วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

การกลับใจหันมาหาพระเจ้า


การกลับใจหันมาหาพระเจ้า

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
ปี C
ยชว 5:9, 10-12
2 คร 5:17-21
ลก 15:1-3, 11-32

บทนำ

มหาตะมะ คานธี บิดาผู้สร้างชาติอินเดีย ได้เขียนในอัตชีวประวัติเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เลวร้ายเรื่องการขโมยเวลาเป็นเด็กเอาไว้ว่า เมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านได้ขโมยสร้อยข้อมือทองคำหนึ่งข้อของพี่ชาย เพื่อใช้หนี้ประมาณ 25 รูปี (20 บาท) ที่ตนเองได้ก่อขึ้น ท่านรู้สึกเสียใจมากในสิ่งที่ได้กระทำลงไป โดยตั้งใจว่าจะไม่ขโมยอีกเลยในชีวิต ท่านตัดสินใจที่จะสารภาพกับบิดาแต่ไม่กล้าบอก จึงได้เขียนคำสารภาพใส่กระดาษยื่นให้บิดาได้อ่านด้วยตนเอง

ในกระดาษใบนั้น นอกจากสารภาพผิดแล้ว ท่านยังได้ขอให้บิดาลงโทษท่านตามสมควรแก่เหตุ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ขโมยอีกเลยในอนาคต ท่านรู้สึกสั่นเทาเมื่อยื่นกระดาษแผ่นนั้นให้บิดาขณะกำลังจะไปนอน บิดาคลี่กระดาษแผ่นนั้นออก อ่านเนื้อความทั้งหมดด้วยน้ำตาไหลอาบแก้ม จากนั้นได้ฉีกกระดาษแผ่นนั้นและสวมกอดท่าน ไม่ได้แสดงอาการโกรธ ดุด่าหรือลงโทษตามที่ท่านคิดแต่อย่างใด น้ำตาของบิดาในวันนั้นได้ชำระใจและความผิดที่ท่านได้กระทำให้มลายหายไป

คำอุปมาเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” (The prodigal son) ที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ ถือเป็นคำอุปมาที่กินใจและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบรรดาคำอุปมาของพระเยซูเจ้า แต่ที่ถูกต้องควรเรียกว่า “บิดาผู้ใจดี” เพราะตัวเอกในเรื่องไม่ใช่บุตรที่หนีจากบิดาและล้างผลาญทรัพย์จนหมดสิ้น แต่เป็นบิดาที่ใจดี ที่รักและให้บุตรทุกอย่าง แม้สิ่งที่บุตรคนเล็กขอนั้นจะขัดกับความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์และธรรมเนียมยิว เพราะเป็นการขอมรดกส่วนที่เป็นของตนขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่ กระนั้น บิดายอมแบ่งให้ตามที่บุตรคนเล็กร้องขอ

ความรักที่บิดามีต่อบุตรแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดใน การเฝ้าคอย การกลับมาของบุตรคนเล็กอย่างใจจดใจจ่อ เมื่อบุตรคนเล็กล้มเหลวกลับมาก็เปิดใจต้อนรับ เป็นบิดาที่เห็นบุตรคนเล็กก่อนแต่ไกลแล้วรีบวิ่งไปสวมกอดและจูบ คืนทุกอย่างให้บุตรคนเล็กโดยไม่รั้งรอ เสื้อหมายถึงเกียรติยศที่ให้แก่บุตรที่กลับมา แหวนหมายถึงอำนาจในดูแลทรัพย์สิน และรองเท้าหมายถึงฐานะการเป็นบุตร เพราะในครอบครัวยิวมีเพียงบุตรเท่านั้นที่สวมรองเท้า ส่วนคนใช้เดินเท้าเปล่า

1.           การกลับใจหันมาหาพระเจ้า

บิดาได้ให้อภัยบุตรคนเล็กโดยไม่เอ่ยถึงความผิดพลาดในอดีตหรือดุด่าว่ากล่าวเลย นี่คือ การให้อภัยอย่างสิ้นเชิง เป็นการให้อภัยที่ปราศจากผลประโยชน์แอบแฝงและให้อภัยจากใจจริง ซึ่งเป็นรูปหมายถึงพระบิดาเจ้าที่รักและให้อภัยไม่สิ้นสุด บุตรคนเล็กไม่เพียงไม่เคารพบิดาแต่ได้ละเลยหน้าที่ของบุตรที่ดีในการเลี้ยงดูบิดา ตรงข้ามเขาได้หันหลังให้บิดา ตัดสัมพันธ์ทุกอย่าง หนีห่างจากบิดาและประพฤติตนเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติจนหมดสิ้น

คำอุปมาได้แสดงให้เห็นถึงชีวิตตกต่ำถึงขีดสุดของบุตรคนเล็ก เขากลายเป็นคนเลี้ยงหมูซึ่งเป็นสัตว์สกปรก (ลวต 11:7) สำหรับชาวยิวที่เคร่งศาสนาจะไม่มีวันทำอาชีพนี้โดยเด็ดขาด บุตรคนเล็กสำนึกผิด เสียใจในสิ่งที่ตนเองกระทำ คิดถึงบิดาและตัดสินใจกลับบ้านไปหาบิดา โดยตั้งใจขอให้บิดารับเขาเป็นเหมือนคนใช้ในตำแหน่งที่ต่ำที่สุด แต่เขาไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้น เพราะบิดาตัดบทและสั่งให้คนใช้ต้อนรับเขาด้วยเสื้อที่สวยที่สุด แหวนและรองเท้า (ลก 15:22) และจัดงานเลี้ยงฉลองด้วยลูกวัวตัวที่อ้วนที่สุด

