญจากกรุงเทพฯ ที่อนุญาตให้เดินทางและจัดตั้งที่พักที่ไหนก็ได้
ข้าหลวงใหญ่ได้เชิญให้คุณพ่อพักอยู่ที่มุมหนึ่งของศาลาว่าการเมือง
โดยใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะกั้นมุมหนึ่งไว้สำหรับเป็นที่ทำการ การพักอยู่ที่นั่นแม้จะแออัดอยู่บ้าง แต่เป็นโอกาสให้คุณพ่อได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม
ประเพณีบ้านเมือง และเป็นดังวิทยาลัยให้เกิดความรู้กฎหมายและการปกครองบ้านเมืองด้วย
นับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับงานแพร่ธรรมในเวลาต่อมา
2.2 การไถ่ทาส
งานแพร่ธรรมแรกในภาคอีสานคือ การไถ่ทาส ปลายเดือนมิถุนายน
ค.ศ. 1881 (พ.ศ.
2424) คุณพ่อโปรดม ได้ปลดปล่อยชาวลาวพวน
18 คนที่ถูกพวกกุลาจับตัวมาจากประเทศลาวเพื่อขายเป็นทาส โดยได้ยื่นฟ้องพวกกุลา 2 ข้อหาคือ พวกกุลาเป็นโจรเพราะขโมยคนมาขาย
และได้แอบอ้างชื่อคุณพ่อเป็นผู้สั่งให้ค้าขายทาส
ศาลได้ตัดสินปล่อยทาสทั้ง 18 คนเป็นอิสระ
พวกเขาจึงมาขออาศัยอยู่กับคุณพ่อและเป็นกลุ่มแรกที่ได้เริ่มเรียนศาสนา
ข่าวการชนะคดีและปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระครั้งนั้นได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว
และสร้างชื่อเสียงให้กับคุณพ่อ
พวกทาสได้มาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อเป็นจำนวนมาก
การไถ่ทาสจึงกลายเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแพร่ธรรม “เมื่อคุณพ่อเดินทางไปที่ไหน พวกทาสในถิ่นนั้นมักขอให้คุณพ่อเป็นทนาย
ขอให้ศาลปล่อยเป็นอิสระเสมอ”[5] พวกทาสเหล่านั้นเมื่อได้รับอิสรภาพได้มาอยู่กับมิชชันนารีเพราะกลัวจะถูกจับไปเป็นทาสอีก
การอยู่กับมิชชันนารีและการเข้าศาสนาของพวกเขาจึงเป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็น
วัดแม่พระนิรมลทิน บุ่งกะแทว วัดหลังแรกของภาคอีสาน |
2.3
บุ่งกะแทว
ศูนย์แรกของมิสซัง
เมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้นการพักอาศัยในอาคารหลวงจึงเป็นการไม่สะดวกและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง คุณพ่อโปรดม ได้เร่งเจ้าเมืองอุบลฯให้หาที่อยู่ให้ใหม่
เจ้าเมืองอุบลฯได้เสนอให้ไปอยู่ในที่ดินที่เป็นบ้านร้างทางตะวันตกของตัวเมืองอุบลฯ
ซึ่งถือเป็นที่เคล็ดมีผีร้ายชาวบ้านอยู่ไม่ได้
ตั้งอยู่ริมบุ่งหรือบึงที่ชื่อว่า “บุ่งกะแทว”
คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูสถานที่และพอใจที่ดินผืนนั้นจึงได้ซื้อบ้านเก่ามาปลูก
และเข้าอาศัยอยู่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) รวมคุณพ่อ คนงาน และผู้สมัครมาอยู่ด้วยทั้งหมดประมาณ 30 คน[6]
หลังจากช่วยกันหักล้างถางพงเป็นที่เรียบร้อยคุณพ่อได้เริ่มสอนคำสอนทันที
เมื่อตั้งหลักได้แล้วคุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อรายงานพระสังฆราชเวย์
และกลับมาพร้อมกับคุณพ่อเกลมังต์ พริ้ง (Clemente PHRING) และครูสอนคำสอน 2 คน ที่สุด
โอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม
ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) พวกที่ถูกปลดปล่อยได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตชน[7] และด้วยความวางใจในคำเสนอวิงวอนของพระนางมารีย์
คุณพ่อโปรดม ได้ให้ชื่อวัดแรกในภาคอีสานว่า “วัดแม่พระนฤมลทิน”
เดือนธันวาคม ค.ศ.
