วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บทเรียนจากคิม ฟุค และมหันตภัยของสงคราม


บทเรียนจาก คิม ฟุค และมหันตภัยของสงคราม
การได้มีโอกาสเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สงคราม ณ นครโฮจิมินห์เมื่อไม่นานมานี้ นอกจากได้ชมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่จัดแสดงแล้ว  ยังได้เห็นภาพถ่ายที่สะเทือนใจของบรรดาช่างภาพจากนานาชาติ ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในสมรภูมิเวียดนาม เพื่อสะท้อนแง่มุมต่างๆ ของสงครามที่ไม่เคยปราณีใครผ่านทางภาพถ่าย ซึ่งภาพหนึ่งภาพสามารถสื่อความหมายที่ไม่สามารถบรรยายได้ด้วยคำพูด ดังสำนวนที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดนับพันคำ (A picture is worth a thousand words.) แม้จะพูดกันคนละภาษา แต่สามารถเข้าใจกันได้จากภาพถ่าย
ภาพที่สะเทือนโลก
หลังจากได้ดูผลงานต่างๆ ที่จัดแสดง ที่สุดได้มาหยุดอยู่ตรง “ภาพเด็กผู้หญิงเนื้อตัวล่อนจ้อนวิ่งร้องไห้หนีตาย พร้อมกับเด็กๆ และชาวบ้าน ท่ามกลางทหารอเมริกันและกลุ่มควันระเบิดที่กำลังพวยพุ่ง” ซึ่งภาพนี้เป็นที่รับรู้และสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนทั่วโลก เป็นภาพที่ นิค อุ๊ต (Nick Ut) นักข่าวอเมริกันจากสำนักข่าวเอพี (AP) ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1972 เวลา 14.00 น. ขณะอยู่บนถนนของหมู่บ้านเล็กๆ เชื่อมต่อกับตรั่งบ่าง (Trng Bàng) ในจังหวัดเตยนินห์ (Tây Ninh) ทางตะวันออกของเวียดนามใต้ ภายหลังการทิ้งระเบิดนาปาล์มของเครื่องบินทิ้งระเบิด 2 ลำของกองทัพสหรัฐฯ
ระเบิดนาปาล์ม 8 ลูกที่ทิ้งในวันนั้นได้เผาผลาญบ้านเรือน ทำให้หลายชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กถูกไฟเผาอย่างเจ็บปวด บ้างร้องไห้วิ่งออกจากเพลิงนรกด้วยความหวาดกลัวอย่างสุดชีวิต ในเสี้ยววินาทีนั้น นิค อุ๊ต ได้บันทึกภาพสะเทือนโลกในนาทีแห่งความเป็นความตายของ ฟาน ถิ่ คิม ฟุก (Phan Thi Kim Phuc) เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ในร่างกายเปลือยเปล่า ลำตัวของเธอบางส่วนกำลังติดไฟและถูกเผาไหม้ แม้ว่าเธอจะถอดเสื้อผ้าทิ้งไปแล้วก็ตาม คุณค่าของภาพนี้ทำให้ นิค อุ๊ต ได้รับภาพข่าวรางวัลพูลิซเซอร์ (Pulitzer Price) ในปี ค.ศ. 1972 และทำให้โลกตระหนักถึงมหันตภัยของสงคราม

เมื่อหนูน้อยวิ่งมาถึง นิค อุ๊ต พบว่าผิวหนังของเธอหลุดลุ่ย คอ แผ่นหลังเกือบทั้งหมดและแขนซ้ายไหม้เกรียม เขาจึงรีบนำเธอและเด็กๆ ส่งโรงพยาบาล ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นคือ พี่น้อง 2 คนของเธอเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ส่วนเธอต้องพบกับความทรมานแสนสาหัสจากการที่ร่างกายถูกเผาไหม้กว่า 65 เปอร์เซ็นต์ จนแพทย์ลงความเห็นว่าไม่น่ารอด แต่เธอสามารถผ่านวิกฤตชีวิต อดทนกับการรักษาที่ยาวนานกว่า 14 เดือน ผ่านการผ่าตัดกว่า 17 ครั้ง โดยได้รับกำลังใจจากคุณแม่ที่เฝ้าดูแลข้างเตียงด้วยความหวัง และกำลังใจจาก นิค อุ๊ต ซึ่งแวะมาเยี่ยมเสมอ ในช่วงที่ทำงานที่เวียดนาม
