กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม
เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า
“กินขี้หมาดีกว่าค้าความ” เป็นคำเปรียบเปรยที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดและทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อระบบยุติธรรม
เพราะการที่ต้องเป็นคดีความฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สนุกเลย
นอกจากจะเสียเงิน เสียเวลา เสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพแล้ว ยังเสียสุขภาพจิตด้วย หากเลือกได้
บางคนอาจยอมกินอาจมดีกว่า
แต่ในความเป็นจริง
มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีแม้แต่โอกาสเลือกด้วยซ้ำ พวกเขาไร้ทุกสิ่งที่เป็นปัจจัยอันเอื้อต่อการชนะคดีความ
ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง โอกาสและความรู้พื้นฐานด้านกฎหมาย ทำให้ตกเป็นเหยื่อของคนโลภและคนที่รู้ช่องกฎหมายมากกว่า
นโยบายที่บอกว่า “จะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันทางกฎหมาย”
จึงไม่มีวันเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ
อย่างกรณีของตายายคู่หนึ่งที่ลูกชายพามาขึ้นศาล
คุณตาน่าจะอายุเกิน 80 ปี บุตรชายต้องพยุงเข้ามาในห้องพิจารณาคดีและไม่อยู่ในสภาพที่รับรู้รับฟังอะไรได้
ส่วนคุณยายอายุอ่อนวัยกว่า ยังพอเดินเหินและพูดจาได้ แต่หูไม่ค่อยได้ยินแล้ว
ทั้งสองตกเป็นจำเลยเกี่ยวกับที่ดินที่ตนเองถือครองและทำกินมาแต่อ้อนแต่ออก
คุณยายยกมือท่วมหัวพูดจาด้วยภาษาถิ่นอีสาน
“ข้าแต่ศาลผู้สูงสุด ขอได้ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ข่าแน่เถิด พะยะคะ”
พร้อมกับย้อนความหลังว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนยายมีความจำเป็นต้องใช้เงิน
จึงได้ไว้วานคนที่ไว้ใจกันให้พาเอาที่ดินไปจำนองธนาคาร
เขาได้ขอบัตรประชาชนขึ้นไปเปิดบัญชีธนาคารให้พร้อมกับเงินในบัญชี 5 หมื่นบาท ไม่นานหลังจากนั้น ที่ดิน 10 ไร่ผืนนั้นได้ตกเป็นของอีกคนหนึ่ง
ที่ได้ฟ้องร้องให้ยายและครอบครัวย้ายออก
ยายมั่นใจว่าที่ดินนี้เป็นของยายจึงไม่ได้ทำอะไร
ผู้พิพากษาได้แสดงคำสั่งศาลให้ยายได้เห็นว่า
คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว ศาลพิพากษาให้ยายย้ายออกตั้งแต่ปี 2546
เมื่อยายไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา คดีนี้จึงถึงที่สุด
ยายต้องออกจากที่ดินสถานเดียว หากยายไม่ออกจะต้องถูกจับขัง แต่ยายก็ยืนยันว่าจะให้ยายออกไปไหน
นี่เป็นที่ดินของยาย เขาโกงเอาของยายไป และขอความเมตตาจากศาลได้โปรดให้ความยุติธรรมกับยายด้วย
ยายต้องดูแลตาและหลานอีก 4 คน
ผู้พิพากษาดูจะเห็นใจและเข้าใจถึงความอยุติธรรมที่ยายได้รับ
แต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากกว่าขอให้โจทก์ได้ให้เวลาแก่ยายในการย้ายออก ทนายฝ่ายโจทก์ได้เสนอให้โจทก์ให้เวลา
2
เดือน พร้อมค่ารื้อถอนบ้าน 2 หมื่นบาท
แต่ยายยังยืนยันว่าไม่มีที่ไปแล้ว หลานอีก 4 คนจะให้ไปอยู่ไหน
จึงต่อรองขอที่ดินให้ยายได้อยู่กับหลานและทำกิน 5 ไร่
เมื่อโจทก์ไม่ยอม เลยขอ 2 ไร่ โจทก์ยอมตามคำขอ แต่ยายต้องจ่ายค่าที่ดินไร่ละ
7.5 หมื่นบาท ที่สุด ยายได้ขอที่ดิน 1 ไร่เท่านั้น
ตรงที่บ้านปลูกอยู่และทำกินเล็กๆ น้อย แต่ก็ไม่ได้รับตามที่ขอ
นี่คือเรื่องราวที่ได้รับรู้
ก่อนที่คดีความขอตนเองจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา (คดีอาญา ฐานความผิด
ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน,
การกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินเสียหาย) ถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้มาใส่กุญแจมือ
นี่เป็นครั้งแรกที่รับรู้และมีประสบการณ์ของการเป็นผู้ต้องหา
ก่อนที่ผู้พิพากษาจะนัดตัดสินคดีในอีก 1 เดือน
จากนั้นได้ถูกควบคุมตัวพร้อมกุญแจมือไปยังห้องควบคุมตัว
เจ้าหน้าที่ได้มาไขกุญแจมือ
ก่อนจะนำตัวไปกรมคุมประพฤติเพื่อสืบเจาะข้อมูลประวัติทั้งหมดและเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ต้องรอเพราะเป็นเวลาพักเที่ยงพอดี จึงได้มาพักที่ห้องพักทนายและติดต่อเรื่องประกันตัว
ซึ่งต้องหาหลักทรัพย์หรือเงินสดในวงเงิน 1.2 แสนบาทเพื่อประกันตัว
หากไม่มีจะต้องถูกคุมขัง ได้เตรียมเงินมาบ้างแต่ไม่นึกว่าจะมากอย่างนี้
จึงได้ติดต่อขอให้สัตบุรุษวัดมุกดาหารได้นำเงินสดมาประกันตัว
ต้องขอขอบคุณสัตบุรุษวัดมุกดาหารท่านนี้เป็นอย่างมากที่รีบมาทันที
ไม่เช่นนั้นคงได้มีประสบการณ์ของการนอนห้องกรงเป็นแน่ อีกทั้ง
ขอขอบคุณทนายที่ได้ทำหน้าที่ดูแลเป็นอย่างดี ถึงตรงนี้ยังอดคิดถึงเรื่องของคุณยายคนนั้นไม่ได้
ไม่เพียงไม่รู้ข้อกฎหมายแต่ยังไม่มีทนายแก้ต่างให้เลย
ความอยุติธรรมในโลกนี้ยังมีอีกมาก ทำให้นึกถึงกล่าวของโทมัส เจฟเฟอร์สันที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย
การลุกขึ้นต่อต้านก็กลายเป็นหน้าที่”
รู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้าง
เมื่อเห็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใส่กรอบสีทองติดข้างฝาเด่นเป็นสง่าในห้องพักทนาย ที่ทรงพระราชทานแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ว่า
“...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม
หากแต่เป็นเพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม
ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว
ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเต็มที่ ตรงข้าม
คนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต
และกฎหมายจะไม่คุ้มครองจนเกินไป เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรจะถือว่า
การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย
จำเป็นต้องขยายออกไปถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย...”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
24 กันยายน 2014
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น