1882 (พ.ศ. 2425) คุณพ่อโปรดม
ได้เดินทางไปกรุงเทพฯอีก ขณะที่คุณพ่อเกโก ไปแพร่ธรรมที่อำนาจเจริญแต่ไม่เป็นผล
ที่กรุงเทพฯ พระสังฆราชเวย์ได้ปรารภกับคุณพ่อโปรดม ด้วยความห่วงใยว่า
“ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนมิสซังใหม่อย่างไรดี
พ่อกลุ้มใจมากเพราะการส่งพระสงฆ์ไปตามป่าดงหลายวันก็เท่ากับส่งเขาให้ไปเป็นไข้ป่าตาย
อีกอย่างหนึ่งก็เกินความสามารถของมิสซังที่จะส่งพระสงฆ์
ครูคำสอนหรือทรัพย์สมบัติขึ้นไปช่วยเสมอๆ
เอาอย่างนี้เป็นไงคือให้คุณพ่อพาคนทั้งหมดของมิสซังใหม่ย้ายมาอยู่ทางนี้เสียก็แล้วกัน”[8] พร้อมกับเสนอให้นำทุกคนมาอยู่ที่วัดหัวไผ่
จากนั้นได้ถามคุณพ่อโปรดมว่าคิดอย่างไรกับแผนการนี้
นับเป็นความโชคดีของพระศาสนจักรอีสาน ที่คุณพ่อโปรดมไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระสังฆราชเวย์ ไม่เช่นนั้นการแพร่ธรรมในอีสานคงหยุดเพียงแค่นั้น
ตรงข้ามคุณพ่อโปรดมได้ตอบพระสังฆราชเวย์ด้วยความสุภาพว่า
การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายการแพร่ธรรมในอีสานอย่างสิ้นเชิง
การแพร่ธรรมในภาคอีสานจึงดำเนินต่อมา ก่อนจะเดินทางกลับอุบลฯพร้อมคุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ เทโอฟิล รองแดล (Alfred-Marie RONDEL) และครูทอง ครูสอนคำสอน ถึงอุบลฯวันที่ 5 เมษายน
ค.ศ. 1883 (พ ศ. 2426)
2.4
การตั้งกลุ่มคริสตชนที่นครพนม
เมื่อมีคนจากหัวเมืองทางเหนือของภาคอีสานมาเชิญไปหนองคาย
คุณพ่อโปรดม ได้ตัดสินใจไปพร้อมกับคุณพ่อรองแดลและครูทอง โดยออกเดินทางจากจากอุบลฯวันที่
26 เมษายน ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426) มาถึงนครพนมเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน
ค.ศ. 1883 (พ.ศ.
