คุณพ่อเปาโล สมพร อุปพงศ์ เจ้าอาวาสลำดับที่ 21 ปี ค.ศ. 1985-1988
1.9 ของขวัญจากพระเจ้า
เดือนเมษายน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528)
คุณพ่อเปาโล
สมพร อุปพงศ์ ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาส ลำดับที่ 21
โดยมี คุณพ่ออเล็กซิส ไทยวัฒน์ นิลเขต, คุณพ่ออันตน
สาคร อุ่นหล้า, คุณพ่อเปโตร สุดสาคร ศรีวรกุล และคุณพ่อฟรังซิส
เซเวียร์ คัมภ์ศรณ์ กาแก้ว เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ตามลำดับ
คุณพ่อสมพร เป็นเจ้าอาวาสที่ได้ทุ่มเทเสียสละในการทำงานอภิบาลรับใช้ชาวนาบัว เป็นพ่อที่ใจดีมีเมตตา
เป็นผู้อภิบาลที่สุภาพถ่อมตน และเป็นสมณะที่ดำเนินชีวิตสมถะเรียบง่าย ทำให้คุณพ่อเป็นที่เคารพรักและอยู่ในใจชาวนาบัวเสมอมาจนถึงทุกวันนี้
เหตุการณ์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณพ่อและเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัดนาบัว
คือบทความเรื่อง “ของขวัญวันบวช” ซึ่งคุณพ่อได้เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ “25 ปีชีวิตสงฆ์”
ของคุณพ่อ ดังต่อไปนี้
วันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี
เป็นวันสมโภชแม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์จะเป็นโอกาสพิเศษสำหรับข้าพเจ้า
เพราะเป็นวันที่ข้าพเจ้าได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์พร้อมกับเพื่อนคือ คุณพ่อนิยุต
ศรีอ่อน เป็นโอกาสพิเศษที่ข้าพเจ้าหวนคิดถึงชีวิตสงฆ์ของข้าพเจ้าตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน
เพื่อช่วยเตือนสติให้ตื่นอยู่เสมอในสิ่งที่ตนควรจะเป็นจากวันที่ได้รับศีลบวช
นั่นคือ “การเป็นสงฆ์”
ตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้าผู้เป็นสงฆ์สูงสุด
ผู้หลั่งเลือดเป็นบูชาบนไม้กางเขนเพื่อไถ่ถอนมวลมนุษย์ให้รอดพ้น พระองค์ยอมตายเพื่อมนุษย์จะมีชีวิต พระองค์ยอมอยู่ในความมืด
เพื่อให้มนุษย์ได้รับความสว่าง
พระองค์ยอมถูกทอดทิ้งอย่างเดียวดายบนกางเขน
เพื่อนำมนุษย์กลับคืนมาเป็นบุตรของพระบิดา
ปีแรกที่ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระคริสตประจักษ์
นาบัว อำเภอวานรนิวาส ซึ่งอยู่ห่างจากท่าแร่ประมาณ 100 กิโลเมตร
ก่อนถึงวันที่ 15 สิงหาคม บรรดาพี่น้องและหลานๆ
แจ้งข่าวว่าจะมาร่วมความยินดี
และอวยพรเพื่อเป็นกำลังใจโอกาสครบรอบวันบวชเป็นพระสงฆ์
และจะนำอาหารมารับประทานด้วยกัน
ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นมิใช่น้อยสำหรับการแสดงออกของบรรดาพี่และหลานๆ
แม้จะเป็นกิจกรรมเรียบง่ายธรรมดาๆ
แต่แฝงไว้ซึ่งคุณค่ายิ่งใหญ่ในความรักและความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวเรา
เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ที่เป็นพระสงฆ์ของพระเจ้า
ให้สามารถอุทิศตนด้วยความเสียสละเพื่อฝูงแกะของพระองค์ต่อไป
แต่ในค่ำคืนของวันที่ 14 สิงหาคมนั่นเอง
เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนคือ เด็กชายอายุ 10 ขวบชื่อ
“ถา” ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว
ไม่มีใครดูแลเอาใจใส่ ชีวิตต้องอดๆ อยากๆ
จึงมาขออาศัยอยู่กับวัด
คุณพ่อเจ้าวัดองค์ก่อนท่านมีเมตตากรุณาจึงรับเลี้ยงไว้ คืนนั้นเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ครูคำสอนซึ่งมีอายุแล้ว เป็นผู้มีน้ำใจดี
เสียสละมานอนที่บ้านโรงครัวของวัดเพื่อช่วยดูแลความเรียบร้อยในวัด
และยังเป็นแม่ครัวทำอาหารให้กับคุณพ่อเจ้าวัดด้วย
ปกติถ้ามิใช่สามี ก็จะเป็นลูกสาวของเขามานอนเป็นเพื่อน แต่คืนนั้น เขานอนกับ“เจ้าถา” เท่านั้น
ซึ่งป่วยมาได้หลายวันแล้ว
เวลาประมาณ 4 ทุ่ม
ครูคำสอนคนนั้นได้มาเคาะประตูบ้านพ่อเสียงดังและร้องว่า “คุณพ่อ... คุณพ่อ ‘เจ้าถา’ ป่วยหนัก ไข้ขึ้นสูงต้องนำส่งโรงพยาบาล” ข้าพเจ้าสะดุ้งรีบลุกขึ้นจากเตียงนอนด้วยความตกใจ และเปิดไฟฟ้า
คว้ากุญแจรถยนต์ (กระบะ) และกระเป๋าสตางค์ พลางร้องบอกแม่ครัวว่า “รีบไปนำเขามาเดี๋ยวนี้”
ข้าพเจ้าทั้งรู้สึกตื่นเต้นและตกใจมากเมื่อเห็นร่าง
“เจ้าถา” กำลังกระสับกระส่ายด้วยพิษไข้
และเลือดเริ่มไหลออกมาจากปากส่งกลิ่นเหม็นคาว
จึงรีบบึ่งรถยนต์ตรงไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด คือโรงพยาบาลอำเภอวานรนิวาส บรรดาพยาบาลวิ่งออกมาช่วยนำคนป่วยเข้าไปรับการรักษาพยาบาล
ข้าพเจ้าจิตใจไม่ดีเลยเพรากลัว “เจ้าถา” จะเสียชีวิต
ประมาณ 30 นาที พยาบาลวิ่งออกมาบอกว่า
ให้รีบนำคนป่วยไปโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งอยู่อีกอำเภอหนึ่ง
ห่างออกไปประมาณ 40-50 กิโลเมตร ข้าพเจ้ารีบจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดและนำ
“เจ้าถา” มุ่งหน้าต่อไปอย่างรีบเร่ง
ระหว่างการเดินทาง “เจ้าถา” จะอาเจียนออกมาเป็นเลือด
กระเซ็นทั่วไปตามเบาะนั่งและกระจกรถยนต์เป็นระยะๆ
ส่งกลิ่นเหม็นคาวจนข้าพเจ้าแทบอาเจียนด้วย
บางครั้งต้องเอามือปิดจมูกตนเองเพราะทนกลิ่นเหม็นคาวของเลือดเจ้าถาไม่ได้
เมื่อถึงโรงพยาบาลที่สอง
พยาบาลก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่
แต่หลังจากนั้นไม่นาน พยาบาลคนหนึ่งก็มาบอกว่า “คนไข้ป่วยหนักมากให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนคร”
ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 50
กิโลเมตร ข้าพเจ้ารีบควักระเป๋าสตางค์ชำระค่าพยาบาลทั้งหมด และนำคนป่วยขึ้นรถยนต์มุ่งตรงไปเป็นครั้งที่สาม
ขณะขับรถข้าพเจ้ารู้สึกอ่อนใจ เหนื่อยมาก
และรู้สึกท้อใจ และคิดรำพึงรำพันกับตนเองว่า “ทำไมจึงต้องเป็นเรานำ...
