วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คำสอนและธรรมบัญญัติ



คำสอนและธรรมบัญญัติ
สัปดาห์ที่ 6
เทศกาลธรรมดา
ปี A
บสร 15:15-20
1 คร 2:6-10
มธ 5:17-37
บทนำ
ชายตาบอดคนหนึ่งกำลังเดินเลี้ยวช้าๆ ตรงมุมถนน โดยใช้ไม้เคาะบอกทาง ขณะที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินรีบเร่งมาจากทิศทางตรงข้ามและเกิดชนกันเข้าอย่างจัง เป็นเหตุให้ทั้งคู่ล้มลง เด็กหนุ่มรู้สึกโมโหและตะคอกชายนั้นด้วยเสียงอันดังว่า “ทำไมลุงเดินไม่ดูตาม้าตาเรือเลย” ชายตาบอดตอบด้วยความสุภาพว่า “ขอโทษพ่อหนุ่ม ผมไม่ทันได้มอง” แต่ละคนต่างมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยท่าทีและมุมมองที่ต่างกัน
เช่นเดียวกับเรื่องธรรมบัญญัติของพระเจ้าที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องล้าสมัย ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเคร่งครัดจนเกินไปไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นบทบัญญัติที่บอกว่า อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย อย่าผิดประเวณี บางคนจึงบอกว่าการถือปฏิบัติตามบทบัญญัติ เป็นเหมือนกับการตั้งนาฬิกาปลุกก่อนล่วงหน้าครึ่งชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ตื่นสาย
ในความเป็นจริง บทบัญญัติทั้งสิบประการไม่เคยล้าสมัย การฆ่าคน การลักขโมย หรือการผิดประเวณียังคงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสทุกยุคสมัยจนถึงทุกวันนี้ และพระเยซูเจ้าไม่ทรงประสงค์จะทำให้ธรรมบัญญัติของพระเจ้าเป็นเรื่องเข้มงวดจนเกินไป พระองค์ทรงทราบดีว่าเมื่อเราดำเนินชีวิตตามธรรมบัญญัติเราจะพบความสุข ในทางกลับกัน เมื่อเราละเมิดธรรมบัญญัติหรือทำบาปจะทำให้เราพบความทุกข์และนำไปสู่ความตาย
ในพระวรสารวันนี้ นักบุญมัทธิวได้เน้นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างธรรมบัญญัติของชาวยิวกับคำสอนของพระเยซูเจ้า ที่สอนด้วยแบบอย่างชีวิตของพระองค์ว่า พระองค์มิได้มาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก แต่มาเพื่อทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พระองค์บอกเราว่า ธรรมบัญญัติยังคงมีพลังและเจตนาที่เด่นชัดในตัวมันเอง จนกว่าจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ตามจุดประสงค์ที่พระเจ้าทรงประทานแก่ชาวอิสราแอลผ่านทางโมเสส และพระองค์ทรงมอบบัญญัติใหม่ให้แก่เรา นั่นคือ “บัญญัติแห่งความรัก”

1.         คำสอนและธรรมบัญญัติ
นักบุญมัทธิว เขียนพระวรสารสำหรับชาวยิว โดยอ้างพันธสัญญาเดิม เพื่อแสดงให้เห็นว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าไม่ได้แยกต่างหากจากธรรมประเพณีของชาวยิว แต่เป็นผู้ที่บรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมทำนายถึง และพระองค์ได้ทำให้คำทำนายของบรรดาประกาศกสำเร็จไป เมื่อพระองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่ได้มาทำลายธรรมบัญญัติแต่มาเพื่อทำให้สมบูรณ์ นั่นหมายความว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของธรรมบัญญัติ บนหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือ “การแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า”
พระเยซูเจ้าได้สรุปบทบัญญัติสิบประการในความสัมพันธ์ที่พึงมีต่อพระเจ้าและต่อผู้อื่น อันเป็นที่มาของบัญญัติแห่งความรัก นั่นคือ รักพระเจ้าและรักเพื่อนพี่น้อง พระองค์ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ได้นำเสนอวิธีคิดและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับธรรมบัญญัติ สำหรับพระองค์ “การปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ” ไม่เป็นการเพียงพอ ผู้ที่เป็นศิษย์ของพระองค์จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงความหมายที่ว่า ธรรมบัญญัติตั้งอยู่บนความรัก การรักษาธรรมบัญญัติโดยปราศจากความรัก จึงเป็นเหมือนกับร่างกายที่ปราศจากจิตวิญญาณ
ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับศิษย์ของพระองค์ว่า “ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้ว ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้” (มธ 5:20) พระองค์ทรงชมเชยบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ แต่พระองค์ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ถือปฏิบัติตามจิตตารมย์ของธรรมบัญญัติ เพราะพวกเขาถือตามกฎเกณฑ์แต่ภายนอกเพื่อสนองตอบความพึงพอใจของตนเอง แต่ไม่ได้นำความรักที่มีต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องมาปฏิบัติในชีวิตจริง