2426) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจเส้นทาง สถานการณ์และการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
เพื่อวางโครงการแพร่ธรรมในโอกาสต่อไป
เมื่อได้ใช้เวลาสำรวจไปถึงหนองคายและเวียงจันทน์ได้พบคริสตชน 2 คนซึ่งได้รับศีลล้างบาปที่วัดบ้านแป้ง สิงห์บุรี
ในระหว่างเดินทางกลับได้แวะพักที่นครพนมหลายสัปดาห์
โอกาสนั้นได้สอนคำสอนชาวเวียดนามที่สนใจ โปรดศีลล้างบาปคริสตชนกลุ่มแรกที่นครพนม จำนวน
13 คน และจัดให้พวกเขารับศีลสมรสอย่างถูกต้องอีก 4 คู่ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426)[9] เมื่อได้เวลาสมควรจึงล่องเรือกลับผ่านธาตุพนม
มุกดาหาร และหมู่บ้านตามรายทางซึ่งคุณพ่อได้ช่วยไถ่ทาสชาวลาวพวนให้เป็นอิสระหลายคน
ที่สุดได้มาถึงบุ่งกะแทวในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426) พร้อมกับทาสที่ติดตามคุณพ่อมาอยู่ด้วย
จำนวน 51 คน
พอถึงเดือนพฤศจิกายน คุณพ่อเกโกกับคุณพ่อรองแดล
ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อรักษาไข้มาลาเรีย
หมอไม่อนุญาตให้คุณพ่อรองแดล มาภาคอีสานอีก แต่ได้คุณพ่อยอร์ช-ออกิสต์ มารีย์ ดาแบง (Georges DABIN) มาแทน
เดินทางมาพร้อมกับคุณพ่อเกโกและครูทัน ครูเณรชาวเวียดนามจากจันทบุรี
ภายหลังเมื่อหายดีแล้วคุณพ่อรองแดล ได้เดินทางมาแพร่ธรรมที่ภาคอีสานอีกครั้งในปี
ค.ศ. 1888 (พ.ศ.
2431) หลังฉลองปัสกาในเดือนเมษายน ค.ศ.
1884 (พ.ศ. 2427) คุณพ่อโปรดมกับคุณพ่อเกโกและครูทัน ได้เดินทางไปนครพนมอีกครั้ง
วัดท่าแร่ หลังที่ 2 สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1901-1906 โดยคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ |
2.5
การตั้งกลุ่มคริสตชนที่สกลนคร
เมื่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่นครพนมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครพร้อมกับครูทัน ตั้งใจจะไปเยี่ยมคริสตชนที่มาจากประเทศเวียดนามตามที่ได้ยินมา
และเปิดศูนย์คาทอลิกที่นั่น
คุณพ่อได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคริสตชนชาวเวียดนามและมีชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งแจ้งความจำนงขอเป็นคริสตชน คุณพ่อได้สร้างที่พักและอยู่กับพวกเขา 1
เดือนแล้วมอบให้ครูทัน ดูแล
ส่วนคุณพ่อเดินทางกลับนครพนม
กลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครอีกครั้งพร้อมกับคุณพ่อเกโก และสอนศาสนาแก่ชาวเวียดนามที่สนใจ
ในใบบอกเมืองสกลนครทำให้เราทราบว่ามีชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากสมัครเป็นคริสตชน “…ครั้น ณ. เดือน 7 ปีวอก ฉศก
บาทหลวงอเล็กซิส โปรดม บาทหลวงซาเวียร์ เกโก ชาวฝรั่งเศสได้ขึ้นมาเมืองสกล
เพี้ยศรีสองเมือง นายกองญวน เพี้ยจ่าย ปลัดกองญวน ได้พาพรรคพวกญวน 75 คน สมัครเข้าศาสนาบาทหลวง
เหลือญวนเมืองสกลนครที่ยังไม่เข้าศาสนากับบาทหลวงเพียง 35 คน…”[10]
เมื่อเห็นจำนวนผู้สมัครเป็นคริสตชนเพิ่มมากขึ้น
คุณพ่อโปรดม ได้จัดตั้งศูนย์คาทอลิกสกลนครขึ้นในปี ค.ศ.
