การส่งมิสชันนารีของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ไปแพร่ธรรม ในปี ค.ศ. 1923 |
125 ปี คริสตชุมชนนาบัว
1. ประวัติความเป็นมา
บ้านนาบัว ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่และมีประวัติความเป็นมายาวนานหมู่บ้านหนึ่งในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ที่จะถึง เป็นปีที่คริสตชุมชนแห่งนี้ฉลองครบรอบ “125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรม” โดยกำหนดการเฉลิมฉลองใน วันเสาร์ที่ 21 และวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) โอกาสครบรอบ 25 ปีแห่งมรณกรรมของ คุณพ่อปิแอร์ โกลาส์ ธรรมทูตคณะช่วยมิสซัง (S.A.M.) ที่ชาวนาบัวเคารพนับถือ เพื่อเป็นการเตรียมฉลองดังกล่าว จึงขอนำประวัติความเป็นมาของ “คริสตชุมชนนาบัว” มานำเสนอให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบ โดยเฉพาะลูกหลานชาวนาบัว
1.1 การก่อตั้งหมู่บ้าน
พระสังฆราชยอห์นบัปติสต์ โปรดม มิชชันนารีผู้บุกเบิกมิสซังลาว |
จากบันทึกของมิชชันนารีและคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ถ่ายทอดให้ลูกหลานสืบต่อมาตามคำเล่าของนายชาย บัวขันธ์ อายุ 86 ปี บิดาของคุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ ทำให้ทราบว่าบรรพบุรุษของชาวนาบัวอพยพมาจากเมืองเขมราฐและยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี ครอบครัวที่อพยพมาครั้งนั้นประกอบด้วยครอบครัวบิดาของนายสา นาแว่น ต้นตระกูล “นาแว่น”, ครอบครัวหลวงไชยเพชร ต้นตระกูล “วินบาเพชร”, ครอบครัวนายทิดนนท์และนายสังข์ แพงยอด ต้นตระกูล “แพงยอด”, ครอบครัวนายเชียงบา จันทร์สุนีย์ ต้นตระกูล “จันทร์สุนีย์” ซึ่งต่อมาได้เป็นครูสอนคำสอน
เมื่อมาถึงบ้านนาบัว ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ปะปนกับชาวบ้านเดิมที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วคือ ครอบครัวนายเชียงผง ทองใส ต้นตระกูล “ทองใส”, ครอบครัวบิดาของนายน้อย พิมพา ต้นตระกูล “พิมพา”, ครอบครัวผู้ใหญ่เพีย พิมพ์นาจ ต้นตระกูล “พิมพ์นาจ”, ครอบครัวบิดาของนายบัวพา บัวขันธ์ ต้นตระกูล “บัวขันธ์” หลังจากอยู่ที่นาบัวได้สักระยะหนึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านร้างทางทิศใต้ของนาบัวปัจจุบัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านขอมหรือข่า เนื่องจากเห็นว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำคือห้วยม่วง เรียกกันว่าบ้านม่วงคำ แต่เมื่อเห็นว่าบริเวณดังกล่าวทำให้ผู้คนเจ็บป่วยกันมาก จึงได้พากันย้ายกลับมาอยู่ที่นาบัวเช่นเดิม
เมื่อมีคนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก ทุกคนต่างเชื่อกันว่ามาจากการกระทำของผีร้าย ทำให้เกิดความหวาดกลัว กระทั่งได้ทราบข่าวว่ามีหมอสอนศาสนาฝรั่งซึ่งไม่กลัวผีเลย ยิ่งกว่านั้น ถ้าใครได้เข้ารีตกับฝรั่ง ผีไม่สามารถทำอันตรายหรือรบกวนได้เลย บรรพบุรุษของชาวนาบัวเกิดความสนใจจึงได้ส่งคนไปติดต่อกับคุณพ่อมิชชันนารีที่บ้านกุดจอกใหญ่ ตำบลวาใหญ่ (อำเภออากาศอำนวย) ซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก
1.2 การกลับใจ
จากบันทึกประวัติวัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม นครพนม ของ คุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ รองแดล เจ้าอาวาสในสมัยนั้นพบว่า คุณพ่อได้รับสมัครผู้กลับใจจากบ้านนาบัวและบ้านกุดจอกในเขตจังหวัดสกลนคร ในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จึงแน่ใจได้ว่าคริสต์ศาสนาเข้ามาที่บ้านนาบัวในปีดังกล่าว ดังนั้น ปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเชื่อและการประกาศพระวรสารที่นาบัว
คุณพ่อซาเวียร์ เกโก เพื่อนผู้ร่วมงานแพร่ธรรมของพระสังฆราชโปรดม |
ในบันทึกของปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ได้บอกให้เราทราบว่า บ้านนาบัวและกุดจอกทำให้คุณพ่อรองแดลรู้สึกหนักใจมาก เพราะต้องเดินทางขี่ม้าจากบ้านคำเกิ้มเป็นเวลาสองวันกว่าจะถึง จึงอยากให้มีผู้อยู่ประจำสำหรับดูแลเอาใจใส่สองหมู่บ้านนี้ ที่สุดได้ เปโตร จานพิมพ์ ซึ่งเคยบวชเป็นพระภิกษุมาก่อน คุณพ่อรองแดล ได้มอบหมายให้จานพิมพ์ไปสอนคำสอนแก่ผู้ที่ประสงค์จะกลับใจที่นาบัวและกุดจอก ซึ่งขณะนั้นเป็นเหมือนฝูงแกะที่ปราศจากผู้เลี้ยง
1.3 การก่อตั้งกลุ่มคริสตชน
เปโตร จานพิมพ์ ได้ออกเดินทางไปนาบัวในปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) เพื่อสอนคำสอนผู้สมัครใจเป็นคริสตชน บันทึกศีลล้างบาปแรกที่นาบัวลงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) หลังจากนั้นกลุ่มคริสตชนนาบัวและกุดจอกได้ถูกโอนให้มาขึ้นอยู่กับศูนย์ท่าแร่ในปีนั้นเอง ต่อมาไม่นาน จานพิมพ์ ได้กลับไปอยู่บ้านดอนโดน (เกาะกลางลำน้ำโขงเหนือตัวเมืองนครพนม) ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองท่าแขก และถึงแก่กรรมเยี่ยงนักบุญห้อมล้อมด้วยลูกหลานในปี ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465)
พระสังฆราชยัง มารีย์ กืออ๊าส พระสังฆราชองค์แรกของมิสซังลาว |
นอกนั้น ยังมีบทความชิ้นหนึ่งบันทึกไว้ว่า ชาวบ้านนาบัวเมื่อเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านมีจำนวนทั้งหมด 5 ครอบครัว ซึ่งมาจากเมืองวานรนิวาสและเมืองยโสธร ในบันทึกรายงานประจำปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) พระสังฆราชยอแซฟ-มารีย์ กืออ๊าส ได้เขียนไว้ว่า บ้านช้างมิ่ง บ้านนาบัว บ้านกุดจอก บ้านดอนทอย บ้านแก่งราบ ทั้งหมดนี้ คุณพ่อกองเตและคุณพ่อกราเซียง เป็นผู้ดูแล คุณพ่อกองเตได้สร้างวัดหลังแรกเป็นวัดชั่วคราวขึ้นบริเวณบ้านของนายลิขิต (วินบาเพชร) ต่อมาคุณพ่อได้สร้างวัดหลังที่สองขึ้นด้วยไม้บริเวณสนามวัดปัจจุบัน
ลักษณะของวัดไม้ที่ก่อสร้างในอดีต |
ต่อมาภายหลัง คุณพ่อกราเซียง ได้ส่งครูเชียงน้อย มาเป็นครูสอนคำสอนประจำที่นาบัว ครูเชียงน้อยได้แต่งงานกับนางสาวอ้วน (ย่าของนายชาย บัวขันธ์) และอพยพครอบครัวไปอยู่ที่บ้านสร้างคำ ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย พร้อมกับครอบครัวนายทิดนนท์และครอบครัวหลวงไชยเพชร เมื่อคุณพ่อกราเชียง ได้มาเยี่ยมนาบัวอีกจึงไม่พบ หลังจากทราบว่าพวกเขาอพยพไปอยู่ที่สร้างคำ คุณพ่อได้ขี่ม้าตามไปเยี่ยมและชักชวนให้กลับมาอยู่ที่นาบัว โดยให้เหตุผลว่าทำเลที่ตั้งบ้านนั้นสู้นาบัวไม่ได้ ดังนั้น นายทิดนนท์ หัวหน้ากลุ่มได้เชื่อฟังและย้ายกลับมาอยู่ที่นาบัวตามคำขอร้องของคุณพ่อ
