วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้า

ผู้นำวิถีชุมชนวัดนาบัวที่เข้าร่วมการอบรมพระคัมภีร์ที่วัดดอนม่วย 18 สิงหาคม 2012

การอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้า
(Miracles of Jesus)

เอกสารประกอบการอบรมพระคัมภีร์เขตตะวันตก ครั้งที่ 3
ณ วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย; 18 สิงหาคม 2012

บทนำ

คำว่า “อัศจรรย์” เป็นคำที่เราคนไทยใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อใครคนหนึ่งรอดชีวิตจากอุบัติเหตุร้ายแรงแบบไม่น่ารอด เรามักพูดว่า “เขารอดชีวิตอย่างอัศจรรย์” แต่สำหรับเราคริสตชนการจะเรียกสิ่งใดหรือเหตุการณ์หนึ่งเป็นอัศจรรย์ได้ เหตุการณ์นั้นจะต้อง 1) เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดแจ้ง, 2) เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ และ 3) เป็นเครื่องหมายนำสารของพระเจ้า

การอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้าคือ การกระทำเหนือธรรมชาติของพระเยซูเจ้าที่บันทึกไว้ในพระวรสาร ถือเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ หากเราอ่านบทสรุปของพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญยอห์น เราจะพบข้อความที่ว่า “ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมากมายที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ซึ่งถ้าจะเขียนลงไว้ทีละเรื่องทั้งหมด ข้าพเจ้าคิดว่า โลกทั้งโลกคงไม่พอบรรจุหนังสือที่จะต้องเขียนนั้น” (ยน 21:25) แสดงว่ามีเหตุการณ์และการกระทำอีกมากมายที่มิได้บันทึกไว้

ในพระวรสารสหทรรศน์ พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธที่จะใช้อัศจรรย์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงอำนาจที่พระองค์มี “คนชั่วร้ายและไม่ซื่อสัตย์ต้องการเห็นเครื่องหมายนี้รึ จะไม่มีเครื่องหมายใดให้เห็น เว้นแต่เครื่องหมายของประกาศกโยนาห์เท่านั้น” (มธ 12:39; 16:4), (มก 8:11-12) และ (ลก 11:29-30) ในพระวรสารของนักบุญยอห์นกล่าวถึงอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำตลอดพันธกิจเพียง 7 ครั้ง และท่านเรียกว่า “เครื่องหมายอัศจรรย์” เพื่อสื่อความถึงความจริงบางอย่าง
 คุณพ่อพรทวี โสรินทร์ หัวหน้าเขตตะวันตก กล่าวเปิดการอบรม

1.         ประเภทของอัศจรรย์

เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำและบันทึกไว้ในพระวรสาร สามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1.1              การรักษา (Cures)

พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนหลายประเภทในพระวรสาร ได้แก่

1)           การรักษาคนตาบอด มีกล่าวถึง 4 ครั้ง

Ø ทรงรักษาคนตาบอดที่เบธไซดา (มก 8:22-26)
Ø ทรงรักษาคนตาบอดใกล้เมืองเยรีโค (มธ 20:29-34), (มก 10:46-52), (ลก 18:35-43)
Ø ทรงรักษาคนตาบอดสองคนที่กาลิลี (มธ 9:27-31)
Ø ทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิด (ยน 9:1-12)

2)           การรักษาคนโรคเรื้อน
Ø ทรงรักษาคนโรคเรื้อนตอนเริ่มต้นพันธกิจ (มธ 8:1-4), (มก 1:40-45), (ลก 5:12-16)
Ø ทรงรักษาคนโรคเรื้อนสิบคนขณะเดินทางไปเยรูซาเล็ม (ลก 17:11-19)

3)           การรักษาคนอัมพาตและพิการ
4)           การรักษาคนป่วยทั่วไป

1.2              การขับไล่ปีศาจ (Exorcisms)

ตามคำเล่าของพระวรสารสหทรรศน์ พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจหลายครั้ง แต่ไม่มีกล่าวถึงในพระวรสารของนักบุญยอห์น พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าพระองค์มีอำนาจในการขับไล่ปีศาจ ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายของการเป็นพระแมสิยาห์ของพระองค์ และทรงประทานอำนาจให้บรรดาศิษย์ให้ขับไล่ปีศาจในนามของพระองค์ (มธ 10:1, 10), (มก 6:7; 16:17), (ลก 9:1)