1884 (พ.ศ. 2427) จากหลักฐาน
“สมุดบัญชีศีลล้างบาป คริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886” ที่บันทึกโดยคุณพ่อโปรดม พบว่าผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปในลำดับที่ 1 ชื่อ
“มารีอา เดียง” ได้รับศีลล้างบาปในวันสมโภชพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427)[11] หลังจากนั้นจึงได้มอบกลุ่มคริสตชนใหม่ให้คุณพ่อเกโกกับครูทันดูแล ก่อนจะเดินทางกลับอุบลฯ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเทพฯ
นานวันเข้าได้มีชาวเวียดนามและคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ
40 คนมาสมัครเป็นคริสตชน ทำให้จำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น
ประกอบกับถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่บางคน คุณพ่อเกโก ได้คิดหาทำเลตั้งหมู่บ้านใหม่ ในคืนวันหนึ่งหลังสมโภชนักบุญทั้งหลายปี ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) คุณพ่อเกโกและครูทันได้ย้ายกลุ่มคริสตชนโดยทำแพใหญ่จากเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกัน บรรทุกทั้งคนและสัมภาระลงแพ
ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบ ข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของหนองหารและตั้งหลักแหล่งที่นั่น
ในบริเวณที่เป็นบ้านท่าแร่ปัจจุบัน
วัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม วัดที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานเวลานี้ เสก-เปิด ปี ค.ศ. 1907 |
2.6 คำเกิ้ม ศูนย์ที่สองของมิสซัง
ต้นเดือนมกราคม ค.ศ.
1885 (พ.ศ. 2428) คุณพ่อเกโก
ได้เดินทางไปนครพนม เวลานั้นคริสตชนใหม่และผู้เตรียมเป็นคริสตชนมีไม่มาก
รวมกลุ่มอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของเมืองนครพนมใกล้กับ “วัดป่า” คุณพ่อเกโก ได้ปรึกษาทุกคนเรื่องย้ายไปอยู่ที่ใหม่และตกลงเอาบ้านคำเกิ้ม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองนครพนมประมาณ
3-4 กิโลเมตร คำเกิ้มเวลานั้นมีคนต่างศาสนาอยู่ก่อนแล้ว
3-4 ครอบครัว ซึ่งยินดีกลับใจเป็นคริสตชน[12] ต่อมา คำเกิ้มได้กลายมาเป็นศูนย์มิสซังที่บรรดาพระสงฆ์มาเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายน
เวลานั้นมิสซังมีศูนย์กลางอยู่ 3 แห่งคือ
บุ่งกะแทวสำหรับภาคใต้ ท่าแร่สำหรับภาคตะวันตก และคำเกิ้มสำหรับภาคเหนือและตามแม่น้ำโขง
ศูนย์ทั้งสามแห่งได้เป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการแพร่ธรรมในหมู่บ้านต่างๆ จนเกิดหมู่บ้านคาทอลิกเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา
ถึงปี ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) มิชชันนารีสามารถจัดตั้งคริสตชุมชนในภาคอีสานและประเทศลาวได้ทั้งหมด
55 หมู่บ้าน ศูนย์บุ่งกะแทวเขตอุบลราชธานี 15 หมู่บ้าน, ศูนย์ท่าแร่เขตสกลนคร 9 หมู่บ้าน และศูนย์คำเกิ้มเขตนครพนม 31 หมู่บ้าน
2.7 หนองแสง ศูนย์กลางมิสซังแห่งใหม่
หลังการเข้าเงียบประจำปีเดือนพฤศจิกายน
ค.ศ. 1896 (พ.ศ.
2439) บรรดาพระสงฆ์ได้เสนอความเห็นให้มีสถานที่สำหรับใช้เป็นสำนักของอุปสังฆราชผู้ปกครองมิสซัง
และเป็นสำนักทางการของมิสซังด้วย เพื่อง่ายต่อการติดต่อทางจดหมายและปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ
โดยเลือกเอาบ้านหนองแสงที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง ซึ่งมีสถานที่กว้างขวางและไปมาสะดวก
ดังนั้น หนองแสงจึงกลายเป็นศูนย์ที่ 3 ของมิสซัง และเป็นที่ตั้งสำนักพระสังฆราช
ประมุขปกครองมิสซังลาว
เมื่อได้ข้อยุติเกี่ยวกับที่ตั้งศูนย์กลางมิสซังแล้ว
คุณพ่อโปรดม ได้เตรียมสถานที่และโค่นต้นไม้เพื่อจะได้สร้างบ้านหลังเล็กๆ
สำหรับเป็นที่อาศัยของคุณพ่อ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ใช้เป็นโรงครัวในปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) ในการก่อสร้างครั้งนั้นคริสตชนที่อยู่รอบๆ หนองแสงมีส่วนอย่างมากในการเตรียมไม้เสา
ไม้โครงส่วนต่างๆ ดังนั้น หลังสมโภชปัสกาปี ค.ศ. 1897
(พ.ศ. 2440) คริสตชนวัดต่างๆ
ได้บรรทุกไม้ที่เลื่อยแล้วใส่เรือมาส่งที่หนองแสง
และเริ่มตั้งเสาต้นแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440)
พระสังฆราช ยัง-มารีย์ กืออ๊าส พระสังฆราชองค์แรกของมิสซังลาว |
3. มิสซังลาว
ปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) เริ่มพูดถึงการแยกมิสซัง เนื่องจากการคมนาคมที่ลำบาก อีกทั้งจำนวนคริสตชนที่เพิ่มมากขึ้น
ประกอบกับความจำเป็นในการรับเงินอุดหนุนจากกรุงโรมหากแยกเป็นมิสซังต่างหาก เดือนธันวาคม
ค.ศ. 1897 (พ.ศ.