เมื่อเธอออกจากโรงพยาบาล บาดแผลดูเหมือนหายแล้ว แต่แผลเป็นยังอยู่กับจิตใจที่บอบช้ำและทุกข์ระทม เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนนั้นอยากจะตาย เพราะคิดว่าหากเธอตายไปจะได้ไม่ต้องทนทรมานทั้งร่ายกายและจิตใจอีกต่อไป เธอเริ่มแสวงหาคำตอบของชีวิตด้วยการศึกษาศาสนา อ่านหนังสือคำสอน และที่สุด เมื่ออายุ 19 ปีได้กลับใจเป็นคริสตชน ทำให้เธอพบคำตอบว่า ชีวิตมีความหมายและอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป การเป็นคริสตชนนี่เองทำให้เธอมีความสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าและเพื่อนพี่น้อง และ “เรียนรู้ที่จะให้อภัย”
แบบอย่างของการให้อภัย
วันหนึ่งในปี ค.ศ. 1996  คิม ฟุค ได้มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าอดีตทหารอเมริกัน ซึ่งเคยผ่านสมรภูมิเวียดนาม เธอได้รับเชิญให้มาพูดเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การได้มาเผชิญหน้ากับบุคคลซึ่งเป็นผู้ทำลายบ้านเกิดเมืองนอน ทำให้ญาติพี่น้องต้องเสียชีวิตและเกือบฆ่าเธอให้ตายตามกัน ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสามารถทำใจได้ง่ายๆ แต่ผู้หญิงคนนี้ได้มาเพื่อเป็นตัวแทนบอกกับสังคมโลกว่า สงครามได้ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนอย่างไรบ้าง
หลังจากที่เล่าถึงประสบการณ์อันร้าวรานของเธอแล้ว คิม ฟุค ได้เผยความในใจว่ามีสารที่จะส่งไปถึงนักบินทิ้งระเบิดซึ่งเป็นผู้มอบเพลิงเคมีจากนาปาล์ม ทำลายทุกสิ่งในชีวิตให้ย่อยยับในวันนั้น เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้มีคนส่งข้อความบอกว่าคนที่เธอต้องการพบกำลังนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ด้วย เธอกล่าวต่อว่า ฉันต้องการบอกเขาว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่เราควรพยายามทำสิ่งดีๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เมื่อการบรรยายจบลง คิม ฟุค ได้ลงจากเวที เธอได้พบกับอดีตนักบินคนนั้นซึ่งมายืนอยู่เบื้องหน้าเธอ ปัจจุบันเขาไม่ใช่นักบินหนุ่มที่ทำงานตามคำสั่งของกองทัพอีกต่อไป แต่เป็นศาสนาจารย์ชราผู้ใช้ชีวิตอย่างสงบในโบสถ์แห่งหนึ่ง ชายชราพูดด้วยสีหน้าเจ็บปวดว่า ผมขอโทษ ผมขอโทษจริงๆ คิม ฟุค เข้าไปโอบกอดอดีตศัตรูผู้ทำลายชีวิตของเธอ ถอนหายใจแล้วค่อยๆ ปลอบเขาว่า ไม่เป็นไร ฉันฉันให้อภัยคุณ
คิมฟุค กล่าวกับชายชราว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความทุกข์ทรมานแก่เธอทั้งกายและใจ จนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร แต่แล้วเธอค้นพบว่าสิ่งที่ทำร้ายเธอจริงๆ มิใช่ใครที่ไหน นอกจากความเกลียดชังที่ฝังแน่นในใจ “…ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดชังเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้ จึงพยายามภาวนาและแผ่เมตตาให้ผู้คนที่ก่อความทุกข์ให้กับฉัน มันคือสิ่งบริสุทธิ์ที่ทำให้พบว่าหัวใจของฉันอ่อนโยนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเรียนรู้ได้ถึงหลักของการให้อภัย โดยสามารถขจัดความเกลียดชังออกไปได้
