จงตื่นเฝ้าอยู่เสมอ
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ปี B
|
อสย 63:16-17; 63:1, 3-6
1 คร 1:3-9
มก 13:31-37
|
บทนำ
มีคำถามทดสอบเชาว์ปัญญา
ถ้าคืนหนึ่งขณะที่คุณกำลังหลับสนิทและฝันว่า สิงโตตัวหนึ่งกำลังไล่ขย้ำคุณ ทำให้คุณต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด
แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับเสือที่พร้อมจะตะปบคุณด้วยกรงเล็บอันแหลมคมของมัน เข้าทำนอง
“หนีเสือปะจระเข้” คุณมองหาทางหนีไปที่สองข้างทาง
แต่ทั้งสองข้างเต็มไปด้วยสัตว์ป่าดุร้ายที่พร้อมจะทำร้ายคุณเช่นกัน ในสถานการณ์เวลานั้นคุณเหมือนคนจนตรอก
หนีไปทางไหนไม่ได้ ถามว่า “คุณจะหนีเอาตัวรอดอย่างไร”
คำตอบคือ “จงตื่นจากฝัน”
การตื่นขึ้นทำให้เราอยู่ในโลกของความเป็นจริง
ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกของความฝัน ปัญหาใหญ่โตที่เรากำลังเผชิญขณะฝัน
ไม่มีผลใดๆ ต่อชีวิตปัจจุบันของเรา เมื่อตื่นขึ้นเราพบความจริงว่าอันตรายจากสัตว์ร้ายในความฝัน
ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงความฝัน ไม่ใช่ความจริง เราอาจเปรียบเทียบสภาวะแห่งความฝันและการตื่นนี้กับชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชน
การตื่นเฝ้าระวังอยู่เสมอ ทำให้เราพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสิ่ง
ในสัปดาห์แรกของเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้
พระศาสนจักรเชื้อเชิญเราให้พร้อมที่จะต้อนรับองค์พระเจ้าที่กำลังเสด็จมา
เราจะต้องระวังและตื่นเฝ้าอยู่เสมอ
เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จมาจะพบเรากำลังเตรียมพร้อมอยู่ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ
ไม่เพียงเป็นการเตรียมฉลองการบังเกิดมาของพระคริสตเจ้า
แต่ยังเป็นการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เราอยู่ระหว่างการเสด็จมาครั้งแรกที่เบธเลแฮม
กับการเสด็จมาครั้งที่สองในวาระสุดท้ายเพื่อทรงพิพากษาทุกคน
เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ
จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังที่เราจะได้ไตร่ตรองถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า
ด้วยการเชิญเสด็จพระองค์เข้ามาในจิตใจของเรา และตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวเรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นและมาหาเราในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่เรากำลังเตรียมฉลองคริสต์มาสทางด้านภายนอก
พระศาสนจักรได้ให้เรามีเวลาเริ่มต้นเตรียมต้อนรับพระองค์ทางด้านจิตใจในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ
นี้
1.
จงตื่นเฝ้าอยู่เสมอ
ในพระวรสารวันนี้
พระเยซูเจ้าทรงตักเตือนและให้กำลังใจผู้ติดตามพระองค์ให้ตื่นเฝ้าทางด้านจิตใจ
พระองค์กำลังจะจากพวกเขาไป อาศัยความเชื่อและการอุทิศตน
ผู้ติดตามพระองค์จะต้องเป็นดังคนใช้ที่ตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ดังนั้น
ช่วงเวลาที่พระองค์ไม่อยู่จึงเป็นเวลาแห่งการทดสอบความเชื่อ
พระองค์ทรงย้ำเตือนให้พวกเขาระวังและตื่นเฝ้า เพราะไม่มีใครรู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไหร่
เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จมาจะพบพวกเขากำลังตื่นเฝ้าด้วยความเชื่อและพร้อมที่จะต้อนรับพระองค์
นักบุญมาระโกได้ใช้ภาพพจน์ของคนรับใช้ที่คอยเปิดประตูให้เจ้าของบ้าน
ซึ่งไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ ณ เมืองเบ็ธเลแฮมพระเยซูเจ้าเสด็จมาในรูปของเด็กทารก
แต่ผู้คนจำพระองค์ไม่ได้
ในคำอุปมาเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่เราได้ฟังอาทิตย์ที่ผ่านมา
พระองค์เสด็จมาในรูปแบบของคนที่ต่ำต้อยและต้องการความช่วยเหลือ
มีแต่คนที่มีความเชื่อเท่านั้นที่จำพระองค์ได้และรับใช้พระองค์ในบุคคลชายขอบของสังคมเหล่านั้น
ความเชื่อจึงเป็นวิธีดำเนินชีวิตที่สำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นและจำพระองค์ได้
การดำเนินชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตที่ต้องตื่นเฝ้าอยู่เสมอ
ด้วยการทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ด้วยความซื่อสัตย์และรับผิดชอบ
การตื่นเฝ้ายังหมายถึงการเรียนรู้เครื่องหมายแห่งกาลเวลา เพื่อจะได้เข้าใจถึงความหมายที่พระเจ้าต้องการจะบอกให้เราทราบ
และรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำวันจนถึงที่สุด ดังนั้น การตื่นเฝ้าจึงเป็นการเจริญชีวิตแห่งการรับใช้พระเจ้าด้วยความวางใจ
ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติและดำรงตนในฐานะแห่งพระหรรษทาน
เหมือนคนใช้ที่ซื่อสัตย์ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอย่างเคร่งครัด
2.