2.         บทเรียนสำหรับเรา
พระวรสารวันนี้ได้ให้แนวปฏิบัติที่สำคัญที่สุดของพระเยซูเจ้า 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ความโกรธ การผิดประเวณี การหย่าร้าง และการสาบาน พระองค์ทรงเริ่มคำสอนด้วยพระดำรัสที่ว่า “ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า แล้วสอนว่า “แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ซึ่งเป็นการทำให้ธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทรงเรียกร้องให้เราทำมากกว่าธรรมบัญญัติหรือคำสอนในอดีต คริสตชนต้องมองเห็นพระเจ้าในผู้อื่นและในสิ่งสร้าง
ตัวอย่างแรก ความโกรธ พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า ไม่เพียงไม่โกรธ แต่จะต้องให้ความเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน เพราะพระเจ้าทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยกและไม่มีเงื่อนไข พระเยซูเจ้าได้มอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อความรอดของทุกคน ประการสำคัญ ต้องพร้อมที่จะคืนดีกับทุกคนก่อนจะนำเครื่องบูชาไปถวาย มิฉะนั้นแล้ว เครื่องบูชาและคำภาวนาของเราจะไม่มีความหมาย
ตัวอย่างที่สอง การผิดประเวณี พระเยซูเจ้าทรงสอนว่าไม่เพียงไม่กระทำผิดประเวณี แต่ยังห้าม “ความคิดชั่ว” ที่ผิดต่อสายพระเนตรของพระเจ้า การผิดประเวณีไม่เพียงผิดด้านศีลธรรม แต่ยังผิดต่อความยุติธรรมในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนชีวิตของกันและกัน และทำลายสัมพันธภาพของชีวิตสมรส เราจะต้องไม่ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อสนองความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังของเรา
ตัวอย่างที่สาม การหย่าร้าง พระเยซูเจ้าสอนว่า การหย่าร้างอาจถูกต้องในบางกรณี แต่ขัดแย้งกับศักดิ์ศรีและสิทธิสตรี โดยถือว่าการหย่าร้างเป็นความเห็นแก่ตัวและผิดศีลธรรม เพราะการแต่งงานเป็นพันธสัญญาที่ผูกมัดและเรียกร้องความมั่นคงของชีวิตคู่ บนพื้นฐานของความรัก ความซื่อสัตย์ การให้เกียรติและให้อภัยกัน
ตัวอย่างที่สี่ การสาบาน พระเยซูเจ้าได้แสดงให้เห็นว่า คริสตชนที่ดีจะต้องไม่สาบานเลย เพราะคริสตชนเป็นคนที่ซื่อสัตย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่เสแสร้ง จะต้องมีความจริงใจในการเสวนาและเป็นที่ชื่อถือไว้วางใจแก่ทุกคนเวลาพูด โดยไม่ต้องอ้างถึงใครหรือสิ่งอื่นใดอีก ต้องพูดจาตรงไปตรงมาตามความจริง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ที่เกินไปนั้นมาจากปีศาจ (มธ 5:37)
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าไม่ได้สอนหลักศีลธรรมใหม่หรือลบล้างสิ่งใดในธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก แต่ทรงปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยการมอบ “บัญญัติแห่งความรัก” แก่ผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ทุกคน บนพื้นฐานแห่งความรักที่พวกเขาพึงมีต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ซึ่งเป็นพระประสงค์ที่แท้จริงในการมอบธรรมบัญญัติแก่ประชากรอิสราแอล “ความรัก” จึงเป็นหลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของคริสตศาสนา อย่างที่นักบุญเอากุสตินกล่าวว่า “จงรักพระเจ้าและกระทำตามที่ท่านปรารถนา”

ดังนั้น บทบัญญัติสิบประการ บุญลาภ และคำสอนทุกอย่างของพระเยซูเจ้า ล้วนแล้วแต่ท้าทายและบอกให้เราทราบว่า เราต้องตอบคำว่า “ใช่” (Yes!) เพื่อจะเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ให้เราเลียนแบบอย่างของพระแม่มารีย์ ศิษย์คนแรกของพระเยซูเจ้า ผู้เป็นต้นแบบของการตอบรับต่อแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า ให้เราแต่ละคนได้ตอบรับด้วยการปฏิบัติความรักต่อเพื่อนพี่น้องของเรา เป็นต้นในครอบครัว หมู่คณะและวัดของเรา “ความสุขที่เรามีจะยังไม่สมบูรณ์ จนกว่าจะได้แบ่งปันกับผู้อื่น”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
13 กุมภาพันธ์ 2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น