สมโภช 125 ปี คริสตชุมชนนาบัว เสาร์ที่ 21 มกราคม 2012
เหลียวหลังแลหน้า
125 ปีนาบัว
บทนำ
อดีต หาใช่สิ่งที่ผ่านเลยไปเท่านั้น แต่อดีตคือประวัติศาสตร์
อันเป็นที่มาของปัจจุบัน และเครื่องชี้อนาคตข้างหน้า การเหลียวหลังมองย้อนไปในอดีตที่ผ่านมา
เพื่อแสวงหาบทเรียนและคุณค่าที่บรรพชนสร้างสมไว้ให้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เพราะ
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นการเรียนรู้รากเหง้าที่แท้จริงของตนเอง เพื่อสร้างสรรค์ปัจจุบันให้น่าอยู่และก้าวเดินไปสู่อนาคตข้างหน้าอย่างมั่นคง
บ้านนาบัว ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส
จังหวัดสกลนคร เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมากกว่า 125
ปี เพราะจากหลักฐานและคำบอกเล่าของบรรดาผู้อาวุโสทำให้เราทราบว่า
เวลาที่บรรพชนชาวนาบัว 5 ครอบครัวแรกย้ายถิ่นฐานจากเมืองเขมราฐและยโสธรมาถึงนาบัว
พบว่าที่นาบัวมีผู้คนที่อพยพมาอยู่ก่อนแล้ว
และคนสองกลุ่มนี้ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอาศัยแสงสว่างแห่งพระวรสาร
นี่คือที่มาของบทความนี้ เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาและการถือกำเนิดขึ้นของคริสตชุมชนแห่งนี้ อีกทั้งจะเป็นอนุสติเตือนใจให้บรรดาลูกหลานชาวนาบัวและผู้แพร่ธรรมทั้งหลายในปัจจุบันให้มีความหวัง เมื่อได้เห็นว่า หยาดเหงื่อแรงกายของมิชชันนารีในอดีตที่ได้ทุ่มเทอุทิศให้แก่เนื้อนาแห่งนาบัวนั้นได้เกิดดอกออกผลมากมาย
และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับอนุชนรุ่นหลังให้ก้าวเดินต่อไปแม้จะมีความยากลำบากเพียงใดก็ตาม
พระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เสกซุ้มประตูโรมันหน้าวัด
เหลียวหลัง (มองอดีต) อย่างรู้คุณค่า
ย้อนหลังไปเมื่อ 125 ปีก่อน
ชาวนาบัวกลุ่มแรกที่อพยพมาอยู่ที่นาบัวคือ ครอบครัวนายเชียงผง
ทองใส ต้นตระกูล “ทองใส”, บิดาของนายน้อย พิมพา ต้นตระกูล “พิมพา”,
ผู้ใหญ่เพีย พิมพ์นาจ ต้นตระกูล “พิมพ์นาจ”, และบิดาของนายบัวพา
บัวขันธ์ ต้นตระกูล “บัวขันธ์” ต่อมาได้มีอีก 5 ครอบครัวจากเขมราฐและยโสธรอพยพมาอยู่ด้วย
ได้แก่ ครอบครัวบิดาของนายสา นาแว่น ต้นตระกูล “นาแว่น”, หลวงไชยเพชรกับน้องชาย ต้นตระกูล “ไชยเพชร”
และ“วินบาเพชร”, และนายทิดนนท์และนายสังข์ แพงยอด ต้นตระกูล “แพงยอด”
รำบายศรีสู่ขวัญ พญาสามองค์ได้เป็นตัวแทนชาวนาบัวผูกข้อต่อแขน
ผืนดินนาบัวขณะนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติมากกว่าที่อื่น
แต่เต็มไปด้วยความโหดร้ายจากไข้ป่าที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของผีร้าย
ทำให้คนที่เคยมาอยู่ก่อนต้องทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น เมื่อบรรพชนชาวนาบัวทราบว่ามีพระฝรั่งซึ่งผีร้ายกลัวมาเผยแผ่ศาสนาที่บ้านกุดจอก
(ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร) ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก จึงพากันไปขอพึ่งบุญ
รำชุด "แมลงภู่ตอนดอก" โดยนักเรียนโรงเรียนบ้านนาบัว
จากบันทึกประวัติวัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม นครพนม ของ คุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ รองแดล เจ้าอาวาสในสมัยนั้นพบว่า
คุณพ่อได้รับสมัครผู้กลับใจจากบ้านนาบัวและบ้านกุดจอกในเขตจังหวัดสกลนคร ในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จึงแน่ใจได้ว่าคริสต์ศาสนาเข้ามาที่บ้านนาบัวในปีดังกล่าว ดังนั้น ปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเชื่อและการประกาศพระวรสารที่นาบัว
รำชุด "เชิญบ่าวเที่ยวสกล" ของคณะแม่บ้าน 1
ในบันทึกปี ค.ศ.