บทเรียนสำหรับเรา
ในพระวรสารวันนี้
พระเยซูเจ้าได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติ
ประการแรก
จงตื่นเฝ้าอยู่เสมอ การตื่นเฝ้าแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้ที่เป็นศิษย์
ซึ่งมุ่งหวังและรอคอยพระคริสตเจ้าเสด็จกลับมา
การเฝ้าคอยนี้ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญในการรำพึงภาวนาอย่างจริงจัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ การตื่นเฝ้าไม่ใช่การอยู่เฉยๆ
แต่หมายถึงความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในการปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การทดลอง”
(มก 14:38) หรือปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ที่เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน
(ลก 6:12)
ประการที่สอง
การเสด็จมาครั้งที่สองจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เมื่อไรไม่มีใครรู้ มีแต่พระบิดาเจ้าเท่านั้นที่ทราบถึงวาระสุดท้ายของโลกและการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูเจ้า
(มก 13:32) ดังนั้น
ชีวิตของเราจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระองค์ นี่คือหน้าที่ที่เราต้องทำ
เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงท้าทายเราด้วยคำถามที่สำคัญสามข้อ:
1) เราจะทำอะไรขณะนี้ เพื่อสร้างอาณาจักรของพระเจ้าในโลก,
2) เราควรจะทำอะไรเวลานี้ และ 3)
เราจะเริ่มทำอะไรบ้าง ในสัปดาห์แรกของเทศกาลรับเสด็จฯ นี้
ประการที่สาม จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุด การเสด็จมาครั้งที่สองซึ่งเป็นเวลาแห่งการพิพากษานั้น
จะเกิดขึ้นโดยฉับพลันและไม่มีใครคาดคิด เราแต่ละคนจึงต้องดำเนินชีวิตในแต่ละวันให้ดีที่สุด
ประหนึ่งว่าเป็นวันสุดท้ายที่องค์พระเจ้าเสด็จมา “จงพยายามดำเนินชีวิตให้ดีทุกวัน
ราวกับว่าท่านต้องตายในเย็นวันนั้น” (ชาร์ล เดอ โฟโกลต์) คริสตชนผูกพันตนเองกับปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง
เพราะทราบดีว่าทุกนาทีเป็นการนัดพบกับพระเจ้า และวาระสุดท้ายขึ้นอยู่กับเวลาที่เราดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติต่อเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นในแต่ละวัน
เป็นต้นในคนยากจนและคนต้องการความช่วยเหลือ
บทสรุป
พี่น้องที่รัก
เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เป็นช่วงเวลาของรื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระเจ้า
เป็นช่วงเวลาแห่งความเพียรทนในการภาวนาด้วยความเชื่อไว้ใจ และเปิดใจของเราต้อนรับพระองค์ในเพื่อนพี่น้อง
เป็นต้นในคนยากจนและต้องการความช่วยเหลือ พระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก
ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของการก้าวเดินออกจากความมืดด้วยการกลับใจเปลี่ยนแปลงตนเอง
เพื่อเดินในแสงสว่างของพระคริสตเจ้า
พระศาสนจักรให้เราเริ่มต้นปีพิธีกรรมด้วยเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ
เพื่อท้าทายและกระตุ้นเตือนเราให้คิดถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา ในการมุ่งหน้าไปพบองค์พระเจ้าที่กำลังเสด็จมา
ด้วยการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ในการทำให้พระคริสตเจ้าปรากฏเป็นจริงในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อพระองค์
คริสตชนแต่ละคนจะต้องถอดแบบพระองค์ในความรักที่เรามีต่อเพื่อนพี่น้อง เป็นต้นในครอบครัว หมู่คณะ สังคมและหมู่บ้านของเรา
นี่คือการเตรียมพร้อมและตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ที่พระองค์ต้องการจากเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
สำนักมิสซังฯ
สกลนคร24 พฤศจิกายน 2011
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น