2440) มีจดหมายเวียนแจ้งให้บรรดาพระสงฆ์ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทั่งวันที่
24 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ
ที่ 13 ได้ลงพระนามในหนังสือประกาศสถาปนา “มิสซังลาว” และแต่งตั้งคุณพ่อยอแซฟ-มารีย์ กืออ๊าส (Joseph Marie CUAZ) เป็นพระสังฆราชองค์แรก
มิสซังลาวมีอาณาเขตคือ
ภาคอีสานของประเทศไทยและประเทศลาว แต่ไม่รวมแขวงซำเหนือ แขวงไทนินตะวันออก และแขวงอัตตาปือทางภาคใต้
ศูนย์กลางมิสซังตั้งอยู่ที่หนองแสง ห่างจากตัวเมืองนครพนมไปทางเหนือ 3 กิโลเมตร เวลานั้นมิสซังใหม่มีคริสตชนจำนวน 9,262 คน
และผู้เตรียมเป็นคริสตชน 1,761 คน[13] นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของพระศาสนจักรในภาคอีสานและประเทศลาว
หลังแพร่ธรรมมาเป็นเวลา 18 ปี
ในการฉลอง 25
ปี แห่งการแพร่ธรรมในภาคอีสานและประเทศลาว พระสังฆราชกืออ๊าส ได้บันทึกในรายงานประจำปี
ค.ศ. 1906 (พ.ศ.
2449)[14] พบว่ามีเขตคริสตชนรวม 24
เขต วัดน้อยรวม 73 แห่ง มีพระสงฆ์มิชชันนารี 30 องค์และพระสงฆ์ไทย 4
องค์ สามเณรที่บ้านเณรนาซาเร็ธ 3 คน
นักเรียนครูคำสอน 10 คน
จำนวนคริสตชนทั้งหมดตามรายงานปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) 11,362 คน
และผู้เตรียมเป็นคริสตชน 1,003 คน นั่นคือความก้าวหน้าทั้งหมดของมิสซังลาว
ภายหลังที่คริสตศาสนาเข้ามาในภูมิภาคนี้เป็นเวลา 25 ปี
3.1 การแยกมิสซัง
สมัยพระสังฆราชอังเยโล-มารีย์ แกวง
(Angelo-Marie COUIN) เห็นว่ามิสซังมีพื้นที่กว้างใหญ่ทำให้การแพร่ธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก
จึงได้ขอพระสงฆ์คณะข้าบริการแม่พระนฤมลทิน (O.M.I.) มารับหน้าที่ดูแลภาคเหนือของประเทศลาว
คุณพ่อ 3 องค์แรกของคณะมาถึงท่าแขกวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) ต่อมาสันตะสำนักได้ประกาศตั้งมิสซังเวียงจันทน์และหลวงพระบางแยกออกจากมิสซังลาว
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1938
(พ.ศ. 2481) และมอบให้คณะข้าบริการแม่พระนฤมลทินดูแล
3.2 การสิ้นสุดของมิสซังลาว
เนื่องจากการเดินทางและการปกครองมิสซังไม่สะดวกและประสบปัญหาหลายอย่าง
พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย (Glaudius BAYET) ได้เสนอสันตะสำนักให้แบ่งมิสซังลาว ออกเป็น 2 มิสซังตามเขตประเทศ
สันตะสำนักได้แบ่งตามคำขอเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) โดยตั้ง “มิสซังท่าแขก” ประกอบด้วย 4 แขวงภาคใต้ของประเทศลาว
และ “มิสซังท่าแร่” ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานของประเทศไทย นับเป็นการสิ้นสุดของมิสซังลาว