แทนที่จะได้หลับนอนอย่างมีความสุข
ขณะที่ทุกคนกำลังหลับอย่างมีความสุข
แต่เรา... นี่ก็จะเที่ยงคืนแล้ว
ยังต้องมานั่งถ่างตาขับรถยนต์
ซึ่งเปื้อนด้วยเลือดที่เหม็นคาวของเด็กกำพร้าคนนี้ ลูกหลานใครก็ไม่รู้ นี่รถยนต์ก็ของเรา โชเฟอร์ก็เรา
จ่ายค่าพยาบาลก็เราอีก...” ความคิดเริ่มฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ
พร้อมกับอาการเหนื่อยอ่อนและง่วงนอน
ที่สุดก็มาถึงโรงพยาบาลประจำจังหวัด พยาบาลรีบนำคนป่วยเข้าห้องฉุกเฉินทันที
เราต้องนั่งรออยู่ข้างนอกรอฟังผลและอาการของผู้ป่วย ประมาณ 30 นาทีต่อมา
พยาบาลคนหนึ่งออกมาบอกว่า เด็กเสียเลือดมากเกินไป อาจเสียชีวิตเพราะเลือดหมดแล้ว
จึงขอเลือดจากผู้ปกครองหรือญาติ เพื่อจะนำไปต่อชีวิตผู้ป่วย
เมื่อถูกถามหาผู้ปกครองเพื่อขอเลือด
ข้าพเจ้าหยุดนิ่งไปครู่ใหญ่ เกิดการต่อสู้ภายในจิตใจของตนเองว่า “เอ๊ะ
อะไรกัน ช่วยมาขนาดนี้แล้ว จะมาขอเลือดของเราอีกหรือ?” ข้าพเจ้าเองก็ผอมๆ อยู่อย่างนี้แล้ว
จะให้เลือดได้อย่างไร?
...รถยนต์ก็บริการแล้ว
สตางค์ก็จ่ายมาสองโรงพยาบาลแล้ว และยังต้องอดหลับอดนอนเป็นโชเฟอร์ขับรถมาตลอดทาง..
แต่ถ้าปฏิเสธก็รู้สึกกระไรอยู่ เพราะเราเป็น “พ่อ” สัตบุรุษทุกคนในวัดเรียกเราว่า “คุณพ่อ”
และ “เจ้าถาก็เป็นก็เป็นเด็กกำพร้ามาอาศัยข้าววัด มันเป็นเด็กวัด
ก็ลูกของเรานี่แหละ”
ยิ่งกว่านั้นเกิดความคิดแวบเข้ามาในสมอง ข้าพเจ้าคิดถึงพระเยซูเจ้าผู้เป็นสงฆ์สูงสุด
พระองค์ยอมหลั่งเลือดเป็นพลีบูชาจนหยาดหยดสุดท้ายบนกางเขนเพื่อมอบชีวิตใหม่ให้แก่เรา
แล้วเราซึ่งเป็นสงฆ์ตามแบบของพระองค์จะไม่ยอมให้เลือดเพื่อมอบชีวิตหรือต่อชีวิตให้
“เจ้าถา” ได้อย่างไร
ขณะที่พยาบาลกำลังหันหลังเดินกลับไป
ข้าพเจ้าจึงรีบแสดงตัวร้องว่า “ผมนี่แหละคือผู้ปกครองของผู้ป่วย” พยาบาลจึงนำข้าพเจ้าไปเจาะเลือดทันที ข้าพเจ้าคิดในใจว่า
บัดนี้ข้าพเจ้าพร้อมแล้วที่จะสละเลือดของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะต้องจ่ายมิใช่เพียงแต่ความเหน็ดเหนื่อยและเงินทองเท่านั้น... แต่เมื่อตรวจกรุ๊ปเลือดปรากฏว่า
ไม่ตรงกับของผู้ป่วย จึงไม่เอา
แต่ข้าพเจ้าก็ดีใจที่ได้ตัดสินใจหรือตั้งใจที่จะให้แล้ว
แต่พระองค์ไม่ต้องการ...
