อิตาลีรำลึก
อิตาลีเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดใจให้หลงใหล
โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม มีมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติมากกว่าทุกประเทศในโลก
มีแหล่งอารยธรรมมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวความรุ่งเรืองในอดีต ประการสำคัญ
อิตาลีเป็นดินแดนแห่งความเชื่อที่เต็มไปด้วยมรณสักขีและนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีสักการสถานและวิหารมากมายที่สร้างอย่างวิจิตรบรรจง
สะท้อนความเชื่อของผู้คนในแต่ละยุคสมัย เป็นมรดกทางความเชื่อให้โลกได้ชื่นชม
มหาวิหารแม่พระแห่งปวงเทวาที่สร้างคร่อมวัดน้อยที่นักบุญฟรังซิสอัสซีซีสร้างขึ้น
ประเทศอิตาลี
มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐอิตาลี (Repubblica italiana) เป็นประเทศในทวีปยุโรปทางตอนใต้
ตั้งอยู่ในคาบสมุทรอิตาลีที่มีรูปทรงคล้ายรองเท้าบู๊ต และมีเกาะใหญ่ 2
เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนคือ เกาะซิชิลีและซาร์ดิเนีย
มีพรมแดนตอนเหนือติดกับประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรียและสโลวีเนีย
โดยมีเทือกเขาแอลป์ขวางกั้นแบ่งเขต เป็นประเทศที่มีภูมิอากาศอบอุ่นกว่าทุกประเทศในยุโรปและมีความเขียวชอุ่มร่มรื่น
จึงได้ชื่อว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งยุโรป
ห้องที่นักบุญฟรังซิสมรณะ (6 ต.ค. 1226) และห้องที่ท่านเคยพักอาศัยภายในมหาวิหาร
นอกนั้น อิตาลียังมีประเทศอิสระ 2
ประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเองคือ ซานมารีโนและนครรัฐวาติกัน ซานมารีโน ตั้งอยู่บนเทือกเขาอัพเพนนินี (Appennini) ล้อมรอบโดยแคว้นเอมีเลียโรมาญา (Emilia
Romagna) กับแคว้นมาร์เก
(Marche) ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ส่วนนครรัฐวาติกัน เป็นรัฐเอกราชที่เล็กที่สุด ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรม
เป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนาและเป้าหมายของการจาริกแสวงบุญของคริสตชนทั่วโลก รวมถึงการเดินทางมาอิตาลีในครั้งนี้ด้วย
อิตาลีจึงเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว และถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาลอิตาลีในปัจจุบัน
เรียกได้ว่ากินบุญเก่าของอาณาจักรโรมันในอดีต
พิธีมิสซา ณ วัดน้อยชั้นใต้ดินมหาวิหารแม่พระแห่งปวงเทวา
1. อัสซีซี เมืองนักบุญคนยาก
อัสซีซี (Assisi)
เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเปรูจา
(Perugia) แคว้นอุมเบรีย (Umbria) ทางภาคกลางของประเทศอิตาลี
มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเพราะเป็นถิ่นกำเนิดของนักบุญยิ่งใหญ่ 2 องค์ คือ นักบุญฟรังซิส
อัสซีซี (ค.ศ. 1182-1226) และนักบุญคลารา (ค.ศ. 1193-1253) อัสซีซีมีความเป็นมายาวนานตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ก่อนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน
ปี ค.ศ. 238 ชาวเมืองอัสซีซีได้กลับใจเป็นคริสตชนโดยการเทศน์สอนของพระสังฆราชรูฟีโน
ซึ่งต่อมาได้พลีชีพเป็นมรณสักขี สถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงของอัสซีซี คือ
มหาวิหารนักบุญฟรังซิส ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี ค.ศ. 2000, มหาวิหารนักบุญคลาราและมหาวิหารแม่พระแห่งปวงเทวา
เยี่ยมชมมหาวิหารนักบุญคลาราและรูปเหมือนของท่าน
ฟรังซิส เกิดที่เมืองอัสซีซี เป็นบุตรชายของพ่อค้ารํ่ารวย ขณะยังหนุ่มเป็นคนชอบสนุกสนาน
ไม่จริงจังกับชีวิต ครั้งหนึ่งฟรังซิสป่วยหนักและได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสเรียกท่านให้สละความสุขฝ่ายโลกและติดตามพระองค์
ท่านจึงกลับไปเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่โดยยึดพระวรสารที่ว่า “สิ่งที่ท่านได้ปฏิบัติต่อพี่น้อง
แม้ที่ตํ่าต้อยของเรา นั่นแหละเท่ากับได้ปฏิบัติต่อเรา” (มธ 25: 40) ท่านได้พยายามเจริญชีวิตตามคำสอนของพระเยซูเจ้า
โดยละความเห็นแก่ตัว มอบตนเองแด่พระเจ้า เจริญชีวิตยากจน เรียบง่าย ช่วยเหลือคนจน
น้ำพุด้านหน้ามหาวิหารนักบุญคลาราและมหาวิหารนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี
ฟรังซิส จึงได้ชื่อว่าเป็นนักบุญคนยาก
เป็นพระเยซูเจ้าอีกองค์หนึ่งที่เกิดมาเพื่อนำผู้คนในสังคม
ที่กำลังเสื่อมถอยด้านความเชื่อและศีลธรรมให้กลับไปหาพระเจ้า ท่านได้แนะนำสมาชิกที่เลื่อมใสและติดตามท่าน
ให้ถือตามจิตตารมย์พระวรสาร สุภาพถ่อมตน อ่อนหวาน ร่าเริง จริงใจ
เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ทุกคน ท่านได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับพระคริสตเจ้าจนกระทั่งสิ้นชีวิต
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นนักบุญ เป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศอิตาลีและงานศาสนสัมพันธ์
ที่ฝังศพนักบุญฟรังซิสอัสซีซีที่อยู่ชั้นล่างสุดและภาพเขียนบนเพดานที่สวยงาม
ความยิ่งใหญ่ของนักบุญฟรังซิสอัสซีซี กอปรกับเมืองอัสซีซีตั้งอยู่บนเนินเขา
มีภูมิอากาศเย็นที่สบาย ชาวอัสซีซีมีความเชื่อศรัทธา ไม่เคยมีการก่อการร้าย ทำให้บุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา
ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงเลือกจัดงาน วันภาวนาเพื่อสันติภาพ
ระหว่างผู้นำศาสนาต่างๆ ที่อัสซีซี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1986 และในโอกาสครบ
25 ปี ของเหตุการณ์นี้ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงเชิญผู้นำศาสนาต่างๆ
มาภาวนาเพื่อสันติภาพที่อัสซีซีอีกครั้ง เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม ค.ศ. 2011
ระเบียงและลานชั้นล่างของมหาวิหารนักบุญฟรังซิส
อีกด้านหนึ่งของอารามและมหาวิหารนักบุญฟรังซิส
มองจากมุมถนนด้านล่าง
Don Daniele เรื่อง,ภาพ
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์
26 พฤษภาคม 2013
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น