วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

คุณูปการของคุณพ่อเสงี่ยม



คุณูปการของคุณพ่อเสงี่ยม ดีศรีวรกุล
คุณพ่ออันตน เสงี่ยม ดีศรีวรกุล เป็นพระสงฆ์ลูกวัดท่าแร่องค์ที่ 8 ถือเป็นพระสงฆ์พื้นเมืองรุ่นที่สองที่รับช่วงต่อจากรุ่นศิษย์ปีนัง (มาเลเซีย) อย่างคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล และคุณพ่อแท่ง ยวงบัตรี ในการสานต่องานประกาศข่าวดีในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่บรรดาธรรมทูตได้วางรากฐานเอาไว้ คุณพ่อเป็นชาวท่าแร่โดยกำเนิด ได้รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ เจ้าอาวาสวัดท่าแร่องค์แรกผู้บุกเบิก วางรากฐานและนำความเจริญมาสู่ท่าแร่
คุณพ่อได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากแห่งการเบียดเบียนศาสนาในวัยเด็ก ต้องอพยพครอบครัวไปอยู่ท่าแขก ประเทศลาวด้วยความช่วยเหลือของคุณพ่อทีโบต์ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนของซิสเตอร์ชาลีเตร์และเข้าบ้านเณรที่อานิง เมืองเว้ ประเทศเวียดนามเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะถูกส่งตัวกลับเพื่อเตรียมตัวใหม่ พอดีเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน คุณพ่อทีโบต์ถูกทหารญี่ปุ่นสังหารพร้อมกับพระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวงและพระสังฆราชอองรี โทมิน ต้องอพยพครอบครัวกลับมาอยู่ท่าแร่อีกครั้ง
 พิธีวางศิลาฤกษ์บ้านเณรฟาติมาท่าแร่ โดยพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์

ศิษย์ฟาติมาหมายเลข 1 และศิษย์โรมคนแรก
นับเป็นความโหดร้ายและความยากลำบากที่คุณพ่อต้องเผชิญในวัยเด็ก ก่อนที่จะได้เข้าบ้านเณรที่ท่าแร่สมความตั้งใจ เมื่อคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุลยื่นเรื่องขอเปิดโรงเรียนเซนต์ยอแซฟขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ซึ่งใช้เป็นบ้านเณรในเวลาเดียวกัน และเมื่อการก่อสร้างบ้านเณรฟาติมาท่าแร่แยกออกจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ คุณพ่อได้ทำหน้าที่ครูเณรช่วยงานอธิการคือคุณพ่ออินทร์ นารินรักษ์ อย่างแข็งขันพร้อมกับครูเณรบุญศรี กอบบุญ ในฐานะศิษย์หมายเลข 1 และ 2  จนงานเปิดบ้านเณรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1954 (พ.ศ. 2497) ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ก่อนจะถูกส่งตัวไปศึกษาต่อที่บ้านเณรปรอปากันดาฟีเด กรุงโรม ประเทศอิตาลี
คุณพ่อถือเป็นเณรคนแรกจากมิสซังท่าแร่ที่ไปศึกษาต่อที่กรุงโรม ศูนย์กลางของพระศาสนจักร ซึ่งคุณพ่อถือว่าเป็นห้วงเวลาที่มีค่ายิ่งสำหรับการบ่มเพาะกระแสเรียก ภาวนาอย่างเข้มข้นและบำรุงความเชื่อศรัทธาให้เข้มแข็ง เพราะได้อยู่ใกล้ชิดและเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาทุกสัปดาห์ ได้รับฟังข้อคิด ข้อคำสอนและแบบอย่างของบรรดานักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งได้ร่วมพิธีกรรมโอกาสสำคัญในมหาวิหารนักบุญเปโตรเป็นประจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยหนุนนำกระแสเรียกของคุณพ่อมิให้ถดถอยหรือหมดกำลังใจ
เข้าเฝ้าพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 พร้อมกับพระสังฆราชบาเยต์
และพระรูปแม่พระฟาติมาวัดหนองแสงที่พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เป็นผู้เสก
พระธาตุนักบุญยอห์น ที่ 23
ความปลาบปลื้มใจอย่างที่สุดขณะศึกษาที่กรุงโรมคือ คุณพ่อสามารถคาดเดาพระคาร์ดินัลที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ (แทนพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ที่สิ้นพระชนม์) ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งได้แก่พระคาร์ดินัลรองกัลลี แห่งเมืองเวนิส ทรงพระนามว่าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 เหตุการณ์วันนั้นได้กลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืมและทำให้เกิดความรักต่อองค์สมเด็จพระสันตะปาปาผู้ศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ผู้เปิดพระศาสนจักรสู่โลกสมัยใหม่และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่พระศาสนจักรสากล
 ก่อนได้รับการบวชเป็นพระสังฆานุกร คุณพ่อได้ขอให้พระคาร์ดินัลอากายาเนียน สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อช่วยนำถ้วยกาลิกส์ (ซึ่งเซอร์เอดัวร์ นำลาภ คณะเซนต์ปอล เดอ ชารตร์ได้ซื้อถวาย) ไปให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ทรงเสก ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาได้ใช้ถ้วยกาลิกส์นี้ถวายมิสซาให้คุณพ่อและครอบครัว มีหนังสือรับรองจากราชเลขาตามที่คุณพ่อยืนยัน
ดังนั้น ถ้วยกาลิกส์ใบนี้จึงเป็นดังพระธาตุของบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 หรือนักบุญยอห์น ที่ 23 (เพราะจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในวันที่ 27 เมษายนนี้พร้อมกับบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2) ที่อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงได้รับผ่านทางคุณพ่อ เนื่องจากพระองค์ได้ใช้กาลิกส์นี้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ จึงถือเป็นพระพรและความโชคดีของอัครสังฆมณฑลที่มีพระธาตุของนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ ควรที่อัครสังฆมณฑลจะได้เก็บรักษากาลิกส์ใบนี้ในสถานที่เหมาะสม เพื่อให้บรรดาคริสตชนได้มาภาวนาและวอนขอพระพร
คุณพ่อได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นจากประเทศต่างๆ 42 คน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ที่มหาวิทยาลัยปรอปากันดาฟีเด โดยพระคาร์ดินัลอากายาเนียน และเลือกคติพจน์ว่า โปรดทวีความเชื่อให้ลูกมากขึ้นทุกๆ วัน” นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของบ้านเณรฟาติมาท่าแร่ อีกทั้งยังเป็นพระสงฆ์องค์แรกของสังฆมณฑลที่สำเร็จการศึกษาจากกรุงโรม

