วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเปลี่ยนแปลงตนเอง


การเปลี่ยนแปลงตนเอง

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
ปี B
ปฐก 22: 1-18
รม 8: 31-34
มก 9: 2-10

บทนำ

คุณพ่อแอนโทนี เดอ เมลโล (Fr. Anthony de Mello) ได้เล่าเรื่องที่งดงามเรื่องหนึ่งในหนังสือลำนำสกุณา (The Song of Bird) ของท่าน เกี่ยวกับการภาวนาของชายชราคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากให้เกิดขึ้น เวลาเป็นเด็กเขาภาวนาถึงพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานพระหรรษทานแก่ลูกเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงโลก”

เมื่อย่างเข้าวัยกลางคนเขาตระหนักว่า ช่วงเวลาครึ่งค่อนชีวิตของเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย แม้การช่วยวิญญาณสักดวงให้รอดยังไม่สามารถทำได้ เขาจึงเปลี่ยนบทภาวนาใหม่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานพระหรรษทานแก่ลูก เพื่อจะเปลี่ยนแปลงครอบครัวและมิตรสหายของลูก เพียงเท่านี้ลูกก็พอใจแล้ว”

เวลานี้เขาอยู่ในวัยชราและวันเวลาของเขาเหลือน้อยเต็มที เขาตระหนักว่าตนเองช่างโง่เขลาเหลือเกินที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ คำภาวนาของเขาเวลานี้คือ “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประธานพระหรรษทานแก่ลูกเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงตนเอง หากลูกเริ่มภาวนาแบบนี้ตั้งแต่ตอนแรก ลูกคงไม่เสียเวลาทั้งชีวิตโดยเปล่าประโยชน์” เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง สังคมรอบข้างและโลกทั้งโลกจะเปลี่ยนแปลงไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราคาดไม่ถึง

การประจักษ์พระวรกาย (Transfiguration)  หมายถึงพระวรกายที่เปลี่ยนแปลงไปของพระเยซูเจ้า หรือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ปรากฏภายนอก (Metamorphosis) เทศกาลมหาพรตนี้ เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงตนเอง กลับใจมาหาพระเจ้า การประจักษ์พระวรกาย มีจุดมุ่งหมายแรกเพื่อให้ความมั่นใจเกี่ยวกับแผนการของพระบิดาที่ทรงให้พระบุตรรับทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ ประการที่สอง เพื่อให้ศิษย์ที่พระองค์ทรงเลือกได้เห็นถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ในฐานะพระเจ้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้ละทิ้งความทะเยอทะยานทางด้านการเมืองและมีความเข้มแข็งในห้วงเวลาแห่งการเบียดเบียน

1.           การเปลี่ยนแปลงตนเอง

พระเยซูเจ้าได้นำเปโตร ยากอบและยอห์นขึ้นไปบนภูเขา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า และพวกเขาได้เป็นประจักษ์พยานถึงการประจักษ์พระวรกายของพระองค์ การได้เห็นถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เป็นสิทธิพิเศษที่พวกเขาได้รับ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าและพระผู้ไถ่ การปรากฏมาของโมเสสและเอลียาห์ ซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก ชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าคือความสมบูรณ์ของพระพันธสัญญาเก่า

ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการประจักษ์พระวรกายคือ เสียงที่ดังมาจากเมฆ บอกให้ทราบว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นบุตรสุดที่รักของพระเจ้าและให้พวกเขาฟังพระองค์ นี่คือคำรับรองของพระบิดาเจ้าว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุตรสุดที่รักของพระองค์และเราต้องฟังพระองค์ แม้ว่าสิ่งที่พระองค์ตรัส เช่น การถูกปฏิเสธ การทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพ จะเป็นสิ่งที่ยากเกินจะรับได้ เราจะเข้าใจและร่วมส่วนในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ได้ ผ่านทางหนทางแห่งไม้กางเขนเท่านั้น

