130 ปี คริสตชุมชนท่าแร่ (ต่อ)
วัดท่าแร่หลังที่ 2 ภาพโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 14 มกราคม 1907
1.3 การก่อสร้างวัดหลังที่
2
วัดหลังที่ 2 ซึ่งมีโครงสร้างถาวรผนังก่ออิฐถือปูนมีหอสูงด้านหน้า
2 หอ และด้านหลัง 1 หอ สร้างในราวปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) ดังปรากฏในเอกสาร “สำเนาจดหมายออกและคดีความ” เลขที่ 29 ที่ คุณพ่อกอมบูริเออ พร้อมกับขุนพิทักษ์ประเทศ
ตาแสง (ผู้ใหญ่บ้าน)
บ้านท่าแร่ได้เขียนไปถึงพระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมือง, ชาเนตร ข้าหลวงประจำเมือง, อุปฮาด, ราชวงศ์, ราชบุตร
และกรมการเมืองสกลนคร เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ที่จะรื้อวัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมและสร้างพระวิหารใหม่ขึ้น
พร้อมกับขออนุญาตให้บ่าวไพร่ราษฎรบ้านท่าแร่ได้งดเว้นจากงานราชการ
เพื่อจะได้พร้อมใจกันก่อสร้างพระวิหารใหม่ในตอนต้นปี
จดหมายฉบับนั้นลงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) จึงทำให้เราทราบว่า พระวิหารใหม่ หรือวัดหลังที่ 2 ได้เริ่มสร้างเมื่อต้นปี
ค.ศ. 1901 (พ.ศ.
2444) และใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี
เพราะชาวท่าแร่บางส่วนยังถูกเกณฑ์ไปทำงานหลวง ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองตามที่คุณพ่อกอมบูริเออร้องขอ
อีกทั้งความจำกัดในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้างในสมัยนั้น
ทำให้การก่อสร้างล่าช้า
คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ เจ้าอาวาสวัดท่าแร่องค์แรกและผู้สร้างวัดหลังที่ 2
พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร
จากเอกสาร “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” เลขที่ 249 และ 250 ลงวันที่ 14 และ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) ตามลำดับ ซึ่งเป็นหนังสือที่พระอนุบาลสกลเกศ ยกกระบัตรเมืองสกลนครมีมาถึงคุณพ่อกอมบูริเออ โดยอ้างถึงหนังสือที่คุณพ่อเขียนไปปรึกษาเพื่อขออิฐที่ถูกทิ้งร้างบริเวณเกาะหนองหาร สำหรับการสร้างพระวิหารใหม่ และพระอนุบาลฯบอกให้รอไว้ก่อนเพราะพระยาจันตฯเจ้าเมืองไม่อยู่ และภายหลังเมื่อพระยาจันต์ฯกลับมาได้ปรึกษาหารือกันและพระอนุบาลฯได้มีหนังสือตอบกลับมาอีกว่า อิฐเหล่านั้นให้ไม่ได้เพราะเป็นโบสถ์และปัฌิมาโบราณอันเป็นที่นับถือของชาวพุทธ
อย่างไรก็ดี การก่อสร้างได้ดำเนินเรื่อยมาและเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ในเอกสารเล่มเดียวกัน เลขที่ 291 ลงวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) ซึ่งเป็นหนังสือตอบของพระอนุบาลฯ เรื่องที่คุณพ่อกอมบูริเออ
ขอเช่าเรือไปบรรทุกปูนที่เมืองนครพนมสำหรับการสร้างพระวิหารที่ท่าแร่ เส้นทางน้ำจากท่าแร่ไปเมืองนครพนมมีทางเดียวคือ
