วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อาสนวิหารนอทรดามและอุโมงกู๋จี


เวียดนามภาคใต้
(บันทึกการเดินทางไปแสวงบุญเวียดนามใต้ 27-31 กรกฎาคม 2015)
6.         อาสนวิหารนอทรดาม
วันสุดท้ายของการแสวงบุญที่เวียดนามภาคใต้ (31 กรกฎาคม 2015) เริ่มด้วยการไปถวายพิธีบูชาขอบพระคุณพระเจ้า ที่อาสนวิหารนอทรดาม (Notre Dame) หรืออาสนวิหารแม่พระ ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญและสัญลักษณ์ของนครโฮจิมินห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมันใหม่ (Neo-Romanesque) เลียนแบบมหาวิหารนอทรดามแห่งกรุงปารีส ออกแบบโดยจี บูรัด (J. Buorad) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423)
นับเป็นอาสนวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในเวียดนาม และเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโดจีน กล่าวกันว่าวัสดุก่อสร้างทั้งหมดนำเข้าจากฝรั่งเศส แม้กระทั่งก้อนอิฐที่ใช้ยังขนส่งทางเรือมาจากมาร์แซย์ในฝรั่งเศส ทำให้อาสนวิหารแห่งนี้ยังคงยืนตระหง่านเหนือกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน เดิมทีเดียวหอคอยด้านหน้าทั้งสองข้างไม่มียอดแหลม ต่อมาในปี ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) ได้ต่อเติมสร้างเป็นหอระฆังสูง 57.6 เมตร เพื่อรองรับระฆัง 6 ใบ บนยอดสุดของแต่ละหอประดับด้วยกางเขนสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล



ภายในอาสนวิหารตกแต่งด้วยกระจกสีรูปพระเยซูเจ้า พระนางมารีย์และนักบุญต่างๆ ตามช่องหน้าต่าง สอดรับกับเพดานโค้งแบบโกธิกทำให้แลดูสวยงามชวนศรัทธา ด้านหลังพระแท่นใหญ่มีพระแท่นเก่าและตู้ศีลที่ทำจากหินอ่อนที่แกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง  คณะของพวกเราได้ถวายมิสซาบริเวณนี้ เหนือตู้ศีลขึ้นไปเล็กน้อยเป็นรูปแกะสลักแม่พระในวัยสาวขณะถวายตัวแด่พระเจ้า ทำจากหินอ่อนที่สื่อถึงความเป็นมารดาที่คอยโอบอุ้มและภาวนาเพื่อลูกของพระนางทุกคน
ตรงลานด้านหน้าอาสนวิหาร มีพระรูปแม่พระทำจากหินแกรนิตขาวนำเข้าจากประเทศอิตาลีในปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) ทำให้อาสนวิหารแห่งนี้เป็นดังวิหารแม่ที่เป็นศูนย์กลางความเชื่อศรัทธาของคริสตชนเวียดนาม และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไซ่ง่อนมาอย่างยาวนาน ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้คนจากทั่วประเทศให้มาเยือน อีกทั้งเป็นห้องเรียนกลางแจ้งให้บรรดาศิลปินหนุ่มสาวได้ฝึกขีดเขียนภาพลายเส้น และเป็นสตูดิโอใหญ่ให้บรรดาคู่แต่งงานได้ใช้เป็นฉากถ่ายภาพ



ที่ทำการไปรษณีย์กลาง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอาสนวิหารนอทรอดามเท่าใดนัก เป็นอาคารสถาปัตยกรรมสไตล์ฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง อาคารสีเหลืองเด่นหลังนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1886-1891 (พ.ศ. 2429-2434)  โดยสถาปนิกคนเดียวกันกับที่สร้างหอไอเฟลในฝรั่งเศสคือ กุสตาฟ ไอเฟล ตกแต่งด้วยงานเหล็กดัดสีเขียวเพดานโค้งดูโอ่อ่า ความยิ่งใหญ่ของตัวอาคารทำให้กลายเป็นที่ทำการไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารของชาวเวียดนามและต่างชาติ
พิพิธภัณฑ์สงคราม การได้มาเยี่ยมชมที่นี่ทำให้ได้เห็นถึงพิษภัยและความสูญเสียมหาศาลที่เกิดจากสงคราม เดิมทีเดียวอาคารหลังนี้เป็นสำนักข่าวสารอเมริกัน แต่ภายหลังการรวมชาติในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) รัฐบาลเวียดนามได้เปลี่ยนเป็น “พิพิธภัณฑ์อาชญากรรมสงครามจากอเมริกา” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายและบาดแผลที่สหรัฐฯได้กระทำกับชาวเวียดนาม แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์สงคราม ตามข้อตกลงทางการค้าที่ทำกับรัฐบาลสหรัฐฯ



