วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

60 ปี บ้านเณรฟาติมาท่าแร่ (1)



สามเณราลัยฟาติมาท่าแร่: 60 ปีแห่งพระพร
คุณพ่อดาเนียล ขวัญ  ถิ่นวัลย์
ความนำ
            แม้ธรรมชาติและกาลเวลาจะกลืนกินทุกสิ่ง อันเป็นสัจธรรมที่ทุกคนยอมรับ  แต่ในขณะเดียวกัน กาลเวลาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้าง บ่มเพาะ และพัฒนาคุณภาพของบุคคลหรือสถาบัน ให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและเติบโตยิ่งขึ้นอย่างมีคุณค่า มิให้เสื่อมสลายไปตามเงื่อนไขแห่งกาลเวลา
สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ เป็นสถาบันหนึ่งที่ได้ผ่านการบ่มเพาะของกาลเวลามาครบ 60 ปีพอดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่เป็น แหล่งเพาะชำพืชพันธุ์  (Seminarium) แห่งกระแสเรียกการเป็นคริสตชนและพระสงฆ์ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของสถาบันแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี 
นี่คือความมุ่งหมายและที่มาของบทความนี้  เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว เหตุการณ์ ความทรงจำที่ดีงาม และประสบการณ์อันทรงคุณค่าของบรรดา ลูกฟาติมา ในแต่ละยุคสมัยไว้มิให้เลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา  อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ภาคภูมิใจ และตอบรับกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น
1.          ภูมิหลังก่อนจะมาเป็นสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่
ความเป็นมาของสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผยแผ่คริสต์ศาสนาเข้ามาในภาคอีสานในสมัยพระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis VEY) ที่ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง โปรดม (Constant Jean PRODHOMME)  และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก (Xavier GUEGO)   เข้ามาแพร่ธรรมในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) โดยยึดเอาอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลาง  การแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรกก้าวหน้ามาก จึงมีความพยายามที่จะตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อผลิตครูคำสอนและผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์สำหรับช่วยงานพระศาสนจักรท้องถิ่นใหม่ ดังนั้นเราจึงได้เห็นการถือกำเนิดขึ้นของสามเณราลัยหลายแห่ง ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้
คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ โปรดม
1.1              สามเณราลัยดอนโดน: ค.ศ. 1891-1901
มิชชันนารีรุ่นแรกภายใต้การนำของคุณพ่อโปรดม มองเห็นความจำเป็นเรื่องการเตรียมครูคำสอนเป็นการเฉพาะ  ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี ค.. 1891 (.. 2434) จึงได้ตั้งโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่เกาะดอนโดน ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำโขงเหนือตัวเมืองนครพนมขึ้นไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร  โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสถานที่เตรียมผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์ด้วย
โรงเรียนที่ตั้งขึ้นที่ดอนโดนจึงเป็นทั้งสามเณราลัย และโรงเรียนฝึกอบรมครูคำสอนในเวลาเดียวกัน    ภายใต้การดูแลของคุณพ่อเดอลาเล็กซ์ (DELALEX)  น่าเสียดายที่ สามเณราลัยดอนโดน หรือ โรงเรียนดอนโดน ดำเนินการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์และครูคำสอนได้ไม่นานก็พังทลายลงเพราะพายุไต้ฝุ่น  ในราวเดือนเมษายน ปี ค.. 1901 (.. 2444)  
อย่างไรก็ดี สามเณราลัยแห่งนี้ได้ผลิตพระสงฆ์พื้นเมืององค์แรกและองค์เดียวให้แก่พระศาสนจักรท้องถิ่นคือ คุณพ่ออันตน หมุน ธารา จากอุบลราชธานี และได้ผลิตครูคำสอนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยงานแพร่ธรรมของมิสซังตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก
คุณพ่อซาเวียร เกโก
1.2               สามเณราลัยนาซาแร็ธ นครพนม: ค.ศ. 1902-1908
เมื่อสามเณราลัยดอนโดนถูกพายุพัดพังทลายจนยากที่จะซ่อมแซมได้  พระสังฆราชยอแซฟ มารีย์ กืออ๊าส (Joseph Marie CUAZ) ได้สร้างสามเณราลัยแห่งใหม่ในที่ดินที่ผู้มีน้ำใจดียกถวายให้มิสซัง โดยมอบหมายให้คุณพ่อโปรโดม เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในปี ค.. 1902 (.. 2445) และได้เปิดใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.. 1903 (.. 2446) พร้อมกับตั้งชื่อสามเณราลัยแห่งใหม่นี้ว่า สามเณราลัยนาซาแร็ธ โดยมีคุณพ่อลาซาร์ (LAZARE) เป็นอธิการ
ปี ค.. 1908 (.. 2451) พระสังฆราชกืออ๊าส ได้ขออนุญาตจากสันตะสำนักเลิกใช้สามเณราลัยนาซาแร็ธ แต่ได้ใช้เป็นโรงเรียนฝึกอบรมครูคำสอนเพียงอย่างเดียว  สามเณรที่ผ่านการอบรมจากสามเณราลัยนาซาแร็ธ ไม่มีใครได้บรรลุถึงขั้นศักดิ์สงฆ์  
อย่างไรก็ดี สามเณราลัยแห่งนี้ได้ผลิตครูคำสอนและผู้นำคริสตชนที่ดีมากมายแก่พระศาสนจักร  หลังจากนั้นได้ส่งสามเณรไปเรียนที่สามเณราลัยบางช้าง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และสามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตามลำดับ เป็นเวลา 24 ปี
พระสงฆ์มิชชันนารี สมัยพระสังฆราชยอแซฟ มารีย์ กืออ๊าส ปี ค.ศ. 1903
1.3               สามเณราลัยพระหฤทัย หนองแสง: ค.ศ.1938-1940
การส่งสามเณรไปเรียนในที่ไกลๆ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนเช่นปัจจุบัน พระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง (Angelo Marie GOUIN) ได้ตัดสินใจเปิดสามเณราลัยขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.. 1938 (.. 2481)ในที่ดินของมิสซังที่หนองแสง โดยมีคุณพ่อยวง แฟรซ์ เป็นอธิการ มีสามเณรในปีแรกจำนวน 16 คน และผู้เตรียมเป็นสามเณรอีก 17 คน   
 ปี ค.. 1940 (.. 2483) เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน  พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสในภาคอีสานถูกขับไล่ออกนอกประเทศทั้งหมด วัดวาอารามถูกปิด รวมทั้งสามเณราลัยแห่งนี้ด้วย  สามเณรต้องถูกส่งตัวกลับบ้านไปอยู่กับบิดามารดา  กรณีพิพาทครั้งนั้นทำให้อาคารสามเณราลัย 2 หลังที่เพิ่งสร้างเสร็จถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง
สามเณรของบ้านเณรพระหฤทัย หนองแสง ประมาณปี ค.ศ. 1938 (แถวนั่ง คนแรกจากซ้ายคือ สามเณรคายน์ แสนพลอ่อน)