วัดนักบุญอันนาหนองแสง มรดกแห่งความเชื่อ
หลังสำเร็จการศึกษาเดินทางกลับประเทศไทย คุณพ่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนักบุญอันนาหนองแสง กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญอันนาหนองแสง ค.ศ. 1964-1976 (พ.ศ. 2507-2519)  ในช่วงเวลานี้เองที่คุณพ่อได้สร้างมรดกทางความเชื่อที่สำคัญคือ รองอาสนวิหารนักบุญอันนาหนองแสงที่ยิ่งใหญ่อลังการ ตั้งเด่นเป็นสง่าริมถนนสุนทรวิจิตติดกับแม่น้ำโขง ณ ตำบลหนองแสง อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น
วัดใหม่หลังนี้เป็นวัดหลังที่ 4 มีพระสมณทูตยวง โมเร็ตตี เป็นผู้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ตรงกับวันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์  ความมุ่งหวังของคุณพ่อคือ เพื่อเป็นการระลึกถึงความเสียสละและความกล้าหาญของธรรมทูตรุ่นแรก ที่ได้นำเมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารมาหว่านในแผ่นดินอีสาน และเพื่อเป็นการโมทนาคุณพระเจ้าที่ได้เลือกคนอีสานให้เป็นตัวอย่างสำหรับคริสตชนไทย ที่ได้สละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อในพระเจ้าที่สองคอน อีกทั้ง เพื่อให้หนองแสงซึ่งได้รับแสงสว่างแห่งพระวรสารเป็นแห่งแรก ในฐานะศูนย์กลางของมิสซังลาวและภาคอีสานในอดีต ได้สาดแสงเจิดจ้าไปทั่วดินแดนอีสานอีกครั้ง