1889 (พ.ศ. 2432) ได้บอกให้เราทราบว่า
บ้านนาบัวและกุดจอกทำให้คุณพ่อรองแดลรู้สึกหนักใจมาก
เพราะต้องเดินทางขี่ม้าจากบ้านคำเกิ้มเป็นเวลาสองวันกว่าจะถึง จึงอยากให้มีผู้อยู่ประจำคอยดูแลเอาใจใส่สองหมู่บ้านนี้
ที่สุดได้ เปโตร
จานพิมพ์ ซึ่งเคยเป็นพระภิกษุมาก่อน คุณพ่อรองแดล ได้มอบหมายให้จานพิมพ์ไปสอนคำสอนแก่ผู้ที่ประสงค์จะกลับใจที่นาบัวและกุดจอก
ซึ่งขณะนั้นเป็นเหมือนฝูงแกะที่ปราศจากผู้เลี้ยง
รำชุด "เบิ่งนครพนม" ของคณะแม่บ้าน 2
เปโตร
จานพิมพ์ ได้ออกเดินทางไปนาบัวพร้อมกับเซียงบา ต้นตระกูล
“จันทร์สุนีย์” ผู้เป็นหลานในปี ค.ศ.
1890 (พ.ศ. 2433) เพื่อสอนคำสอน
บันทึกศีลล้างบาปแรกที่นาบัวลงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) หลังจากนั้นกลุ่มคริสตชนนาบัวและกุดจอกได้ขึ้นอยู่กับศูนย์ท่าแร่ ในบันทึกรายงานประจำปี
ค.ศ. 1901 (พ.ศ.
2444) พระสังฆราชยอแซฟ-มารีย์
กืออ๊าส ได้เขียนไว้ว่า บ้านช้างมิ่ง บ้านนาบัว บ้านกุดจอก บ้านดอนทอย
บ้านแก่งราบ ทั้งหมดนี้ คุณพ่อกองเต และ คุณพ่อกราเซียง เป็นผู้ดูแล คุณพ่อกองเตได้สร้างวัดหลังแรกขึ้นมีลักษณะเป็นวัดชั่วคราวหลังคามุงจาก
รำชุด "ตั้งใจลืม" ของเยาวชน
เป็นไปได้ว่าวัดหลังแรกนี้สร้างเสร็จและเปิด-เสกในวันที่ 6
มกราคม
ซึ่งเป็นวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ หรือที่แต่เดิมเรียกว่า “วันฉลองพญาสามองค์” ดังนั้น วัดหลังแรกและคริสตชุมชนใหม่แห่งนาบัวจึงได้ชื่อว่า
“วัดพญาสามองค์ นาบัว” ต่อมาภายหลังจำนวนคริสตชนได้เพิ่มมากขึ้น คุณพ่อกองเตได้สร้างวัดหลังที่สองซึ่งเป็นวัดไม้ถาวรที่มั่นคงแข็งแรง
จำนวนคริสตชนที่เพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งอพยพมาจากดอนโดน
เกาะกลางแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นศูนย์ใหม่ฝั่งประเทศลาวที่คุณพ่อซาเวียร์
เกโกได้ตั้งขึ้น ส่วนใหญ่เคยเป็นทาสที่คุณพ่อเกโกไถ่มา อีกพวกหนึ่งคือพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านต่างๆ
จึงพากันมาขอพึ่งบุญคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดนาบัวมา เช่น ตระกูล “บุตรสงกา” จากอำเภอนาว้า จังหวัดนครพนม
บรรยากาศการแห่ต้นเงินต้นทองในตอนบ่าย
ส่วนผู้ที่อพยพมาใสสมัยหลัง บ้างเป็นญาติหรือคนที่รู้จักคุณเคยคุณพ่อเจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงตามมาอยู่ด้วย
เช่น ตระกูล “เมาบุดดา” และ “จูมคำตา” จากประเทศลาว สมัยคุณพ่อแท่ง
ยวงบัตรี (พระสงฆ์องค์แรกของวัดดอนโดน
ประเทศลาว) และตระกูล “ยาสาไชย” และ “มะวงศ์งอย” จากวัดจันทร์เพ็ญ (อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร) ในสมัยคุณพ่อวันดี
พรหมสาขา ณ สกลนคร
(พระสงฆ์องค์ที่สองของวัดจันทร์เพ็ญ)
ดังนั้น บรรพชนของชาวนาบัว
ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่หนีความอดอยากยากแค้น และคนที่ได้รับการไถ่ให้อิสระจากการเป็นทาสของนายเงินหรืออิทธิพลของผีร้าย
แม้จะมีความแตกต่างด้านภูมิหลังความเป็นมา
