การสำนึกพระคุณ
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา
ปี C
|
2 พกษ 5:14-17
2 ทธ 2:8-13
ลก 17:11-19
|
บทนำ
อาจารย์ชาวยิว (Rabbi) คนหนึ่งถามประกาศกว่า
“ฉันจะพบพระแมสซิยาห์ได้ที่ไหน” ประกาศกตอบว่า “ที่ประตูเมืองท่ามกลางคนโรคเรื้อน”
อาจารย์ชาวยิวถามต่อว่า “พระองค์ไปทำอะไรที่นั่น” ประกาศกตอบว่า “พระองค์ทรงเปลี่ยนผ้าพันแผลให้พวกเขา”
นี่คือมุมมองเกี่ยวกับพันธกิจของพระผู้ไถ่ในทัศนะของ ลอเรนซ์ คุสชเนอร์ (Laurence
Kushner) นักเขียนและอาจารย์ชาวยิวในอเมริกา เราเห็นภาพพจน์นี้อย่างเด่นชัดในตัวพระเยซูเจ้าที่เสด็จมาตามหาคนบาป
เป็นเพื่อนกับคนถูกทอดทิ้งและถูกตัดขาดจากสังคม
สมัยก่อน โรคเรื้อนถือเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงมาก
เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ (ยิ่งกว่าโรคเอดส์ในสมัยนี้เสียอีก) คนเป็นโรคเรื้อนเป็นบุคคลที่น่าสงสาร
เหมือนตายทั้งเป็นเพราะต้องตัดขาดจากครอบครัว เพื่อนฝูงและสังคม
ต้องแยกตัวออกไปอยู่ในที่เฉพาะ กฎหมายของโมเสสกำหนดว่า “ให้บุคคลที่เป็นโรคเรื้อนสวมเสื้อผ้าที่ขาด
และให้ปล่อยผม... แล้วร้องว่า ‘มีมลทิน มีมลทิน’”
(ลนต 13:45) เพื่อให้คนอื่นรู้ และ “ต้องแยกไปอยู่นอกค่าย” (ลนต 13:46; กดว 5:3) เพื่อป้องกันคนอื่นติดเชื้อ
คำว่า “โรคเรื้อน”
ในพระคัมภีร์หมายถึงโรคผิวหนังทุกชนิดที่มีอาการพุพอง
ในพันธสัญญาเดิมถือว่านี่คือการลงโทษของพระเจ้า อันเนื่องมาจากบาปที่เขาทำ ในสมัยพระเยซูเจ้า
คนโรคเรื้อนยังอยู่ในสภาพตายทั้งเป็น ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ เห็นได้จากเมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเยซูเจ้า
พวกเขายังต้อง “ยืนอยู่ห่างพระองค์”
(ลก 17:12)
เพราะกฎหมายยิวห้ามคนโรคเรื้อนเข้าใกล้เกินกว่า 6 ฟุต
ที่น่าสังเกตคือ
ในบรรดาคนโรคเรื้อนสิบคนที่มาหาพระเยซูเจ้า มีอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นชาวสะมาเรีย (ลก
17:16)
โดยทั่วไปชาวยิวจะไม่คบค้ากับชาวสะมาเรีย เพราะถือว่าชาวสะมาเรียเป็นยิวที่ไม่บริสุทธิ์
เนื่องจากแต่งงานกับคนต่างศาสนา นอกนั้น คำว่า “ชาวสะมาเรีย” ยังเป็นคำที่ใช้แสดงความเกลียดชังและเหยียดหยามคนที่ละเมิดบทบัญญัติ ใครที่ไม่รักษาธรรมบัญญัติจะถูกตราหน้าว่าเป็น
“ชาวสะมาเรีย” แต่เมื่อเป็นโรคร้ายเหมือนกัน ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติเช่นว่านี้ สิ่งเดียวที่ทุกคนต้องการคือการรักษาให้หาย
1.
