วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่



                                   130 ปี คริสตชุมชนท่าแร่ (จบ)
นี่่คือภาพที่ระลึกในวันเปิดเสกอาสนวิหาร วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1971
2.         การก่อสร้างอาสนวิหารหลังปัจจุบัน
วันที่ 18 ธันวาคม ค.. 1965 (.. 2508) สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงได้รับการสถาปนาพระฐานานุกรมเป็นอัครสังฆมณฑล และพระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราช เพื่อให้สมกับฐานะและตำแหน่งที่ได้รับ  พระคุณเจ้าจึงดำริที่จะสร้างอาสนวิหารใหม่แทนวัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมและคับแคบตามกาลเวลา โดยมีพิธีเสกและวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.. 1968 (.. 2511)
อาสนวิหารใหม่หรือวัดหลังที่ 3 เริ่มลงมือก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ มีลักษณะเป็นรูปหัวเรือ เพื่อจะได้นำอัครสังฆมณฑลใหม่ฝ่าคลื่นลมไปสู่ความสำเร็จและเจริญรุ่งเรือง เช่นเดียวกับสำเภาของโนอาและแพใหญ่ของคุณพ่อเกโก   ที่นำพากลุ่มคริสตชนบรรพบุรุษของชาวท่าแร่จากตัวเมืองสกลนคร ข้ามหนองหารมาขึ้นฝั่งที่ท่าแร่อย่างปลอดภัย  อาสนวิหารนี้ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ มีพิธีเสกและเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.. 1971 (.. 2514)  โดยพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน
 พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ผู้สร้างอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแลท่าแร่


ปี ค.. 1979 (.. 2522) คุณพ่ออันตนเสงี่ยม ศรีวรกุล ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาส  ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง คุณพ่อได้ดำเนินการก่อสร้างหอระฆังวัดใหม่สำหรับวางระฆังใหญ่ 3 ใบตั้งแต่สมัยคุณพ่อกอมบูริเออ พร้อมทั้งได้ก่อสร้างถ้ำแม่พระเพื่อถวายเกียรติแด่แม่พระซึ่งคุณพ่อมีความเชื่อศรัทธาเป็นพิเศษ ทำให้ชาวท่าแร่มีความศรัทธาต่อแม่พระมากยิ่งขึ้น และมีสถานที่สำหรับภาวนาวอนขอพระพรจากพระนางร่วมกัน
ปี ค.. 1984 (.. 2527) ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปีแห่งการตั้งกลุ่มคริสตชนกลุ่มแรกในอัครสังฆมณฑล คุณพ่อยอแซฟ ตรรกวิทย์ เวียรชัย เจ้าอาวาสได้ปรับปรุงและซ่อมแซมอาสนวิหาร พร้อมกับการสร้างบ้านพักพระสงฆ์หลังใหม่ สร้างถนนจากอาสนวิหารไปป่าศักดิ์สิทธิ์ สร้างซุ้มประตูด้านหน้าและหลังอาสนวิหาร  เพื่อเฉลิมฉลองพิธีปิด “100 ปีแห่งการแพร่ธรรม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.. 1984 (.. 2527) อย่างยิ่งใหญ่ มีการเปิดอนุสรณ์คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ผู้มาเผยแพร่คริสตธรรมในภูมิภาคนี้ บริเวณหน้าอาสนวิหารด้วย 

ต่อมาอาสนวิหารหลังนี้ได้รับการซ่อมแซมและบูรณะเรื่อยมา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางชีวิตและความเชื่อของชาวท่าแร่และพระศาสนจักรแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง แต่การบูรณะครั้งสำคัญเกิดขึ้น 3 ครั้ง


