1.8 ประเพณีแห่ดาวใหญ่
เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1982
(ค.ศ. 2525) คุณพ่อลูกา สุพล ยงบรรทม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนที่มีวาทศิลป์ในการเทศน์สอน
และโน้มนำชาวบ้านให้สมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประกอบกับการที่คุณพ่อเป็นคนกินง่าย
อยู่ง่าย เข้าได้กับทุกคน ทำให้คุณพ่อกลายเป็นขวัญใจของชาวนาบัว ที่พวกเขาให้ความร่วมมือและช่วยงานคุณพ่อเป็นอย่างดีในงานต่างๆ
สิ่งที่คุณพ่อได้เริ่มไว้ได้กลายมาเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวนาบัว ที่สืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นั่นคือ “ประเพณีแห่ดาวใหญ่”
ดาวในคริสตศาสนาเป็นสัญลักษณ์หมายถึง
การบังเกิดมาของพระเยซูเจ้าและเป็นสื่อนำทางพวกโหราจารย์ให้ได้พบกับพระกุมารเยซูในถ้ำเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮม
ประเทศปาเลสไตน์ ประเพณีแห่ดาวในเทศกาลคริสต์มาสที่นาบัว น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการได้รับความเชื่อคริสตชนในปี
ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433)
โดยการนำมาของคุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์
รองแดล คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) ที่เดินทางแพร่ธรรม และโปรดศีลล้างบาปแก่ผู้สมัครเป็นคริสตชนที่นาบัว
แรกทีเดียวอาจเริ่มจากการทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาส เหมือนวัดอื่นทั้งหลายในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ต่อมาได้กลายเป็นประเพณีแห่ดาวรอบวัดที่กระทำกันในคืนวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี
จากการทำดาวประดับวัดธรรมดาได้พัฒนาไปเป็นการทำดาวประดับบ้านเรือน
การแห่ดาวและการประกวดดาว เพื่อสืบสานความเชื่อศรัทธาของตนอย่างมีสีสัน
อันแสดงออกถึงความชื่นชมยินดีของชุมชนตามจิตตารมณ์ของคริสต์มาส
ในสมัยของคุณพ่อลูกา สุพล
ได้กระตุ้นและสนับสนุนให้ชาวนาบัวทำดาวใหญ่สำหรับแห่ โดยแบ่งออกเป็นคุ้มๆ ละดวง รวม
13 ดวง นอกเหนือไปจากดาวเล็กสำหรับถือแห่ที่แต่ละคนทำกันอยู่แล้ว โดยคุณพ่อได้ประกาศว่าจะจัดให้มีการประกวดดาวในปีนั้น
ก่อให้เกิดการแข่งขันการทำดาวในแต่ละกลุ่มอย่างสุดความสามารถ
และเพื่อไม่ให้กลุ่มอื่นเห็นว่าดาวที่กลุ่มของตนทำมีรูปแบบเช่นไร สวยงามแค่ไหน บางกลุ่มจึงตกลงกันทำดาวภายในบ้านที่มีฝาปิดมิดชิดจะได้ไม่มีใครเห็น
โดยไม่ได้คิดถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อทำเสร็จ นั่นคือ ดาวใหญ่เกินไปไม่สามารถนำออกทางประตูบ้านได้
ต้องรื้อฝาบ้านเพื่อจะนำดาวลงมาร่วมขบวนแห่ได้ จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานมาถึงทุกวันนี้
คุณพ่อลูกา สุพล เริ่มประเพณีแห่ดาวใหญ่ที่นาบัวปี
ค.ศ. 1982
(พ.ศ. 2525) ปีเดียวกันกับที่พระอัครสังฆราชลอเรนซ์
คายน์ แสนพลอ่อน เริ่มประเพณีแห่ดาวที่สกลนคร เป็นที่แน่ชัดว่าประเพณีแห่ดาวใหญ่ของนาบัวย่อมเริ่มก่อน
เพราะเริ่มในคืนวันที่ 24 ธันวาคม แต่ประเพณีแห่ดาวที่สกลนครเริ่มคืนวันที่
25 ธันวาคม แม้ประเพณีแห่ดาวใหญ่ที่นาบัวจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าที่สกลนคร
แต่ก็ได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะและความเชื่อคริสตชนที่ชาวนาบัวสืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นอกนั้น ประเพณีแห่ดาวใหญ่ ยังแสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคี
และร่วมแรงร่วมใจกันของชาวนาบัวหลังฤดูเก็บเก็บเกี่ยว เพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระกุมารเยซู
ซึ่งเป็นความยินดีสำหรับโลกและมนุษยชาติ ปัจจุบัน ประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณในการจัดทำ
จากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
การแห่ดาวที่ทำจากไม้ไผ่ ติดด้วยกระดาษสีสวยคิดว่าที่นาบัวสวยที่สุดพร้อมผลงานสร้างสรรค์ตระการตาเป็นดาวที่สวยทั้งกลางวันและกลางคืนจริงๆ
ตอบลบ