ภายในอาคารได้จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ และภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงบาดแผลแห่งสงครามของช่างภาพ 134 คนจาก 11 ชาติ ซึ่งเสียชีวิตในสงคราม ภาพถ่ายที่น่าสะเทือนใจเหล่านี้สะท้อนมุมมองของคนที่มิใช่ชาวเวียดนาม ด้านนอกอาคารยังจัดแสดงอาวุธหนัก อาทิ เครื่องบินรบ รถถัง ปืนกล ปืนใหญ่ กิโยติลฯลฯ ทั้งของประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศคู่สงครามและประเทศรัสเซียที่ให้การสนับสนุนเวียดนาม
ตลอดระยะเวลา 17 ปี 2 เดือนที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามเวียดนาม ต้องสังเวยด้วยชีวิตทหาร 58,159 นาย และบาดเจ็บ 304,000 นาย ในขณะเดียวกันต้องใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลกว่า 676 พันล้านเหรียญในการทำสงคราม เป็นเหตุให้ชาวเวียดนามเสียชีวิต 3 ล้านคน (2 ใน 3 ล้านคนเป็นพลเรือน) 2 ล้านคนได้รับบาดเจ็บ และอีก 300,000 คนสูญหาย ไม่นับความเสียหายที่เกิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการใช้ฝนเหลืองมากกว่า 72 ล้านลิตร สารพิษและสารเคมีต่างๆ ที่ยังส่งผลตกค้างถึงปัจจุบัน



ทำเนียบประธานาธิบดี ทำเนียบแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ทำงานของข้าหลวงใหญ่แห่งฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ. 1868-1871 (พ.ศ. 2411-2414) และให้ชื่อว่า “ทำเนียบนโรดม” ตามชื่อเจ้านโรดมสีหนุเพื่อให้เกียรติชาวเขมรซึ่งเคยมีอิทธิพลมาก่อน ตามโยบายแบ่งแยกและปกครองของฝรั่งเศส แต่ผู้คนมักเรียกว่า “ทำเนียบข้าหลวงใหญ่ประจำภาคใต้” กระทั่งฝรั่งเศสแพ้สงครามที่เดียนเบียนฟูต้องถอนตัวจากเวียดนาม ทำเนียบแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ทำเนียบแห่งอิสรภาพ” และเป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรีโง ดิน เดียม แห่งเวียดนามใต้
สงครามทำให้ปีกซ้ายของทำเนียบได้รับความเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมได้ นายกรัฐมนตรีโง ดิน เดียม ได้สร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) แต่ไม่ทันได้ใช้เพราะถูกลอบสังหารจากฝ่ายต่อต้าน สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) สมัยนายกรัฐมนตรีเหงียน วัน เทียว ที่สุด วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) รถถังหมายเลข 843 และ 390 ของกองทัพแดงเวียดนามได้พุ่งชนประตูทำเนียบ สามารถปลดปล่อยเวียดนามใต้รวมเป็นเป็นหนึ่งเดียว สิ้นสุดการสู้รบอันยาวนานกว่า 30 ปี



7.         อุโมงค์กู๋จี อนุสรณ์แห่งความอดทนและชัยชนะ
อุโมงค์กู๋จี (Cuchi) เป็นอุโมงค์ใต้ดินเหมือนใยแมงมุมยาวกว่า 250 กิโลเมตร ที่ขุดด้วยแรงงานมนุษย์ทั้งหมด เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นสำคัญของกองทัพเวียดกง (Viet Cong) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ ในการต่อสู้กับชาติมหาอำนาจทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ช่วงสงครามปลดแอกตนเองจากฝรั่งเศสในทศวรรษที่ 1940 (พ.ศ. 2483)  พวกเวียดมินห์ใช้อุโมงค์นี้สู้กับฝรั่งเศส และช่วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาพวกเวียดกงได้ใช้เป็นฐานที่มั่นต่อสู้กับสหรัฐฯ แต่ได้ขยายโครงข่ายไปถึงปากแม่น้ำโขงอันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพสหรัฐฯ หน่วยที่ 25
ตลอดช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ กองทัพใต้ดินทั้งทหารและพลเรือนเวียดกงกว่า 18,000 คน ใช้ชีวิตอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินแห่งนี้ด้วยความยากลำบากนานนับปี จากที่ซ่อนตัวใต้ดินนี้เองที่พวกเวียดกงสามารถโผล่ขึ้นมาโจมตีทหารอเมริกันโดยไม่ทันรู้ตัว อุโมงค์กู๋จีจึงเป็นอนุสรณ์แห่งความอดทนและความมุ่งมั่นของชาวเวียดนามในการต่อสู้ขับไล่ผู้รุกราน อีกทั้งเป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจ เพราะนี่คือที่มั่นสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะเหนือชาติมหาอำนาจในที่สุด