แต่แสงสว่างแห่งพระวรสารที่ได้รับการประกาศจากบรรดาเจ้าอาวาสทั้ง 30
องค์
ตลอด 125 ปีที่ผ่านมา
ได้หลอมรวมชาวนาบัวทุกตระกูลให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
คริสตชุมชนแห่งนี้ได้ผ่านช่วงเวลาของการพิสูจน์ครั้งสำคัญในช่วงเวลาของการเบียนเบียนศาสนาเมื่อคราวเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน
แม้วัดที่เคยเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพุทธสัมพันธ์วงศ์” บ้านพักพระสงฆ์กลายเป็นสำนักสงฆ์
แต่ชาวนาบัวยังคงยืนหยัดมั่นคงในความเชื่ออย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย
ดอกผลที่พิสูจน์ความจริงนี้คือ วัดนาบัวเป็นแหล่งเพาะกระแสเรียกสำหรับพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
แลหน้า
(สู่อนาคต) อย่างมีเป้าหมาย
125 ปีที่ผ่านมา คริสตชุมชนนาบัวได้เจริญเติบโตขึ้นทุกด้าน
ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ กลายเป็นชุมชนใหญ่และเข้มแข็ง จากจุดเริ่มต้นเพียง 5
ครอบครัวที่อพยพมา รวมกับพวกที่อพยพมาอยู่ก่อนแล้วเพียงไม่กี่ครอบครัว ได้เพิ่มจำนวนเป็น 767 ครอบครัวในปัจจุบัน แบ่งการปกครองออกเป็นสองหมู่บ้าน แยกเป็นชุมชนคริสตชนพื้นฐาน
12 กลุ่ม, คริสตชนจำนวน
1,576 คน, มีลูกวัดที่เป็นพระสงฆ์ 8 องค์,
ภคินี 7 รูป, ภราดา 1 คน, สามเณร 13
คน และผู้ฝึกหัด 10
คน
เครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความเข้มแข็งของคริสตชุมชนแห่งนี้คือ
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเตรียมสมโภช 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรมตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ทำให้สิ่งต่างๆ
เกิดขึ้นเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของตน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างซุ้มประตูใหญ่ 2 ซุ้ม, โรงครัวใหม่, หอระฆังและซุ้มแม่พระซึ่งเสร็จสมบูรณ์ รวมถึงการบูรณะวัดไม้และพิพิธภัณฑ์ปีแอร์
โกลาส์ ซึ่งกำลังก้าวหน้าเป็นลำดับ
โดยได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องชาวนาบัวเป็นอย่างดียิ่ง
คนที่มีไม้ได้บริจาคไม้ คนที่พอมีฐานะได้บริจาคเงินช่วยเหลือ
ลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นต่างแดน อาสาทำผ้าป่าหรือบอกบุญคนรู้จักให้มาช่วยอีกแรง
คนที่ไม่มีอะไรจะให้ได้อุทิศแรงกายแรงใจและคำภาวนา
ช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ นี่คือ ความสมัครสมานสามัคคีและความใจกว้างของพี่น้องชาวนาบัวสำหรับวัดและถิ่นกำเนิดของพวกเขา
ที่สมควรได้รับการยกย่องและภาคภูมิใจ
ดังนั้น วันนี้วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555)
จึงเป็นวันแห่งความชื่นชมยินดีและกตัญญูต่อบรรดามิชชันนารี
เริ่มตั้งแต่คุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ รองแดล ผู้บุกเบิก คุณพ่อเจ้าอาวาสในอดีตทั้ง
30 องค์และบรรพชนชาวนาบัวทุกคน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสานต่อมรดกแห่งความเชื่อและฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่างๆ