1.3              การปลุกให้ฟื้นคืนชีพ (Resurrection of the dead)

ในพระวรสารทั้งสี่ นอกเหนือจากการกล่าวถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเองแล้ว ยังกล่าวถึงการปลุกให้ฟื้นคืนชีพจากความตามอีก 3 ครั้ง

1)           ทรงปลุกบุตรชายของหญิงม่ายที่เมืองนาอิน (ลก 7:11-17)
2)           ทรงปลุกบุตรสาวของไยรัส (มธ 9:18-26), (มก 5:21-43), (ลก 8:40-56)
3)           การกลับคืนชีพของลาซารัส (ยน 11:1-44)

1.4              การบังคับควบคุมธรรมชาติ (Control over nature)

พระเยซูเจ้าทรงแสดงถึงอำนาจเหนือธรรมชาติหลายอย่าง เราพบอำนาจในการบังคับควบคุมธรรมชาติตั้งแต่เริ่มแรกของการประกาศข่าวดีคือ การเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นในการแต่งงานที่เมืองคานา (ยน 2:1-12) จนถึงเหตุการณ์สุดท้ายหลังการกลับคืนชีพคือ การจับปลา 153 ตัว (ยน 21:1-24) ทั้งสองเหตุการณ์มีกล่าวถึงแต่เฉพาะในพระวรสารของนักบุญยอห์นเท่านั้น
 มีผู้นำวิถีชุมชนวัดจากวัดต่างๆ ในเขตตะวันตกเข้าร่วม 179 คน

2.         การตีความ

คริสตชนโดยทั่วไปเชื่อว่าการอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ และถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิตของพระองค์ที่พิสูจน์ถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ เนื่องจากพระเยซูเจ้ามีสองธรรมชาติคือ ธรรมชาติมนุษย์และธรรมชาติพระเจ้า การที่พระองค์ทรงรู้สึกหิว เหน็ดเหนื่อยและสิ้นพระชนม์ นั่นคือเหตุการณ์ที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ ส่วนการอัศจรรย์ต่างๆ ที่ทรงกระทำเป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์

แต่นักพระคัมภีร์และนักเขียนคริสตชนหลายคนมองว่า การอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ มิใช่กิจการที่แสดงถึงอำนาจและพลานุภาพยิ่งใหญ่ของพระองค์ แต่เป็นกิจการแห่งความรักและความเมตตากรุณา ที่สะท้อนความสงสารที่มีต่อคนบาปและผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน และการอัศจรรย์แต่ละอย่างมีคำสอนเฉพาะที่พระองค์ทรงต้องการสอนเรา

การอัศจรรย์ที่กล่าวถึงในพระวรสารมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญสองประการคือ เพื่อประกาศพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า และเป็น หลักฐานพยานที่มีคุณค่าในตัวเอง พระเยซูเจ้าทรงอ้างถึงงานที่ทรงกระทำว่าเป็นพยานถึง “พันธกิจ” และ “ความเป็นพระเจ้า” ของพระองค์ ทรงยืนยันว่า การอัศจรรย์ที่ทรงกระทำเป็นคำยืนยันที่ยิ่งใหญ่กว่าคำพยานของยอห์น บัปติสต์ (ยน 5:36) “...แม้ว่าท่านทั้งหลายไม่เชื่อเรา อย่างน้อยก็จงเชื่อในกิจการที่เราทำนั้นเถิด แล้วท่านจะรู้และเข้าใจว่าพระบิดาสถิตอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา” (ยน 10:37-38)