1.4               สามเณราลัยชั่วคราว ท่าแร่: ค.ศ.1947-1954
เมื่อสงครามและการเบียดเบียนศาสนาสงบลง คุณพ่อเกลาดิอุส บาเย (Glaudius BAYET), คุณพ่อเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล และคุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง ยวงบัตรี ได้ปรึกษากันจะตั้งสามเณราลัยแห่งใหม่ขึ้น โดยเห็นพ้องกันว่า สถานที่เก่าที่หนองแสงไม่เหมาะที่จะสร้างสามเณราลัยอีกเพราะตลิ่งแม่น้ำโขงถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงทุกปี จึงได้ตัดสินใจย้ายไปสร้างที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร
เดือนพฤษภาคม ค.. 1947 (.. 2490) คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ได้ยื่นขออนุญาตเปิดโรงเรียนเซนต์ยอแซฟเป็นครั้งที่ 2 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาอบรมแก่สามเณรและเณรีโดยเฉพาะ  แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับนักเรียนในพื้นที่  มีสามเณรจากทั่วภาคอีสานสมัครเข้าสามเณราลัยในปีแรกจำนวน 32 คน  โดยใช้อาคารของโรงเรียนเป็นที่พักอาศัย มีคุณพ่อเปโตร วันดี  พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นอธิการ  โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นทั้งโรงเรียนและสามเณราลัยในเวลาเดียวกัน  
กิจการของโรงเรียนเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนสามเณรที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  ทำให้คณะผู้บริหารของมิสซังคิดที่จะเปิดสามเณราลัยแห่งใหม่ในที่ดินของมิสซังทางทิศตะวันตกของบ้านท่าแร่แยกจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ   อีกอย่างจำนวนสามเณรก็มากพอที่จะเปิดเป็นโรงเรียนใหม่ได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น