การสำนึกพระคุณ
เรื่องราวที่เราได้ยินในพระคัมภีร์วันนี้
พูดถึงคนโรคเรื้อน 11 คนที่ได้รับการรักษาให้หาย คนหนึ่งคือนาอามานชาวซีเรียในหนังสือพงษ์กษัตริย์
และอีกสิบคนในพระวรสาร แต่มีเพียง “นาอามาน” และ “ชาวสะมาเรีย” ที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้า
ทั้งสองเป็นชาวต่างชาติที่ชาวยิวถือว่าเป็นคนบาป บ่อยครั้งคนที่เรามองว่าเป็นคนไม่ดี
กลับสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้ามากกว่าคนที่ถือว่าเป็นคนชอบธรรม
นักบุญเปาโลในบทอ่านที่สอง ได้แนะนำทิโมธีให้สำนึกในพระคุณของพระเจ้า
แม้ในห้วงเวลาแห่งความทรมานด้านร่างกายและในท่ามกลางความยากลำบากต่างๆ อันเนื่องมาจากการประกาศข่าวดี
ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกยินดีที่ได้ยินชาวสะมาเรียสรรเสริญพระเจ้า สำหรับสิ่งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา
แต่พระองค์ทรงคาดหวังว่าอีกเก้าคนจะทำเช่นเดียวกัน แต่พวกเขาไม่ได้สำนึกในพระคุณของพระองค์
สิ่งที่พวกเขาต้องการคือใบรับรองจากพระสงฆ์ว่าหายจากโรคเรื้อนแล้วเท่านั้น
ไมสเตอร์ เอ็คคาร์ต (Meister
Eckhart) นักเทววิทยาชาวเยอรมัน เขียนว่า “คำภาวนาที่สำคัญที่สุดในโลกยาวเพียงสองพยางค์คือคำว่า
‘ขอบคุณ’
แต่ดูเหมือนในสังคมที่เราอยู่จะใช้คำนี้น้อยมาก
ไม่ใช่แต่กับพระเจ้าเท่านั้นแต่กับคนอื่นด้วย” บรรดาปิตาจารย์สอนว่า
“พระเจ้ามีที่ประทับอยู่สองแห่ง คือในสวรรค์และในใจคนที่สำนึกพระคุณ” เราคริสตชนจึงควรขอบพระคุณพระเจ้า
เราภาวนาถึงพระองค์ทุกวันเพราะตระหนักว่า เราได้รับพระพรจากพระองค์มากมาย
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ
ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องสำนึกพระคุณของพระเจ้า
ทุกสิ่งที่เรามีและทุกอย่างที่เราเป็นล้วนแล้วแต่เป็นของประทานจากพระเจ้าทั้งสิ้น
ดังนั้น เราจึงขอบคุณพระองค์สำหรับความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อเราแต่ละคน เราไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้โดยลำพัง
“เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5)
อีกทั้ง ต้องสำนึกพระคุณของพระเจ้าด้วยการให้อภัยผู้อื่น
แสดงให้เห็นถึงความรักและความเมตตากรุณาของพระองค์ต่อผู้อื่น ในความกตัญญูต่อบิดา-มารดา
ครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณต่อเรา
ประการที่สอง
เราต้องมั่นมาร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ เพื่อเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท
(Eucharist) ซึ่งหมายถึง “การขอบพระคุณ” (Thanksgiving) พิธีมิสซาจึงเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า ขอบพระคุณความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้าที่มอบพระองค์เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของเรา
ทำให้เรากลายเป็นประชากรของพระเจ้า อีกทั้ง ขอบพระคุณพระจิตเจ้าที่นำพระพรแห่งการประทับอยู่ของพระองค์ไปสู่ผู้อื่น
ด้วยการแบ่งปันเวลาและความรู้ความสามารถต่างๆ กับทุกคนในวัดและหมู่คณะของเรา
ประการที่สาม
เราต้องการการรักษาโรคเรื้อนฝ่ายจิตใจ
เราอาจจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคเรื้อนทางด้านร่างกาย แต่บางทีเราอาจกำลังทนทุกข์เพราะโรคเรื้อนฝ่ายจิตใจ
ซึ่งเป็นผลของบาปที่เรากระทำ ทำให้เราเป็นมลทินกลายเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์
พระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่ของเราทรงต้องการรักษาเราให้หายจากโรคเรื้อนแห่งบาปนี้
เราจึงต้องมาหาพระองค์ผ่านทางศีลแห่งการคืนดี เพื่อขอให้พระองค์เยียวยารักษาเราให้หายจากโรคเรื้อนแห่งบาป
ความอยุติธรรม ความเกลียดชังและอคติในใจเรา
บทสรุป
พี่น้องที่รัก วันนี้เราได้ยินเรื่องราวของคนโรคเรื้อน
และการได้รับการรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์ สาระสำคัญของพระวาจาของพระเจ้าในสัปดาห์นี้คือ
“การสำนึกพระคุณ” ข้อที่น่าสังเกตคือ
มีเพียงชาวต่างชาติที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและขอบพระคุณพระเจ้า นั่นคือ นาอามานชาวซีเรียที่สำนึกว่าพระยาห์เวห์
พระเจ้าแห่งอิสราแอลคือพระเจ้าแท้ และชาวสะมาเรียที่สำนึกพระคุณของพระเยซูเจ้า
ขณะที่คนโรคเรื้อนอีกเก้าคนไม่ได้มาขอบพระคุณพระองค์
พระเจ้าทรงรักและดูแลเอาใจใส่เราตลอดนิรันดร์
สิ่งเดียวที่เราจะตอบสนองความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์ได้คือ การสำนึกพระคุณ
เช่นเดียวกับนาอามานชาวซีเรียและชาวสะมาเรียคนนั้น
เราจะต้องขอบพระคุณพระเจ้าอยู่เสมอ สำหรับการประทับอยู่ของพระองค์ในชีวิตของเรา ด้วยการประกาศถึงการให้อภัยไม่สิ้นสุดและความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์
ในท่ามกลางเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในหมู่คณะและในวัดของเรา
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
11 ตุลาคม 2013
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น