ในการสร้าง “คริสตชุมชนนาบัว” จากรุ่นสู่รุ่น เรื่อยมามาจนบรรลุความสำเร็จในปัจจุบัน
นอกนั้นวันนี้ ยังเป็นวันเริ่มต้นขวบปีแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชนของชาวนาบัวให้เข้มข้น
เพื่อชาวนาบัวทุกครอบครัวและทุกคน จะได้ตระหนักในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
ที่จะร่วมกันสืบสานมรดกแห่งความเชื่อ เชื่อมต่อจากบรรพชนและบุพการีในอดีต
เพื่อก้าวเดินไปสู่อนาคตข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย
บทสรุป
พระศาสนจักรมิได้เติบโตขึ้นด้วยความบังเอิญ หากแต่ยั่งยืนมั่นคงขึ้นมาได้ด้วยหยาดเหงื่อ
เลือดเนื้อและชีวิตของบรรดามรณสักขีจำนวนนับไม่ถ้วนในอดีต ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานอันมั่นคงของพระศาสนจักร
ความเป็นมาของคริสตชุมชนนาบัว แม้จะถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 26
มกราคม ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) ซึ่งได้รับศีลล้างบาปกลุ่มแรก แต่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการเข้ามาของคริสต์ศาสนาในภาคอีสานภายใต้การนำของ
คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก เมื่อปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424)
125 ปีคริสตชุมชนนาบัว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรของพระเจ้าโดยแท้ เป็นพระญาณสอดส่องและแผนการของพระองค์ที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด ในความรักและความเมตตาที่โปรดให้ลูกหลานชาวนาบัวผ่านช่วงเวลาต่างๆ
มาอย่างราบรื่น พระเจ้าได้ทรงหลั่งพระหรรษทาน ความรักและความเมตตาของพระองค์มายังชาวนาบัวอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 125 ปีที่ผ่านมาและจะเป็นเช่นนี้สืบไปไม่มีวันสิ้นสุด
ควรที่ลูกหลานชาวนาบัวทุกคนจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
อันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้า กตัญญูต่อคุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ รองแดล
ผู้บุกเบิก บรรดาจ้าอาวาสและบรรพชนในอดีต โดยเฉพาะคุณพ่อปีแอร์ โกลาส์
ผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อชาวนาบัว ซึ่งครบรอบ 25 ปีแห่งการจากไป
วันที่ 22
มกราคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) นี้
อีกทั้ง ร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้า ในการนำคริสตชุมชนนาบัวให้เจริญก้าวหน้าสืบไป
เพื่อรักษามรดกทางความเชื่ออันล้ำค่าให้วัฒนาถาวรสืบไป สมดังคำขวัญที่ว่า
“ทิ้ง ผีชั่ว
ติดตาม องค์พระคริสต์ เจริญชีวิตตาม
พระวรสาร
สืบสาน ประเพณีแห่ดาว กล่าวขาน ตำนานช้างหิน
ขจรไกลทั่วถิ่น กลองยาว ข้าวเม่าหอม-ฝักบัวหวาน
ขึ้นชื่อ
เลื่องลืออลังการ วัดไม้ ยืนหยัดมั่นใน
คริสตธรรม”
คุณพ่อดาเนียล
ขวัญ ถิ่นวัลย์
เจ้าอาวาสวัดพระคริสตประจักษ์
นาบัว
ลำดับที่ 31
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น