ล่องเรือตามลำน้ำก่ำออกสู่แม่น้ำโขง แล้วย้อนขึ้นไปเมืองนครพนม ซึ่งสามารถเดินเรือตามเส้นทางนี้ได้เฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น
และต้องใช้เวลาเดินทางนานทีเดียว ทำให้เราทราบว่าการก่อสร้างวัดหลังที่ 2
ใช้เวลาก่อสร้างหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จ
พระสังฆราชยอห์น บัปติสต์ โปรดม ผู้เสก-เปิดวัดหลังที่ 2 ขณะเป็นอุปสังฆราช
คุณพ่อเกลาดีอุส บาเย เดินทางมาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณพ่อกอมบูริเออ ปี 1926
ที่สุด พระวิหารใหม่ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์มีพิธีเสกและเปิดโดยคุณพ่อโปรดม อุปสังฆราช ในโอกาสฉลองวัดเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) ตามบันทึกของพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเย ที่ได้ยินจากคำบอกเล่าของ คุณพ่อกอมบูริเออ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการเฉลิมฉลอง 25 ปีแห่งการประกาศพระวรสารในดินแดนอีสาน (ค.ศ. 1881-1906) อีกทั้ง เพื่อให้ท่าแร่เป็นอีกศูนย์หนึ่งของการแพร่ธรรมของมิสซังลาว เช่นเดียวกับที่อุบลฯ (บุ่งกะแทว) และนครพนม (คำเกิ้ม)
ในห้วงเวลาใกล้กัน สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เสด็จตรวจเยี่ยมมณฑลอีสานเป็นเวลานาน 3
เดือน
ในระหว่างเส้นทางไปเมืองสกลนครผ่านบ้านท่าแร่ ได้หยุดแวะเยี่ยมมิชชันนารีที่บ้านพักพระสงฆ์เป็นเวลานานและได้ทรงถ่ายภาพวัดหลังใหม่เมื่อวันที่
14 มกราคม ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)
ทำให้เราได้เห็นถึงความสวยงามโอ่อ่าตระการตาของวัดหลังนั้นเมื่อแรกสร้าง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยี่ยมมณฑลอีสาน ปี 1907
ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1925-2926
(พ.ศ. 2468-2469) คุณพ่อกอมบูริเออ
ได้ดำเนินการบูรณะปรับปรุงโครงสร้างวัดใหม่
เข้าใจว่าเพื่อเตรียมฉลองครบรอบ 20 ปีของวัดหลังดังกล่าว
ด้วยการทุบหอสูงด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อสร้างหอใหญ่เพียงหอเดียวด้านหน้าวัดสำหรับใช้แขวนระฆังใบใหญ่เพิ่มอีก
2 ใบที่ได้รับการถวายจากคหบดีชาวท่าแร่ รวมเป็น 3 ใบ
ระฆังใบใหญ่สุดได้รับการถวายจาก องบาง, องเด (สองพี่น้อง)และญาติพี่น้อง ใบรองลงมาได้รับการถวายจาก องเลื่องและญาติพี่น้อง ดังปรากฏชื่อที่จารึกด้วยอักษรโรมันในระฆังทั้ง 2
ใบ ส่วนอีกด้านของระฆังทั้ง
2 ใบจารึกปีที่นำมาคือปี ค.ศ. 1926
(พ.ศ. 2469) และชื่อพระสังฆราชแกวง และคุณพ่อกอมบูริเออ เจ้าอาวาส คงเพราะเหตุนี้กระมัง
ชาวท่าแร่จึงกล่าวทีเล่นทีจริงว่าระฆังทั้ง 3 ใบของวัดท่าแร่
เวลาตีเสียงจะดังกังวานไปไกลว่า “บาง เด เลื่องๆ ๆ ๆ”
ตามชื่อของผู้บริจาค
วัดท่าแร่หลังที่ 2 หลังการบูรณะปี ค.ศ. 1926 คงเหลือเพียงหอระฆังหอเดียวด้านหน้าวัด
วัดท่าแร่ จากหนังสือสมโภช 75 ปีของบ้านท่าแร่ ปี ค.ศ. 1960
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น