วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

การติดตามพระคริสตเจ้า

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา ปี C

การประชุมของคณะโฟโคลาเรจากวัดนาบัว, โพนสวาง และ สปปล.
บทอ่านที่ 1: ปชญ 9:13-18ข
บทอ่านที่ 2: ฟม 9-10, 12-17
พระวรสาร: ลก 14:25-33

บทนำ

ชายคนหนึ่งฝันว่า เขาเห็นพระเยซูเจ้าแบกกางเขนจึงวิ่งไปหาพระองค์ทูลว่า “ผมจะช่วยแบกกางเขนของพระองค์ให้ครับ” แต่พระเยซูเจ้าทรงเมินเฉยยังคงแบกกางเขนของพระองค์ต่อไป เขาไม่ละความพยายาม ทูลพระองค์ต่อไปว่า “ขอผมช่วยแบกกางเขนของพระองค์ นะครับ” พระเยซูเจ้ายังคงเดินแบกกางเขนต่อไปด้วยความยากลำบาก หลังจากที่ชายคนนั้นเซ้าซี้อยู่นาน พระองค์จึงหยุดหันมาตอบว่า

“ลูกเอ๋ย ขอบใจที่อาสาจะแบกกางเขนของเรา กางเขนนี้เป็นของเราที่ต้องแบก ส่วนของเจ้าวางอยู่บนพื้นตรงที่เราพบกันครั้งแรก จงกลับไปแบกกางเขนของเจ้าเถิด” ชายคนนั้นมองกลับไปยังจุดที่ตนพบพระเยซูเจ้าในตอนแรก เป็นจริงตามที่พระองค์ตรัส กางเขนของเขาวางทิ้งไว้ข้างทาง เขาจึงวิ่งกลับไปแบกกางเขนนั้นและรีบเดินตามพระองค์

เมื่อตามพระเยซูเจ้าทัน ชายนั้นรู้สึกประหลาดใจจึงถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า ผมแบกกางเขนของผมมาแล้ว ตอนนี้กางเขนของพระองค์อยู่ไหนครับ ผมไม่เห็นกางเขนบนบ่าพระองค์เลย” พระเยซูเจ้ายิ้มและตอบว่า “ลูกเอ๋ย เมื่อเจ้าแบกกางเขนของเจ้าอย่างดีแล้ว นั่นแหละคือกางเขนของเรา กางเขนของเราจะอยู่บนบ่าของเจ้าแทน จงแบกกางเขนของเจ้าให้ดีเถิด”

ทุกครั้งที่เรามาร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและรับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท เป็นการยืนยันว่าเราได้ดำเนินชีวิตตามพระวรสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื้อเชิญของพระคริสตเจ้าให้แบกกางเขนของตนติดตามพระองค์ เราจะสามารถบรรลุถึงการเป็นศิษย์ที่สมบูรณ์ของพระคริสตเจ้าได้ ผ่านทางการแบกกางเขนของตน ไม่ติดใจในสิ่งของใดๆ ในโลกนี้ และติดตามพระองค์อย่างสิ้นสุดจิตใจ
สมาชิกบางส่วนที่มาประชุม เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2010

1. บทเรียนจากโอเนซิมัส

ในบทอ่านที่ 2 ของวันนี้ เปาโลได้เขียนจดหมายถึงฟิเลโมน ชาวเมืองโคโลสี ซึ่งเป็นผู้ที่เปาโลได้สอนให้กลับใจมาเชื่อพระเยซูเจ้า ฟิเลโมน เป็นคริสตชนผู้มีฐานะมั่งคั่ง ทุกวันอาทิตย์บรรดาคริสชนจะมารวมตัวที่บ้านของเขาเพื่อทำพิธีบิปัง เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ขณะถูกจองจำที่โรม ซึ่งแม้จะเป็นจดหมายที่สั้นมาก (เพียง 24 ข้อ) แต่ได้แสดงให้เห็นถึงหลักปฏิบัติที่สำคัญของคนที่เป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า

โอเนซิมัส เป็นทาสคนหนึ่งของฟิเลโมน เขาได้กระทำความผิดและหนีการลงโทษ จนกระทั่งได้พบกับเปาโลที่โรม ที่แม้จะเป็นนักโทษในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เปาโลไม่ได้ถูกจองจำ เพียงแต่ถูกกักบริเวณในบ้านหลังหนึ่งมีทหารคอยดูแล (กจ 28:30) ยังคงมีอิสรภาพที่จะเทศน์สอน เปาโลจึงได้เจอกับโอเนซิมัส ได้สอนเขาให้ตระหนักถึงความผิดที่ได้กระทำ (ขโมยเงินและหนีจากนาย) และล้างบาปให้