ปัจจุบัน คิม ฟุค ได้ลี้ภัยไปอยู่ประเทศแคนาดาและถือสัญญาชาติแคนาดา อาศัยอยู่ในโตรอนโตกับครอบครัวที่อบอุ่น คิม ฟุค ยอมรับว่าภาพถ่ายนั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเธออย่างแท้จริง โดยที่ไม่สามารถจะจินตนาการณ์ได้เลย เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้แยกเธอออกจากเด็กคนอื่นๆ ในสงครามที่โหดร้าย มีเด็กเป็นจำนวนมากซึ่งได้รับบาดเจ็บเช่นเดียวกับเธอ แต่พวกเขาไม่ได้ถูกถ่ายรูป เธอจึงได้รับสิทธิพิเศษที่ได้รับการรักษา และได้เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีที่เข้าร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั่วโลก
บทเรียนจาก คิม ฟุค
คิม ฟุค ได้ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นเมื่อไม่นานมานี้ (25 มิถุนายน 2015) “ฉันต้องขอบคุณพระเจ้าอย่างแท้จริงที่ทรงไว้ชีวิตฉันเมื่อฉันเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ แน่นอนว่าฉันยังเจ็บปวด ยังมีแผลเป็น และยังจดจำเรื่องราวต่างๆ แต่หัวใจของฉันได้รับการเยียวยา” เธอได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ฉันมีสารสำหรับผู้คนที่ได้ดูรูปนี้ ต้องไม่พยายามที่จะดูเธอขณะกำลังร้องให้ด้วยความเจ็บปวดและหวาดกลัว ต้องไม่มองเธอว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงคราม แต่ขอให้มองเธอเป็นสัญลักษณ์สำหรับสันติภาพ” http://edition.cnn.com/2015/06/22/world/kim-phuc-where-is-she-now/
“อดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” เราจึงไม่ควรจมปลักอยู่กับอดีต แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีต เพื่อทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้นได้ และบทเรียนจากอดีตอย่างหนึ่งที่ คิม ฟุค ได้เรียนรู้คือ การอยู่กับความโกรธ ความเกลียดชัง และความขมขื่นนั้น ทำให้เธอเห็นคุณค่าของการให้อภัย สมดังชื่อของเธอ คิม ฟุค (Kim Phuc) ซึ่งแปลว่า ความสุขดุจทองคำ (Golden Happiness)” อันเป็นการแสดงออกด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งของผู้หญิงตัวเล็กๆ ซึ่งสามารถเอาชนะ ความเกลียดชัง ในหัวใจได้ด้วย “การให้อภัย”
ในการไปพูดตามที่ต่างๆ คิม ฟุค มักพูดเสมอว่า “การให้อภัยรุนแรงกว่าระเบิดนาปาล์ม การให้อภัยทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าอาวุธสงครามใดๆ” ขอให้เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกัน เพื่อเราจะได้มีจิตใจที่สุขสงบเช่นเดียวกับ คิม ฟุค ในอันที่จะช่วยกันทำให้ครอบครัว สังคมและโลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, ป่าพนาวัลย์
5 สิงหาคม 2015

1 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องราวการให้อภัยของฉัน
    เกิดจากการที่ฉันกับเพื่อนเข้าใจผิดกันมาตลอดเวลา2ปีไม่คุยไม่พุดไม่มีการทักทายใดๆเลยทั้งๆที่เมื่อก่อนเป็นเพื่อนรักกันมาก่อนเพราะการไม่เข้าใจกันทางคำพุดที่ฟังจากคนอื่นต่างคนต่างโกดกันไม่คุยกันเลยเราเลือกจะเลิกคบไม่นับญาติอะไรทั้งนั้น ความจริงก้อผิดกันทั้งคู่และเขาก้มาคุยกับเรื่องแร้วเราก้อให้อภัยเขาย้อนเวลากลับไปได้ก้จะฟังกันให้มากกว่านี้จะได้ไม่ทะเลาะกัน

    ตอบลบ