มีการเปลี่ยนแปลงสามอย่างในชีวิตของเราในการเดินทางมุ่งสู่ชีวิตนิรันดร การเปลี่ยนแปลงแรกเริ่มจากศีลล้างบาป ที่ชำระล้างบาปกำเนิดและเปลี่ยนแปลงตัวเราให้กลายเป็นบุตรของพระเจ้า ทายาทแห่งเมืองสวรรค์ การเปลี่ยนแปลงที่สองเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถเอาชนะการประจญและความยากลำบากในชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่สามเกิดขึ้นเมื่อเราจบชีวิตในโลกนี้ ซึ่งเราต้องผ่านการชำระตนในไฟชำระเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร และบรรลุถึงความสมบูรณ์ในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า

2.           บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าในสัปดาห์นี้ ได้ให้บทเรียนและแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวันสำหรับเราหลายประการ

ประการแรก เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง การประจักษ์พระวรกายเป็นเหตุการณ์ที่พระวรกายของพระเยซูเจ้าเปลี่ยนแปลงไป พระศาสนจักรให้เรารำลึกถึงเหตุการณ์นี้ในสัปดาห์ที่สองของเทศกาลมหาพรต เพื่อเตือนใจเราให้ตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากในชีวิต ดังนั้น เราจึงควรเปิดใจของเราด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเอง หันกลับมาหาพระเจ้าเพื่อจะได้มีประสบการณ์ความรักของพระเจ้า ช่วยให้คนอื่นได้รู้ถึงความรักของพระองค์และพร้อมที่จะมอบชีวิตของตนเพื่อผู้อื่น

ประการที่สอง พิธีบูชาขอบพระคุณคือแหล่งพลังที่ทำให้เราเข้มแข็ง ในมิสซาปังและเหล้าองุ่นได้เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนและกลับคืนชีพ การประจักษ์พระวรกายของพระองค์ได้ทำให้บรรดาอัครสาวกเข้มแข็ง เช่นเดียวกับพิธีมิสซาที่เป็นแหล่งพลังในการต่อสู้กับการประจญและพื้นฟูชีวิตคริสตชนในเทศกาลมหาพรตนี้ การเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของเราให้กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม ในการรับใช้ผู้อื่นโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว

ประการที่สาม เราต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงมอบพระบุตรสุดที่รักของพระองค์โดยไม่ทรงหวงแหน ดังเช่นอับราฮัมพร้อมมอบบุตรชายคืออิสอักแด่พระเจ้า การมอบชีวิตเพื่อไถ่บาปเราของพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ สมควรที่เราจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ด้วยการน้อมรับกางเขนและร่วมส่วนในการแบกกางเขนนี้ในชีวิตประจำวันของเรา จนถึงวาระสุดท้ายที่เราจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แห่งการประจักษ์พระวรกายและกลับคืนชีพพร้อมกับพระองค์

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เราได้เห็นถึงความรักของบิดาสองคน อับราฮัมที่มีต่ออิสอักและพระบิดาเจ้าที่มีต่อพระเยซูเจ้า บิดาทั้งสองคนได้เตรียมมอบบุตรสุดที่รักของตนเป็นบูชา จะต่างก็ตรงที่พระเจ้าบอกให้อับราฮัมฆ่าลูกแกะเป็นบูชาแทนอิสอัก แต่พระเยซูเจ้า ทรงเป็นลูกแกะที่ยอมรับความทรมานด้วยพระองค์เอง เพื่อช่วยเราให้ตระหนักถึงความรักของพระเจ้า

วันนี้เราได้ยินพระสุระเสียงของพระบิดาเจ้าที่ตรัสกับเราและบอกเราว่า พระเยซูเจ้าเป็นบุตรสุดที่รักของพระองค์ที่เราต้องฟัง ให้เราได้เชื่อฟังพระองค์ มองเห็นการประทับอยู่ของพระองค์ท่ามกลางเรา และนำพระวาจาของพระองค์ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ลงจากภูเขาสู่ความเป็นจริงแห่งชีวิต และเดินตามรูปแบบชีวิตพระเยซูเจ้าบนกางเขนทุกวันตลอดชีวิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความรักและการให้อภัยเพื่อนพี่น้องด้วยใจกว้าง ซึ่งพระศาสนจักรเรียกร้องเป็นพิเศษในเทศกาลมหาพรตนี้

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
2 มีนาคม 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น