แต่งานประกาศข่าวดียังได้รับการสานต่อ มิสซังท่าแร่ได้แยกเป็น 3 มิสซังคือ “มิสซังท่าแร่” “มิสซังอุบลราชธานี” และ “เทียบมิสซังอุดรธานี” เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496)
พระสังฆราชยัง-มารีย์ กืออ๊าสและคณะสงฆ์มิสซังลาว ปี ค.ศ. 1903 |
4. บทสรุป
การประกาศข่าวดีในภาคอีสานและประเทศลาว
มีความพยายามตั้งแต่แรกที่คริสตศาสนาเข้ามาในประเทศสยาม แต่มาสำเร็จเป็นจริงสมัยพระสังฆราชเวย์
ในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) ที่ส่งคุณพ่อโปรดมและคุณพ่อเกโก เข้ามาแพร่ธรรมในภาคอีสานโดยยึดเอาอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลาง สภาพของคนอีสานในสมัยนั้นนับถือผีและอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี
นอกนั้นยังมีจำนวนมากที่ถูกจับตัวขายเป็นทาส
หรือประสบกับความเดือดร้อนทั้งจากอำนาจรัฐและสังคม บทบาทของมิชชันนารีได้เข้าไปมีส่วนในการไถ่ให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของนายเงินและอำนาจของผี
และเป็นที่พึ่งของผู้เดือนร้อนภายใต้คติที่ว่า “ปลดปล่อย
เมตตา และยุติธรรม”
บรรดามิชชันนารีได้ดำเนินชีวิตใกล้ชิดชาวบ้าน
กินอยู่และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขา ซึ่งเป็นการแพร่ธรรมที่สมถะเรียบง่ายและเข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง
ปกครองแบบครอบครัวโดยรวบรวมคริสตชนให้อยู่รวมกันเป็นชุมชน และถือเป็นศูนย์สำหรับการแพร่ธรรมในหมู่บ้านอื่นต่อไป
จะเห็นว่าคริสตชนรุ่นแรกมาจากคนที่เคยเป็นทาสและอยู่ภายใต้อิทธพลของผีมาก่อน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและไม่ได้รับการศึกษา
ผลจากการทำงานด้วยความร้อนรน เสียสละ และกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของมิชชันนารี ทำให้เกิดคริสตชุมชนเกิดขึ้นใน
3 จุดใหญ่คือ อุบลราชธานี สกลนคร
และนครพนม ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานอันมั่นคงของ “มิสซังลาว”
แม้จะเป็นคริสตชนใหม่ แต่พวกเขาได้ผ่านช่วงเวลาของการทดสอบตลอดเวลา
5 ปีแห่งการเบียดเบียนศาสนาขณะเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน และได้กลายมาเป็นรากฐานอันสำคัญของมิสซังใหม่อีก
3 มิสซังในเวลาต่อมาคือ มิสซังเวียงจันทน์กับมิสซังท่าแขกในประเทศลาว
และมิสซังท่าแร่ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานทั้งหมดของประเทศไทย จากเดิมที่ไม่มีคริสตชนเลยในภาคอีสานและประเทศลาวก่อนปี
ค.ศ. 1881 (พ.ศ.