วัดหลังนี้สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ คล้ายคลึงกับอาสนวิหารหลังเก่าที่ถูกทำลาย ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างพร้อมเพรียงของคริสตชนหนองแสง ด้วยแรงศรัทธาของคริสตชนจากที่ต่างๆ  และเหนือสิ่งอื่นใดคือความช่วยเหลือของพระเจ้า วัดหลังใหม่จึงสำเร็จลงอย่างน่าสรรเสริญ เป็นวัดที่ใหญ่โตตั้งตระหง่าน สง่างามทั้งภายนอกและภายใน สมกับเป็นรองอาสนวิหารอย่างแท้จริง มีพิธีเสกและเปิดอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่  18 เมษายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) โดยพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเยต์ อดีตประมุขมิสซังลาว, มิสซังท่าแร่และมิสซังอุบลราชธานี ธรรมทูตรุ่นที่สองผู้บุกเบิกและมีบทบาทสำคัญในพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้
นับเป็นเรื่องน่าทึ่งที่คุณพ่อสามารถสร้างวัดใหญ่โตสวยงามหลังนี้เมื่อ 40 ปีก่อนได้ ขณะที่สังฆมณฑลยังยากจน ผู้คนอัตคัดขัดสน เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยียังล้าสมัย สิ่งที่คุณพ่อทำแต่ละวันคือสวดภาวนา มอบฝากทุกอย่างไว้กับพระเจ้า และเขียนจดหมายถึงผู้มีจิตศรัทธาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เราจึงได้เห็นรายนามผู้บริจาคในป้ายที่ติดบนชั้นสองของวัด อาทิ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6, ประธานาธิบดีเหงียน วันเทียว (เวียดนามใต้), สำนักเลขาธิการนานาชาติ (โรม)
วัดหลังนี้จึงเป็นมรดกแห่งความเชื่ออย่างแท้จริง ที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท เสียสละและความศรัทธาในพระเจ้าของคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อกล่าวด้วยความสุภาพว่า พระเจ้าได้สร้างขึ้นจากความว่างเปล่าคือ “จากมือเปล่าๆ ของคุณพ่อผู้ยากจนและอนาถา” นอกนั้นยังเป็นเครื่องหมายแห่งความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคริสตชนหนองแสง ที่ร่วมมือกับคุณพ่อในการจัดทำ “ผ้าป่าสามัคคี” เพื่อหาทุนสร้างวัดใหม่

ผ้าป่าสามัคคี คุณูปการสำหรับรุ่นหลัง
การจัดทำผ้าป่าสามัคคีในครั้งนั้น ได้ทำให้เสาหลักประชาธิปไตย นักปราชญ์ นักคิด นักเขียนและนักการเมืองอย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แสดงความเห็นในคอลัมน์ประจำหน้า 5 หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2515 ซึ่งได้กลายมาเป็นคุณูปการยิ่งใหญ่สำหรับคริสตชนตามวัดต่างๆ ในเวลาต่อมา
เนื่องจากมีผู้ส่งใบฎีกาไปถาม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ว่าทำได้หรือไม่ และนักปราชญ์ของแผ่นดินได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการจัดทำผ้าป่าสามัคคีว่า เป็นประเพณีไทยเพื่อหาเงินเข้าวัดอย่างหนึ่งของศาสนาพุทธ ที่มีแต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เป็นการสืบพระศาสนาที่ได้บุญมาก และได้ให้ความเห็นว่า เมื่อเป็นประเพณีไทย คนไทยทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็สามารถใช้ได้
“การที่ศาสนาอื่นในกรณีนี้ได้แก่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค จะนำเอาการทอดผ้าป่าไปใช้เพื่อหาเงินสร้างวัดคาทอลิกขึ้นใหม่ตามใบฎีกาที่ได้ลงไว้นี้ จึงไม่เป็นเรื่องเสียหาย หรือน่ารังเกียจแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ที่ผมดีใจและขออนุโมทนาด้วยก็คือ คนไทยที่นับถือศาสนาคาธอลิคนั้น ยินดีที่จะใช้ประเพณีไทยในการทำบุญในศาสนาที่ตนนับถือ มีความรื่นเริงปีติในบุญกุศลที่ตนทำให้แก่ศาสนาของตน เช่นเดียวกับคนไทยอื่นๆ ทั่วไป”



 
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางแง่มุมแห่งชีวิตของ คุณพ่ออันตน เสงี่ยม ดีศรีวรกุล ที่หลายท่านอาจไม่ทราบและยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังไม่ได้กล่าวถึง ชีวิตของคุณพ่อบนโลกนี้ได้จบลงเมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2014 เวลา 12.29 น.  แต่เรื่องราวชีวิตและภารกิจยังไม่จบสิ้น ควรได้รับการสานต่อ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบบอย่างชีวิตและคุณูปการยิ่งใหญ่ต่ออัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงและพระศาสนจักร จะยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอไป
ขอให้ดวงวิญญาณของคุณพ่อได้รับการพักผ่อนนิรันดรในสันติสุขกับพระเจ้า เทอญ




คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
17 มกราคม 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น