เมื่อเห็นว่าจำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น พระสังฆราชยอห์นบัปติสต์ โปรดม ได้ส่งคุณพ่อบารีโยส มาอยู่ประจำที่นาบัวจนถึงปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) คุณพ่อเป็นผู้ที่มีความขยันเอาใจใส่ในการเผยแพร่ศาสนามาก มีผู้คนมาขอเรียนคำสอนเพื่อกลับใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนที่เคร่งครัดมาก ทำให้ครอบครัวเดิมที่ไม่กลับใจต้องย้ายออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่คือ บ้านวังอี่เหี้ยน (บ้านยางโก่ง) ต่อมาได้ย้ายไปตั้งอยู่ทางฟากแม่น้ำโนดคือบ้านโคกก่อง อยู่คนละฟากกับบ้านอีเหี้ยน บางครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านหนองแวง บ้านศรีสว่าง และบ้านดอนกอย ต่อมาคุณพ่อได้สร้างวัดใหม่หลังที่สามเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนคริสตชนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ยังสร้างไม่เสร็จเพราะต้องย้ายไปอยู่ที่บ้านแก่งสะดอก ประเทศลาว
คุณพ่อยวง สต๊อกแกร์ |
ทางมิสซังได้มอบหมายให้คุณพ่อยวง สต็อกแกร์ เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย อำเภออากาศอำนวย ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวอีกตำแหน่งหนึ่งในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) คุณพ่อสต็อกแกร์ ได้ดำเนินการสร้างวัดหลังที่สามซึ่งทำด้วยไม้หลังคามุงแฝกจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้คุณพ่อได้ยึดเอาที่นาคืนจากชาวพุทธที่ย้ายออกจากนาบัวไปอยู่ที่อื่น แม้ต่อมาหลายครอบครัวได้กลับมาอยู่ที่นาบัวอีก (เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้) แต่ไม่มีใครได้รับที่นาคืน ดังนั้น ที่นาเดิมของพวกเขาจึงตกเป็นของวัด อย่างไรก็ดี ชาวพุทธเหล่านั้นเมื่อมาอยู่นาบัวได้เรียนคำสอนและรับศีลล้างบาป ดำเนินชีวิตเป็นคริสตชนที่ดีสืบต่อมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน
คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ แท่ง ยวงบัตรี |
ปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) พระสังฆราชอังเยโล-มารีย์ แกวง ได้แต่งตั้ง คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง ยวงบัตรี ซึ่งเพิ่งได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์มาเป็นผู้ช่วยคุณพ่อลากอล์ม ที่วัดพระตรีเอกานุภาพ ช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม โดยมอบหมายให้ดูแลวัดนาบัวด้วย ที่สุด พระสังฆราชแกวง ได้แต่งตั้ง คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ แท่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวอย่างเป็นทางการ ตลอดเวลา 18 ปีที่อยู่นาบัวคุณพ่อได้พัฒนาวัดและหมู่บ้านหลายอย่างให้เจริญก้าวหน้า เช่น ตัดถนนและวางผังหมู่บ้านอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทางด้านศาสนาคุณพ่อได้ตั้งกลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มเยาวชนชาย-หญิง
พระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง พระสังฆราชองค์ที่ 3 ของมิสซังลาว |