อุโมงค์แต่ละแห่งขุดลึกลงไปใต้ดินกว่า 10 เมตร กว้าง 0.5-1 เมตร มีความลึก 3 ระดับ ชั้นบนสุดรับน้ำหนักรถถังได้ 50 ตัน ชั้นกลางทนต่อแรงระเบิดของกระสุนปืนครกได้ ส่วนชั้นล่างสุดไม่มีอะไรทำลายได้ ภายในอุโมงค์ประกอบด้วยห้องครัว ห้องประชุม ค่ายพัก โรงพยาบาลชั่วคราวและห้องเก็บของ อุโมงค์เหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความฉลาดและอุตสาหะของคนเวียดนามจนนำไปสู่ชัยชนะเหนือสหรัฐ เมื่อสงครามสงบลงได้มีการขยายขนาดและปรับปรุงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
รอบอุโมงค์ยังเต็มไปด้วยกับดักหลุมพราง ที่พร้อมคร่าชีวิตเหยื่อผู้พลาดท่าตกลงไปในทันที จากนั้นไกด์ได้พาไปชมทางลงอุโมงค์ซึ่งมีขนาดเล็กมาก คนรูปร่างใหญ่ไม่สามารถลงได้ ดูเผินๆ ไม่มีใครรู้เลยว่าพื้นดินที่ปกคลุมด้วยใบไม้แห้งจะมีทางลงอุโมงค์ และไปดูค่ายทหารจำลองเพื่อแสดงให้เห็นวิถีชีวิตและเครื่องนุ่งห่มผ่านหุ่นจำลอง ยังปรากฏซากรถถังอเมริกันรุ่น M41 ที่ถูกทำลาย กับดักและหลุมพรางแบบต่างๆ ว่ามีวิธีการทำงานอย่างไร ห้องทำระเบิดที่มีหุ่นจำลองเวียดกงกำลังทำงานอยู่ ก่อนจะมาลิ้มลองมันสัมปะหลังจิ้มเกลือ อาหารที่พวกเวียดกงใช้ยังชีพในอุโมง



บทส่งท้าย
การเดินทางไปแสวงบุญเวียดนามภาคใต้ รวม 5 วัน 4 คืนได้เดินทางมาถึงวันสุดท้าย พร้อมกับข้อเขียนตอนนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จและความประทับใจ อย่างน้อย คงทำให้ผู้อ่านและคริสตชนไทยได้เห็นถึงความเชื่อเข้มแข็งและความศรัทธาร้อนรนของคริสตชนเวียดนาม ในอันที่จะช่วยให้เราย้อนมองดูตัวเองและหาทางช่วยคริสตชนและพระศาสนจักรไทย ให้มีความเชื่อเข้มแข็งและความศรัทธาร้อนรนเช่นพระศาสนจักรเวียดนามบ้าง
เราจะต้องไม่ปล่อยให้โอกาสและความสะดวกสบายที่มีพร้อมทุกอย่างทำลายพระศาสนจักร แต่ต้องเป็นเครื่องมือช่วยให้เราทำงานเกิดผลและอุทิศตนมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรของพระศาสนจักรอย่างเราพระสงฆ์ ขอบคุณคริสตชนและพระศาสนจักรเวียดนามที่ช่วยจุดประกายความหวังให้บังเกิดขึ้น เพื่อว่าคริสชนและพระศาสนจักรไทยจะได้ไปถึงความเชื่อที่เติบโตเช่นนั้นบ้าง  “ตามเบียดเวียดนาม” (ลาก่อน เวียดนาม)




Don Daniele        ภาพ/เรื่อง
San Tomasso Ashram, ป่าพนาวัลย์
1 สิงหาคม 2015

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น