2.1  การบูรณะครั้งที่ 1
ปี ค.. 1994 (.. 2537) พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ร่วมกับคุณพ่อเปาโล สมพร อุปพงศ์ เจ้าอาวาส และชาวท่าแร่ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อบูรณอาสนวิหาร โดยเปลี่ยนหลังคาที่รั่วซึม พร้อมกับต่อเติมบริเวณส่วนหัวให้สูงและสวยงามยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในโอกาสฉลองครบ 25 ปีของอาสนวิหารในปี ค.. 1996 (.. 2539) ในสมัยคุณพ่อยอแซฟ ธีระยุทธ อนุโรจน์ เป็นเจ้าอาวาส  และเป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างศาลาพักศพเพื่อใช้เป็นที่พักศพของชาวท่าแร่
ศาลาพักศพนี้ได้รับการสานต่อให้เสร็จสมบูรณ์โดยคุณพ่ออันดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม เจ้าอาวาส เมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ คริสตศักราช 2000 ซึ่งเป็นปี ปีติมหาการุญ  ศาลานี้จึงได้ชื่อว่า ศาลาปีติมหาการุญ  มีพิธีเสกและเปิดในโอกาสฉลองบุญกองข้าว วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม ค.. 2000 (.. 2543) โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ พร้อมกับคณะสงฆ์และสัตบุรุษชาวท่าแร่  ซึ่งศาลานี้ได้ใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์เรื่อยมา
นอกนั้น คุณพ่อสำราญได้รณรงค์หาทุนซื้อระฆังใหม่ แทนระฆังใบใหญ่ที่แตกร้าวเนื่องจากใช้งานมานาน  มีพิธีเสกระฆังใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.. 2002 (.. 2545) โอกาสฉลองวัด โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ กล่าวได้ว่าระฆังใบนี้จัดซื้อจากแรงศรัทธาของพี่น้องสัตบุรุชาวท่าแร่และจากวัดต่างๆ ทั่วอัครสังฆมณฑล พร้อมกับเสกรูปเหมือนคุณพ่อกอมบูริเออ ที่ทำจากสัมฤทธิ์บริเวณด้านหน้าอาสนวิหาร



2.2  การบูรณะครั้งที่ 2
ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ได้เริ่มการบูรณะอาสนวิหารอีกครั้ง โดยคุณพ่อมีคาแอล วัชรินทร์ ต้นปรึกษา เจ้าอาวาส ด้วยการขยายโครงหลังคาให้ครอบคลุมพื้นที่ด้านหน้าของอาสนวิหารเพื่อกันแดดกันฝน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างเดิม มีการทำเสาขึ้นมารองรับ ไม่มีผนัง แต่ทำเป็นช่องระหว่างเสา ตกแต่งเป็นทรงโค้งให้แลดูสวยงาม พร้อมกับทำที่นั่งในลักษณะยกสูงแทนรั้วกั้นแบบเดิม
การบูรณะครั้งนี้ใช้เวลาปีเศษ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 2 ล้านบาท นอกนั้น คุณพ่อยังได้ทำกำแพงรอบอาสนวิหารใหม่ ปรับแผงกั้นเหล็กเป็นสแตนเลสให้แลดูเด่นและสวยงามยิ่งขึ้น พร้อมกับทำป้ายชื่ออาสนวิหารบริเวณประตูทางเข้า-ออก และทุกมุมกำแพง โดยให้พี่น้องชาวท่าแร่ได้มีส่วนตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน



2.3                การบูรณะครั้งที่ 3
ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) คุณพ่อเปโตร ทวีชัย ศรีวรกุล ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสและได้เริ่มโครงการหลายอย่าง เช่น การปรับปรุงบ้านพักพระสงฆ์ ศาลามาร์ตีโน ศาลามีคาแอล โรงคำสอน ถ้ำแม่พระและปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงาม จากนั้นได้เริ่มการบูรณะอาสนวิหารครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) โดยขยายและต่อเติมระเบียงทั้งสองข้างของตัวอาสนวิหารให้กว้างขึ้น สร้างเสาโรมันขนาบข้างด้านหน้า เพื่อประดิษฐานพระรูปแม่พระและศีลมหาสนิท สองเสาหลักที่ค้ำจุ้นพระศาสนจักรตามความฝันของนักบุญยอห์น บอสโก
วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) คุณพ่ออันตน วีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราชได้มาเป็นเจ้าอาวาส และได้สานต่องานของคุณพ่อทวีชัยที่ค้างอยู่ โดยการบูรณะภายในอาสนวิหารใหม่ทั้งหมด อาทิ บริเวณพระแท่น สร้างพระแท่นและตู้ศีลมหาสนิทใหม่ ปรับแต่งคิ้วบัวบริเวณพระแท่นด้วยไม้มะค่า แกะสลักเป็นรูปปังและถ้วยกาลิกส์ เปลี่ยนฉากเหนือพระแท่นเป็นหินอ่อน แต่ยังคงอนุรักษ์ไม้กางเขนดั้งเดิมที่ทำด้วยไม้สัก เสริมด้วยจั่วไม้ทรงโรมันที่มีเสาไม้ 4 ต้นรองรับ เพื่อทำให้ไม้กางเขนแลดูเด่นขึ้น
นอกนั้น ยังได้เปลี่ยนพื้นหินขัดเป็นหินแกรนิต ทำที่นั่งในอาสนวิหารใหม่ ปรับแต่งฝ้าเพดานด้วยลายไม้ ทำโดมเหนือพระแท่นเป็นรูปดวงอาทิตย์ล้อมรอบด้วยไม้ 8 เหลี่ยมเพื่อสื่อถึงบุญลาภ 8 ประการ เปลี่ยนกระจกช่องแสงเป็นกระจกสีรูปพระนางมารีย์ตามข้อรำพึงสายประคำ ทำแผงกั้นชั้นสองเป็นสัญลักษณ์ของพระนางมารีย์ด้วยไม้มะค่าและประดู่ มีรูปแกะสลักพระมารดาแห่งมรณสักขีสองคอนขนาดใหญ่ตรงกลางที่ทำจากไม้มะยมหอม ปรับแต่งประดูรอบอาสนวิหารส่วนบนเป็นกระจกใสลวดลายสวยงาม ฐานล่างแกะสลักเป็นรูปกางเขนกลางวงกลม



