วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หลุมศพพระสังฆราชแกวงและพระสังฆราชโทมิน


หลุมศพพระสังฆราชแกวงและพระสังฆราชโทมิน
เอ๋ยชื่อ “พระสังฆราชแกวง” กับ “พระสังฆราชโทมิน” คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันคงไม่มีใครรู้จักแล้ว อีกทั้งคนในยุคเดียวกันกับท่านได้ลาโลกกันไปหมดแล้วด้วย จึงไม่มีใครให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระสังฆราชทั้งสองได้ นอกจากบันทึกของ พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย พระสังฆราชองค์สุดท้ายของมิสซังลาวที่ พระอัครสังฆราชไมเคิ้ล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้แปลและพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว” ซึ่งได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้ยึดอินโดจีนของฝรั่งเศสในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ได้จับกุมและควบคุมตัวพระสังฆราชแกวงในห้องทำงานที่ท่าแขกโดยมิทันรู้ตัว ส่วนพระสังฆราชโทมินและคุณพ่อทีโบต์ได้ซ่อนตัวอยู่ในสวนกล้วยของมิสซังตลอดคืน เมื่อเห็นว่าไม่สามารถซ่อนตัวต่อไปได้ พระสังฆราชโทมิน ได้เขียนจดหมายมอบหน้าที่ปกครองมิสซังให้คุณพ่อหึ่ว พระสงฆ์ชาวเวียดนามผู้ดูแลชาวเวียดนามในท่าแขกและใกล้เคียง จากนั้นได้มอบตัวกับทางการญี่ปุ่น
พระสังฆราชอังเยโล-มารีย์ แกวง พระสังฆราชองค์ที่ 3 ของมิสซังลาว
“ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นที่ท่าแขกได้มีคำสั่งให้ยิงเป้าชาวฝรั่งเศสทั้งหมด จะเป็นพลเรือน ทหารหรือนักบวชก็ตาม ดังนั้น พระสังฆราชแกวง และพระสังฆราชโทมิน จึงได้ถูกยิงเป้าพร้อมกับคุณพ่อทีโบต์ที่บ้านนาไก่ ห่างจากตัวเมืองท่าแขกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) (ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว หน้า 210-211)
ข้อมูลเกี่ยวกับพระสังฆราชผู้ปกครองมิสซังลาวทั้งสอง และคุณพ่อทีโบต์หลังจากนั้นไม่มีการกล่าวถึงอีก แม้กระทั่งการจัดการเกี่ยวกับร่างไร้วิญญาณของท่านทั้งสาม เคยสอบถามเรื่องนี้จากพระสงฆ์อาวุโสหลายท่านแต่ไม่มีใครให้ข้อมูลได้ เรื่องนี้จึงอยู่ในใจของผู้เขียนเรื่อยมา อีกทั้งได้เคยเสนอความเห็นต่อผู้ใหญ่ให้นำร่างของท่านทั้งสามกลับมาฝังที่หนองแสง ศูนย์กลางของมิสซังลาวในอดีตโอกาสฉลอง 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรม ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่า แต่ไม่ได้รับคำตอบ
พระสังฆราชอองรี-อัลแบร์ต โทมิน พระสังฆราชองค์ที่ 4 ของมิสซังลาว
กระทั่งเวลาที่ พระสังฆราชปรีดา อินทิลาด พระสังฆราชผู้ปกครองสังฆมณฑลคำม่วน-สะหวันนะเขดองค์ปัจจุบัน มาเทศน์เข้าเงียบประจำปีให้กับคณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง (พฤศจิกายน 2014) ผู้เขียนได้สอบถามเรื่องนี้ และพระคุณเจ้าได้ให้ความกระจ่างว่าได้นำร่างของท่านทั้งสามมาฝังไว้ที่สุสานของสังฆมณฑลที่ท่าแขกแล้ว ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเดินทางไปท่าแขก สปป.ลาว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงได้ติดตามเรื่องนี้
อีกทั้งได้เดินทางไปดูสถานที่ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งสองและคุณพ่อทีโบต์ถูกยิงเป้า และได้ข้อมูลว่า “นาไก่” ที่ พระคุณเจ้าเกี้ยน เสมอพิทักษ์ แปล ที่ถูกต้องคือ “นากาย” ซึ่งเป็นภูเขาต้นน้ำของแม่น้ำเทินก่อนไหลลงแม่น้ำเซปั้งไฟและแม่น้ำโขง นากายในปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นเมืองใหม่อันเนื่องมาจากโครงการน้ำเทิน 2 ก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 450 ตารางกิโลเมตรบนเทือกเขานากาย และส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 100,000 คนอันเนื่องมาจากโครงการนี้
 เส้นทางหมายเลข 12 จากท่าแขกถึงนากายซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาน้อยใหญ่สองข้างทาง
แม้จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าทหารญี่ปุ่นยิงเป้าที่ไหนเนื่องจากไม่เหลือสภาพเดิมอีกแล้ว แต่อย่างน้อยได้ทำให้ทราบถึงลักษณะภูมิประเทศของนากายซึ่งเป็นภูเขา อยู่ห่างจากท่าแขกไปตามถนนหมายเลข 12 ประมาณ 80 กิโลเมตร ก่อนจะแยกเข้าโครงการที่เมืองยมลาด ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีกำลังการผลิต 1,070 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ 90 เปอร์เซ็นต์ส่งขายให้ประเทศไทยของเรา
อีกทั้ง บริษัทอิตาเลียน-ไทย ดีเวลลอปเมนท์ หรือ อิตัลไทย (Italian-Thai Development) เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ถือหุ้น 15 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทผลิตไฟฟ้าไทยจำกัด หรือเอ็กโก (Electricity Generating Company – EGCO) บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รัฐบาลลาวถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ สร้างโดยใช้รูปแบบที่เรียกว่า BOOT คือ สร้างเป็นเจ้าของดำเนินการ และถ่ายโอน (Build-Own-Operate-Transfer) ซึ่งบริษัทผู้ลงทุนจะรับผลประโยชน์ในการขายไฟฟ้าเป็นเวลา 25 ปีก่อนที่จะมอบโอนให้รัฐบาลลาว
 นากายในปัจจุบันที่กลายเป็นเมืองใหม่อันเนื่องจากโครงการน้ำเทิน 2
ตอนขากลับได้แวะคารวะหลุมศพของ พระสังฆราชแกวง พระสังฆราชโทมิน และคุณพ่อทีโบต์ ซึ่งฝังรวมกันในหลุมเดียว คุณพ่อเหี้ยนเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกที่นำศพกลับมาจากนากายได้นำมาฝังแยกไว้ที่สุสานเดิมซึ่งอยู่ตรงข้ามกับไปรษณีย์ท่าแขก ต่อมาได้ถูกทางการยึดและบังคับให้ย้ายหลุมศพออกไปอยู่ที่ใหม่ จึงได้ย้ายไปฝังที่สุสานบริเวณกิโลเมตรที่สอง แต่การย้ายครั้งหลังสุดนี้ไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นใคร จึงฝังรวมในหลุมเดียวกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
สภาพหลุมศพที่เห็นเก่าแก่และเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ควรอย่างยิ่งที่อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงจะเป็นเจ้าภาพพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของ พระสังฆราชแกวง พระสังฆราชโทมิน และคุณพ่อทีโบต์ และทำหลุมศพใหม่ เพราะด้วยกำลังทรัพย์และวิทยาการสมัยใหม่ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยากหากคิดจะทำ อีกทั้งควรนำชิ้นส่วนกระดูกมาฝังไว้ที่สุสานวัดหนองแสงด้วย เพื่อจะได้เคียงคู่กับหลุมศพพระสังฆราชยอห์นบัปติสต์ โปรดม คุณพ่อซาเวียร์ เกโก และเพื่อนธรรมทูตมิสซังลาว ให้คริสตชนไทยได้เคารพเชิดชู