ประมาณตีสอง พยาบาลคนหนึ่งมาแจ้งให้ทราบว่า “คนป่วยตายแล้ว
เพราะโรคไข้เลือดออก” อนิจจา! “เจ้าถาเด็กกำพร้าที่มีชีวิตอยู่แบบอดมื้อกินมื้อ
เพราะถูกบิดามารดาทิ้ง
บัดนี้เขาได้กลับไปอยู่กับพระเจ้าผู้เป็นบิดาแท้จริงของเขาแล้ว เขาจะอิ่มหนำและมีความสุขตลอดไปกับพระองค์” ข้าพเจ้าอดหลั่งน้ำตาไม่ได้
เมื่อรู้ว่าเขาจากไปอย่างน่าสงสาร
พอรุ่งเช้า ข้าพเจ้าก็จัดการทุกอย่าง
ชำระค่าพยาบาลและอื่นๆ ข้าพเจ้าจำศพ “เจ้าถา”
กลับวัดนาบัวตรงกับวันที่ 15
สิงหาคมพอดี เป็นวันครบรอบการได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ของข้าพเจ้า
แม้ข้าพเจ้าจะเหน็ดเหนื่อย อดหลับอดนอน และต้องจ่ายด้วยชีวิตจิตใจ
แต่ข้าพเจ้าก็มีความสุขใจมากที่สุดในชีวิตสงฆ์ของข้าพเจ้า มันเป็นของขวัญที่งดงามที่สุดที่พระเจ้าโปรดประทานแก่ข้าพเจ้า
เป็นวันที่ข้าพเจ้าพบคุณค่า ความหมาย และความสุขใจในชีวิตสงฆ์ของข้าพเจ้ามากที่สุด
มันเป็นการถวายมิสซาบูชาด้วยชีวิตจริงของข้าพเจ้าที่ต้องพลี
มันเป็นจอกกาลิกส์ที่บรรจุด้วยเลือดของข้าพเจ้าผสมเข้ากับพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อมอบชีวิตให้กับโลก นี่แหละคือความหมายของการเป็นสงฆ์
ข้าพเจ้าภูมิใจและมีความสุขใจเสมอเมื่อคิดถึงเหตุการณ์นี้
เพราะมันเป็นสิ่งสวยงามที่สุดชิ้นหนึ่งสำหรับชีวิตสงฆ์ของข้าพเจ้า สงฆ์เพื่อมวลชน
เพื่อผู้อื่น
มันกลายเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะเก็บความทรงจำที่สวยงามนี้ไว้
ตลอดไป
คุณพ่อสมพร
เป็นเจ้าอาวาสที่นาบัวเพียง 3 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1985-1988
(พ.ศ. 2528-2531) แต่ได้สร้างคุณประโยชน์สำหรับชาวนาบัวมากมาย
อาทิ โรงเรียนคำสอนและถังน้ำขนาดใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำฝนเพื่อเอาไว้ใช้ในฤดูร้อน โดยเฉพาะมรดกทางความเชื่อที่ยังคงเข้มแข็งและเป็นเชื้อแป้งสำหรับชาวนาบัวเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้คือ
กลุ่มโฟโคลาเร ซึ่งคุณพ่อได้ตั้งขึ้น เพื่อช่วยชาวนาบัวให้ดำเนินชีวิตตามพระวาจา
บนพื้นฐานของความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแบบพี่น้อง เฉกเช่นกลุ่มคริสตชนแรกของพระศาสนจักรในระยะเริ่มต้น
คุณพ่อสมพร เป็นคนที่รักธรรมชาติและชื่นชอบการปลูกต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจ
ช่วงเวลาที่คุณพ่ออยู่วัดนาบัวจึงเขียวชอุ่มด้วยไม้ดอกไม้ประดับ
ต้นไม้หลายต้นที่คุณพ่อปลูกเอาไว้ (ต้นคูณ) ด้วยความยากลำบากเพราะต้องไปขุดมาจากป่า
ได้เติบใหญ่ให้ร่มเงาและดอกที่สวยงามในปัจจุบัน เป็นที่น่าเสียดายที่พระเจ้าได้เรียกของขวัญชิ้นนี้ไปรับรางวัลก่อนวัยอันสมควร
เมื่อวันอังคารที่ 7
สิงหาคม ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ด้วยโรคปวดติดเชื้ออย่างรุนแรง ในวัย 55 ปี
ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบ้านเณรใหญ่แสงธรรม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาบัว ที่ยังกล่าวขวัญถึงแบบอย่างชีวิตที่ดีงามของคุณพ่อในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น