นอกจากนั้น คุณพ่อแท่งยังมีพรพิเศษในการรักษาคนป่วยด้วยยาเซียงเมี่ยง ทำให้มีผู้คนจำนวนมากมารับการรักษาจากคุณพ่อที่วัด บางรายเมื่อหายจากโรคแล้วได้เรียนคำสอนกลับใจ เช่น นายเทพ ขันละ ในระหว่างเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน คุณพ่อได้ถูกทางราชการจับกุมและขังคุกหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งคุณพ่อถูกจับขณะขุดเจาะบ่อบาดาลที่บ้านโพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ในข้อหาขุดค้นวัตถุโบราณและนำไปขังคุกที่อุดรธานี ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติคุณพ่อได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวต่ออีก 2 ปี จากนั้นได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
คุณพ่อเปโตร วันดี พรหมสาขา ณ สกลนคร |
ปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) คุณพ่อเปโตร วันดี พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้มาเป็นเจ้าอาวาส โดยอยู่ประจำที่วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย คุณพ่อเดินทางไปมาระหว่างนาบัวกับดอนทอยเป็นเวลา 2 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของคุณพ่อ พระสังฆราชเกลาดีอุส บาเย ได้ส่งคุณพ่อรากัสซี มาเป็นผู้ช่วย และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอย่างเต็มตัวในปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ในช่วงเดียวกันนี้เองภคินีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ได้ส่งภคินีมาช่วยงานที่วัดนาบัว กระทั้งปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2497) มีการแยกมิสซังใหม่เป็น 3 มิสซังคือ มิสซังท่าแร่ มิสซังอุบลราชธานี และเทียบเท่ามิสซังอุดรธานี คุณพ่อจึงได้ย้ายไปทำงานที่มิสซังอุบลราชธานี
คุณพ่อแยร์แมง แบร์ทอลด์ |
เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) คุณพ่อแยร์แมง แบร์ทอลด์ (ต่อมาได้เป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลอุบลฯ) ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ตั้งคณะพลมารีที่นาบัว โพนสวาง และบะทอง โดยออกติดตามเอาใจใส่คริสตชนที่กระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เช่น ที่บ้านบะทอง วังเยี่ยมและกุดเรือคำ คุณพ่ออยู่ที่วัดนาบัวเพียงหนึ่งปีเท่านั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อประจำบ้านเณรฟาติมา ท่าแร่ สกลนคร
คุณพ่อยอแซฟ อินทร์ นารินรักษ์ |
หลังคุณพ่อแบร์ทอลด์ย้ายไป คุณพ่อยอแซฟ อินทร์ นารินรักษ์ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสแทน คุณพ่อได้เอาใจใส่ดูแลคริสตชนชาวนาบัวด้วยความร้อนรนและได้ต่อเติมหน้ามุขของวัดให้เต็มสามห้องเพื่อจะได้สะดวกสำหรับการเข้าวัด จากนั้น คุณพ่อยอแซฟ อินตา นันสีทอง ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัวเป็นเวลานานถึง 9 ปี คุณพ่อรักการทำไร่ทำนาเป็นชีวิตจิตใจ โดยรับลูกจ้างหลายคนมาช่วยทำนาที่นาบัว กล่าวกันว่า คุณพ่อได้เก็บสะสมเงินที่ได้จากการขายข้าวในแต่ละปีเป็นทุนสำหรับการก่อสร้างวัดหลังใหม่
คุณพ่อยอแซฟ อินตา นันสีทอง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น