คำอุปมานี้เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่พระเยซูเจ้าถูกวิจารณ์ว่า เป็นมิตรกับคนเก็บภาษีและคนบาป เราจึงได้เห็นพฤติกรรมของบุตรคนโตที่รู้สึกโกรธเมื่อเห็นน้องชายกลับบ้าน บุตรคนโตจึงหมายถึงพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสี ที่ถือตัวว่าชอบธรรม “ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย” แต่ในความเป็นจริง ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเราคือ การที่เขาไม่สำนึกว่าตนเองมีความผิดอะไรเลยนั่นแหละ การถือตัวว่าเป็นคนชอบธรรมและดีกว่าคนอื่นไม่เพียงตัดเขาออกจากพระเจ้า แต่ยังตัดเขาออกจากเพื่อนพี่น้องด้วย

2.           บทเรียนสำหรับเรา

คำอุปมานี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนในการนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลายประการ

ประการแรก เราต้องกลับใจหันกลับมาหาพระเจ้า เราแต่ละคนอาจเป็นบุตรคนเล็กที่เป็นคนบาปและหนีห่างจากพระเจ้า เราต้องกลับมาหาพระองค์ทุกวัน การเดินทางกลับบ้านคือการเดินทางฝ่ายจิตที่แสดงถึงการกลับใจอย่างแท้จริง ละทิ้งบาปและความทุกข์ที่เป็นผลของบาปเพื่อกลับมาหาพระองค์ คำอุปมานี้ได้แสดงให้เราเห็นว่า บิดาไม่เคยละทิ้งบุตร แต่ตั้งตาคอยและเฝ้ารอการกลับมาของบุตรทุกวัน เช่นเดียวกับพระเจ้าที่ทรงปรารถนาให้คนบาปกลับใจมาหาพระองค์ ไม่ทรงปรารถนาให้ผู้ใดเสียไปแม้สักคนเดียว

ประการที่สอง เราต้องให้อภัยเพื่อนพี่น้องด้วยใจกว้าง เราอาจเป็นบุตรคนโตที่ไม่เคยหนีห่างจากบิดา ทำตามใจบิดาทุกอย่าง มาวัดทุกวันอาทิตย์ไม่เคยขาด แต่เกลียดชังและไม่ยอมให้อภัยพี่น้องของตน ถือตัวว่าตนเองเป็นคนชอบธรรมกว่าคนอื่น พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรายอมรับเพื่อนพี่น้องและให้อภัยเขาด้วยใจกว้าง ด้วยการสำนึกว่าเราทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า

ประการที่สาม เราต้องมีความยินดีในการมาร่วมงานเลี้ยงศักดิ์สิทธิ์ พระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราทรงเฝ้าคอยเราที่ประตู ให้เราได้ใช้ช่วงเวลาพิเศษในเทศกาลมหาพรตนี้ในการกลับใจเปลี่ยนแปลงชีวิต คืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง เป็นต้นในการมาร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์เป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อเราจะได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องอย่างแน่นแฟ้น

บทสรุป

พี่น้องที่รัก คำอุปมานี้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของพระเจ้าต่อคนบาป ประการแรก พระเจ้าทรงต้องการคนบาป แม้มนุษย์จะกระทำชั่วแต่พระเจ้ายังต้องการเขาอยู่ ด้วยการส่งพระบุตรมาไถ่บาปเพื่อให้เขาได้เดินในหนทางแห่งความรอด ประการที่สอง พระเจ้าเฝ้ารอการกลับมาของคนบาป แสดงถึงความรักยิ่งใหญ่และการอภัยไม่สิ้นสุดของพระเจ้าที่ไม่จดจำความผิด แต่เพียรทนรอคอยวันที่เขากลับใจมาหาพระองค์

เราทุกคนต่างเป็นคนบาป ทั้งแบบที่เปิดเผยอย่างบุตรคนเล็กและแบบที่ปิดบังซ่อนเร้นอย่างบุตรคนโต พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ได้เชื้อเชิญเราให้กลับใจหันกลับมาหาพระเจ้า เราต้องเลียนแบบบุตรคนเล็กที่ยอมเปลี่ยนแปลงชีวิตเหลวแหลก เพื่อกลับมายังบ้านของบิดา ร่วมรับผิดชอบและเคารพเชื่อฟังบิดา อีกทั้ง ยอมละทิ้งอคติ ความใจแคบและความโกรธเยี่ยงบุตรคนโต เพื่อเราจะได้ยอมรับ ให้อภัยและรับใช้ซึ่งกันและกันด้วยความรัก เป็นต้นในครอบครัว หมู่คณะและหมู่บ้านของเรา

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
09 มีนาคม 2013

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น