คริสตชนถือเสมอมาว่า การอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้าเป็นเหมือนสื่อที่นำสารของพระเจ้า เช่นเดียวกับพระวาจาของพระองค์ เราพบความจริงว่าอัศจรรย์หลายครั้งเน้นความสำคัญของความเชื่อ ดังเช่น
·         การรักษาคนโรคเรื้อนสิบคน พระเยซูเจ้ามิได้ตรัสว่า “อำนาจของเราช่วยเจ้าให้รอด” แต่ตรัสว่า “จงลุกขึ้น ไปเถิด ความเชื่อของท่านทำให้ท่านรอดพ้นแล้ว” (ลก 17:19)
·         การดำเนินบนน้ำ เปโตรได้บทเรียนที่สำคัญเกี่ยวกับความเชื่อ เพราะการขาดความเชื่อจึงทำให้ท่านเริ่มจมลง (มธ 14:31) พระเยซูเจ้าต้องการสอนบรรดาอัครสาวกว่าเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก ก่อนอื่นพวกเขาจะต้องมีความเชื่อในพระองค์
·         การรักษาผู้หญิงที่ตกเลือดมาสิบสองปี พระเยซูเจ้าได้ตรัสกับเธอว่า “ความเชื่อของท่าน ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” (มธ 9:22)
แต่บางอัศจรรย์สื่อถึงความจริงบางอย่าง เช่น การทวีขนมปังเลี้ยงคนมากกว่า 5,000 คน พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้ร่วมมือกับพระองค์ในการทำอัศจรรย์ เหมือนเด็กคนนั้นที่ได้มอบ “ขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว” ซึ่งเป็นอาหารสำหรับตัวเขาให้กับพระองค์ ทรงกล่าวถวายพระพรและแบ่งให้ทุกคน เมื่อทุกคนเห็นแบบอย่างนี้ต่างนำอาหารที่ตนเองเตรียมมาแบ่งปันกันอัศจรรย์จึงเกิดขึ้น นั่นคือ ทรงเปลี่ยนใจที่เห็นแก่ตัวของพวกเขาแต่ละคนให้เป็นคนใจกว้างและคิดถึงคนอื่น ส่วนนักบุญยอห์นนำเสนอเรื่องนี้เพื่อหมายถึง “ศีลมหาสนิท” ที่พระองค์จะประทานให้
 ระหว่างการอบรม คุณพ่อวีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราช ได้มาเยี่ยมและให้กำลังใจ

3.         ความหมายและคุณค่า
3.1              การอัศจรรย์อธิบายให้เราทราบถึงพันธกิจของพระเยซูเจ้า

การอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ เป็นสัญลักษณ์ภายนอกที่บอกให้เราทราบถึงพันธกิจของพระองค์ เช่น การรักษาคนตาบอดใกล้เมืองเยรีโค ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้พระเยซูเจ้าพยายามอธิบายว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อไถ่บาปมนุษย์ด้วยพระทรมานของพระองค์ แต่บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจ (ลก 18:34)  พวกเขายังคงบอดมืด การรักษาคนตาบอดจึงบ่งบอกว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อช่วยเราให้มองเห็น ทำให้ความบอดมืดของมนุษย์หมดสิ้นไป

3.2              การอัศจรรย์เปิดเผยให้เราเข้าใจถึงสภาวะพระเจ้าของพระเยซูเจ้า

การอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ทำให้ชาวยิวตระหนักถึงลักษณะพิเศษและธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพ ชีวิตเป็นของประทานจากพระผู้สร้าง ทุกชีวิตขึ้นอยู่กับพระองค์และแสดงถึงพระพลานุภาพของพระองค์ ดังพระดำรัสที่ว่า “พระบิดาทรงทำให้ผู้ตายกลับคืนชีพ และประทานชีวิตให้ฉันใด พระบุตรก็ประทานชีวิตให้แก่ผู้ที่พอพระทัยฉันนั้น” (ยน 5:21)

3.3              การอัศจรรย์พิสูจน์ว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระแมสิยาห์ที่พันธสัญญาเก่ากล่าวถึง

ชาวยิวรอคอยพระแมสิยาห์ตามที่พระเจ้าทรงสัญญามาเป็นเวลานาน พระเยซูเจ้าทรงยืนยันความจริงนี้ในศาลาธรรมเมืองนาซาเร็ธ “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศข่าวดีแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า” (ลก 4:18)

อีกครั้งหนึ่งเมื่อยอห์น บัปติสต์ถูกจองจำอยู่ในคุกได้ยินกิตติศัพท์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ จึงส่งศิษย์ไปทูลถามพระองค์ว่าเป็นผู้ที่จะมาหรือต้องคอยใครอีก และพระองค์ตรัสตอบว่า “จงไปบอกยอห์นถึงสิ่งที่ท่านได้ยินและได้เห็น คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:2-6) การอัศจรรย์ที่ทรงกระทำจึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าพระองค์เป็นพระแมสิยาห์ที่พวกเขารอคอย
 ตอนบ่ายมีการแบ่งกลุ่มเพื่อฝึกการเปิดใช้พระคัมภีร์เป็นรายบุคคล