จากนั้น เปาโลได้ส่งโอเนซิมัสกลับไปหาฟิเลโมนนายเก่าของเขา ไม่ใช่ในฐานะทาส แต่ในฐานะน้องชายอันเป็นที่รัก (เสมือนดวงใจของตน) เปาโลได้เตือนฟิเลโมนให้ตระหนักว่า ในสายพระเนตรของพระคริสตเจ้าไม่มีความแตกต่างระหว่างทาสและไท ทั้งนี้เพราะพระคริสตเจ้าได้ปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสของบาป และทำให้พวกเขากลายเป็นบุตรของพระเจ้าแล้วผ่านทางศีลล้างบาป
กลุ่มเด็ก ที่เข้าร่วมกิจกรรมในโอกาสเดียวกัน

2. การติดตามพระคริสตเจ้า

ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่า บิดามารดา ภรรยา บุตร พี่น้องชายหญิง และแม้พระทั่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นเป็นศิษย์ของเราไม่ได้” (ลก 14:26) โดยธรรมชาติมนุษย์ ทุกคนต่างรักชีวิตของตน ไม่มีสิ่งไหนที่มีค่ามากกว่าการมีชีวิตอยู่ หากไม่มีชีวิตแล้ว ทุกสิ่งที่มีอยู่ล้วนไร้ค่า ถัดจากชีวิตของตนก็เป็นครอบครัว (บุตร ภรรยา พี่น้องชายหญิง) ต่อมาจึงเป็นข้าวของทรัพย์สมบัติ (เงินทอง บ้าน รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ)

พระเยซูเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้เราเกลียดชีวิตของตน (จนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย) หรือเกลียดชังบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น บิดามารดา บุตร ภรรยา พี่น้องชายหญิง แต่พระองค์ต้องการเตือนใจเราว่า เราจะต้องรักพระเจ้ามากกว่า พระเจ้าต้องสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา เพราะเป้าหมายแห่งชีวิตมนุษย์คือการเข้าในอาณาจักรของพระเจ้า เราจะไม่สามารถเป็นศิษย์ที่แท้จริงของพระองค์ได้หากเราให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากกว่าพระองค์ และนี่คือเงื่อนไขประการแรกในการติดตามพระองค์

เงื่อนไขประการที่สองคือ การแบกกางเขนของตนแล้วติดตามพระองค์ (ลก 14:27) ทุกครั้งที่เราแบกกางเขนของตน ก็เท่ากับว่าเราได้แบกกางเขนของพระเยซูเจ้า ดังนั้น ความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตจึงมีความหมายสำหรับเราคริสตชน เพราะนั่นคือ ท่อธารแห่งพระพรที่นำเราให้ชิดสนิทและเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ประการสำคัญ ทำให้เราร่วมส่วนในพระมหาทรมานขององค์พระผู้ไถ่
การแบ่งปันประสบการณ์ การดำเนินชีวิตตามพระวาจา

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าได้ให้แนวทางในการเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ นั่นคือ การรักพระองค์มากกว่าสิ่งอื่นใด พระเจ้าต้องสำคัญที่สุดและเป็นที่หนึ่งในชีวิตของเรา เมื่อเราดำเนินชีวิตในความรักของพระเจ้า เราก็จะปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนเป็นพี่น้องที่มีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน ไม่มีทาส ไม่มีไท ไม่มียิว ไม่มีกรีก แต่ทุกคนคือพี่น้องที่เท่าเสมอกันต่อหน้าพระเจ้า

ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า จะต้องปฏิเสธตนเองและแบกกางเขนของตน พระเยซูเจ้าทรงเลือกหนทางแห่งไม้กางเขน เพื่อนำชัยชนะคือความรอดพ้นมาสู่เรา ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์แต่ละคน เพื่อจะบรรลุถึงเป้าหมายสุดท้ายนี้จำเป็นต้องผ่านหนทางแห่งไม้กางเขน เราจะทำอย่างไรเพื่อให้กางเขนเป็นหนทางแห่งชัยชนะสำหรับชีวิตของเรา

ขอให้เราได้ติดตามพระคริสตเจ้า ในความรักต่อกัน เป็นต้นในครอบครัว ในที่ทำงาน ในหมู่คณะมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมที่จะให้อภัยความผิดของกันและกันเสมอ เพราะนี่แหละคือเครื่องหมายของการเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแบกไม้กางเขนของตน น้อมรับความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตเพื่อร่วมส่วนในพระมหาทรมานของพระองค์ ดังนี้ เราจะเป็นศิษย์ที่แท้ของพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
04 กันยายน 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น