2424) จนถึงปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) จำนวนคริสตชนได้เพิ่มเป็น
25,466 คน นับเป็นพระพรของพระเจ้าอย่างแท้จริง
โกสเต, โรแบร์. ประวัติการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามและลาว. แปลและเรียบเรียงโดยอรสา ชาวจีน.
กรุงเทพฯ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย,
2549.
.
“ประวัติคริสตศาสนาในภาคอีสาน”. ใน พิธีกรรมกับการดำเนินชีวิตชนคาทอลิกในภาคอีสาน. เอกสารอัดสำเนา.
กืออ๊าส, ยัง-มารีย์. “บันทึกปี ค.ศ.1907 เนื่องในโอกาสฉลอง 25 ปีของการแพร่คริสตธรรม”. ใน ที่ระลึกงานเสกวัดช้างมิ่ง
อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 15 เมษายน 2512. ม.ป.พ., 2512.
เกศรี โสดาศรี และอรนินท์ ศิริพงษ์. “ความเชื่อของไทยในภาคอีสาน”. ใน เอกสารวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรม. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2533.
จดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ม.2
12 ก. ใบบอกเมืองสกลนคร. วัน 5 14/9 11 ค่ำ ปีระกา สัปตศก 1247.
บันทึกการก่อตั้งมิสซังลาวของคุณพ่อปีแอร์
แอกกอฟฟอง. แปลโดย คุณพ่อยอห์นบัปติสต์
นรินทร์ ศิริวิริยานันท์. เอกสารอัดสำเนา.
บาเย, เกลาดิอุส. “ธรรมทูตรุ่นแรกมาถึงประเทศไทย”. อุดมศานต์. ปีที่ 61 ฉบับที่ 12. ธันวาคม, 2524.
.
ประวัติการแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว. แปลโดย เกี้ยน เสมอพิทักษ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้ว,
2527.
ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกไทย
สมัยกรุงศรีอยุธยา-สังคายนาวาติกันที่ 2. นครปฐม: วิทยาลัยแสงธรรม, 2533.
รายงานประจำปี
ค.ศ. 1949-1965. เอกสารทางการของมิสซังสำหรับรายงานสันตะสำนัก.
สมุดบัญชีศีลล้างบาป
คริสตัง สกลนคร ปี 1884,
1885, 1886. เลขที่ 1. 15 สิงหาคม 1884.
[1] เกศรี
โสดาศรี และอรนินท์ ศิริพงษ์, “ความเชื่อของไทยในภาคอีสาน”
ใน เอกสารวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรม, (มหาสารคาม:
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2533), หน้า 4.
[2] โรแบร์ กอสเต,
“ประวัติคริสตศาสนาในภาคอีสาน”, ใน พิธีกรรมกับการดำเนินชีวิตชนคาทอลิกในภาคอีสาน,
(เอกสารอัดสำเนา), หน้า 1.
[3] เกลาดิอุส
บาเย, ประวัติการแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว,
แปลโดย เกี้ยน เสมอพิทักษ์, (กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2527), หน้า17.
[6] เกลาดิอุส
บาเย, “ธรรมทูตรุ่นแรกมาถึงประเทศไทย” อุดมศานต์, ปีที่ 61 ฉบับที่ 12, (ธันวาคม,
2524), หน้า 29.
[7] ยัง-มารีย์
กืออ๊าส, “บันทึกปี ค.ศ.1907 เนื่องในโอกาสฉลอง 25 ปีของการแพร่คริสตธรรม”
ใน ที่ระลึกงานเสกวัดช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 15
เมษายน 2512, (ม.ป.พ., 2512), หน้า 4.
[10] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ,
เอกสาร ร.5 ม.2 12 ก.,
ใบบอกเมืองสกลนคร, วัน 5 14/11 ค่ำ ปีระกา สัปตศก 1247, (22 ตุลาคม 2428).
[12] บันทึกการก่อตั้งมิสซังลาวของคุณพ่อปิแอร์
แอกกอฟฟอง, แปลโดย คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ นรินทร์
ศิริวิริยานันท์, (เอกสารอัดสำเนา), หน้า
4.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น