4.         อัศจรรย์ที่พบในพระวรสาร

ที่
เหตุการณ์
มัทธิว
มาระโก
ลูกา
ยอห์น
1
งานสมรสที่หมู่บ้านคานา
ยน 2:1-11
2
ทรงรักษาคนถูกปีศาจสิงที่กาเปอร์นาอุม
มก 1:21-28
ลก 4:31-37
3
การจับปลาอย่างอัศจรรย์
ลก 5:1-11
4
ทรงปลุกบุตรชายของหญิงม่ายที่นาอิน
ลก 7:11-17
5
ทรงรักษาคนโรคเรื้อน
มธ 8:1-4
มก 1:40-45
ลก 5:12-16
6
ทรงรักษาผู้รับใช้ของนายร้อย
มธ 8:5-13
ลก 7:1-10
ยน 4:46-54
7
ทรงรักษาแม่ยายของเปโตร
มธ 8:14-17
มก 1:29-34
ลก 4:38-41
8
ทรงรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก
มธ 8:16-17
มก 1:32-34
ลก 4:40-41
9
ทรงทำให้พายุสงบ
มธ 8:23-27
มก 4:35-41
กก 8:22-25
10
ทรงรักษาชาวเกราซาที่ถูกปีศาจสิง
มธ 8:28-34
มก 5:1-20
ลก 8:26-39
11
ทรงรักษาคนอัมพาต
มธ 9:1-8
มก 2:1-12
ลก 5:17-26
12
ทรงปลุกบุตรสาวของไยรัสให้คืนชีพ
มธ 9:18-26
มก 5:21-43
ลก 8:40-56
13
ทรงรักษาหญิงตกเลือด
มธ 9:20-22
มก 5:24-34
ลก 8:43-48
14
ทรงรักษาคนตาบอดสองคนที่กาลิลี
มธ 9:27-31
15
ทรงรักษาคนใบ้ที่ถูกปีศาจสิง
มธ 9:32-34
16
ทรงรักษาผู้ป่วยที่สระเบเธสดา
ยน 5:1-18
17
ทรงรักษาชายมือลีบ
มธ 12:9-13
มก 3:1-6
ลก 6:6-11
18
ทรงขับไล่ปีศาจชายที่ตาบอดและเป็นใบ้
มธ 12:22-28
มก 3:20-30
ลก 11:14-23
19
ทรงรักษาหญิงพิการ
ลก 13:10-17
20
ทรงทวีขนมปังเลี้ยงคน 5,000 คน
มธ 14:13-21
มก 6:31-34
ลก 9:10-17
ยน 6:5-15
21
ทรงดำเนินบนน้ำ
มก 14:22-33
มก 6:45-52
ยน 6:16-21
22
ทรงรักษาคนป่วยที่เยเนซาเร็ธ
มธ 14:34-36
มก 6:53-56
23
ทรงรักษาบุตรสาวของหญิงคานาอัน
มธ 15:21-28
มก 7:24-30
24
ทรงรักษาคนใบ้หูนวก
มก 7:31-37
25
ทรงทวีขนมปังเลี้ยงคน 4,000 คน
มธ 15:32-39
มก 8:1-9
26
ทรงรักษาคนตาบอดที่เมืองเบธไซดา
มก 8:22-26
27
ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง
มธ 17:1-13
มก 9:2-13
ลก 9:28-36
28
ทรงรักษาคนถูกปีศาจสิง
มธ 17:14-21
มก 9:14-29
ลก 9:37-49
29
เงินเหรียญในปากปลา
มธ 17:24-27
30
ทรงรักษาคนเป็นโรคบวม
ลก 14:1-6
31
ทรงรักษาคนโรคเรื้อนสิบคน
ลก 17:11-19
32
ทรงรักษาคนตาบอด
ยน 9:1-12
33
ทรงรักษาคนตาบอดใกล้เมืองเยรีโค
มธ 20:29-34
มก 10:46-52
ลก 18:35-43
34
ทรงปลุกลาซารัสให้กลับคืนชีพ
ยน 11:1-44
35
ต้นมะเดื่อเทศไร้ผล
มธ 21:18-23
มก 11:12-14
36
ทรงรักษาหูผู้รับใช้ของมหาสมณะ
ลก 22:49-51
37
การจับปลา 153 ตัว
ยน 21:1-24





คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
17 สิงหาคม 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น