2.4                การถวายอาสนวิหารใหม่
การบูรณะอาสนวิหารครั้งใหญ่ครั้งนี้ใช้เวลา 3 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ ใช้เงินงบประมาณในการบูรณะทั้งสิ้น 20 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องชาวท่าแร่ที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มความสามารถ รวมถึงนักบวชคณะต่างๆ และพี่น้องสัตบุรุษผู้มีน้ำใจดีที่ช่วยกันทำบุญ ทำให้อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ ได้รับการถวายแด่พระเจ้าพร้อมกับการเฉลิมฉลอง 130 ปีแห่งความเชื่อของชุมชนท่าแร่
พิธีถวายอาสนวิหารและฉลอง 130 ปีแห่งความเชื่อของชุมชนท่าแร่ กระทำอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) โดยพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ร่วมกับพระสมณทูตพอล ชาง อิน-นัม เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย พระสังฆราชยอแซฟ ลือชัย ธาตุวิสัย ประมุขสังฆมณฑลอุดรธานี พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ นักบวช และพี่น้องคริสตชนมาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก


3.         บทส่งท้าย
ความเป็นอาสนวิหาร มิใช่อยู่ที่ความยิ่งใหญ่อลังการ มิใช่อยู่ที่งานศิลปกรรมล้ำค่าหรือการมียอดสูงเสียดฟ้าเหนือสิ่งปลูกสร้างใดๆ แต่อยู่ที่ความเชื่อคริสตชนที่มั่นคงเข้มแข็งในพระเจ้า ที่หลอมรวมทุกคนในชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกันดุจพี่น้อง เจริญชีวิตตามคุณค่าพระวรสารในความรักต่อกัน ในการให้อภัยกันด้วยใจกว้าง และในการอุทิศตนรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยใจยินดี นี่คือ “อาสนวิหารที่มีชีวิต”
อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ จึงมิใช่เพียงตัวอาสนวิหารที่สวยงามตระการตาที่เราถวายแด่พระเจ้าในวันนี้เท่านั้น แต่ต้องหมายถึงเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตใจของพี่น้องชาวท่าแร่ และคริสตชนทุกคนในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงที่เป็นวิหารของพระเจ้า ทุกคนจึงต้องดำรงตนและดำเนินชีวิตให้สมกับการเป็นวิหาร เป็นที่ประทับของพระเจ้า  “ท่านเป็นพระวิหารของพระเจ้า และพระจิตของพระเจ้าทรงพำนักอยู่ในท่าน (1คร 3:16)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินชีวิตในความรัก การให้อภัย และการรับใช้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการประทับอยู่และการประกาศพระนามของพระเจ้า เช่นนี้เอง เราแต่ละคนจะเป็นพระวิหารที่มีชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ในสายพระเนตรของพระเจ้า และเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้แห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า ที่จะมั่นคงยั่งยืนชั่วกัลปาวสาน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
2 พฤษภาคม 2015

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น