พระสังฆราชแกวงและคณะสงฆ์มิสซังลาวที่หนองแสง ปี ค.ศ. 1937
พระสังฆราชโทมิน (แถวนั่งซ้ายสุด) ที่ท่าแร่ ปี ค.ศ. 1938
         อนึ่ง พระสังฆราชแกวง หรือ พระสังฆราชอังเยโล มารีย์ แกวง  (Angelo-Marie GOUIN)  เป็นพระสังฆราชองค์ที่สามของมิสซังลาว ระหว่างปี ค.ศ. 1922-1944 ต่อจากพระสังฆราชโปรดม ได้รับแต่งตั้งวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) และได้รับอภิเษกที่อาสนวิหารหนองแสงวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) โดยพระสังฆราชแปร์รอส แห่งกรุงเทพฯ มีพระสังฆราชบูซือ แห่งพนมเปญกับพระสังฆราชแกงตอง แห่งไซ่ง่อนเป็นผู้ช่วยอภิเษก พระสังฆราชแกวงเป็นผู้จัดทำพระวินัยสำหรับภคินีรักกางเขนทั้งสามแห่งของมิสซังลาว (เชียงหวาง, อุบลราชธานี และท่าแร่) เป็นผู้ตั้งบ้านเณรนาซาแร็ธที่หนองแสง และเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดนาโพธิ์
ส่วน พระสังฆราชโทมิน หรือ พระสังฆราชอองรี-อัลแบรต์ โทมิน  (Hnri-Alberte TOMIN) เป็นพระสังฆราชองค์ที่สี่ของมิสซังลาว ในช่วงยากลำบากที่มีการเบียดเบียนศาสนาและสงครามอินโดจีน ค.. 1944-1945  ได้รับแต่งตั้งวันที่ 29 กรกฎาคม ค.. 1944 (.. 2487) และได้รับอภิเษกที่วัดนักบุญหลุยส์ท่าแขก วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.. 1944 (.. 2487) โดยพระสังฆราชเลอมาล แห่งเมืองเว้ มีพระสังฆราชแกวง และพระสังฆราชปีเกต์ แห่งมิสซังกวินญอน เป็นผู้ช่วยอภิเษก พระสังฆราชโทมินเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดนาโพธิ์และจันทร์เพ็ญ และเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านจอมแจ้งในปัจจุบัน
 หลุมฝังศพพระสังฆราชแกง พระสังฆราชโทมินและคุณพ่อทีโบต์ที่ท่าแขก
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, ป่าพนาวัลย์
18 สิงหาคม 2015

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น