2. โรม อมตะนคร
กรุงโรม
(Roma) ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “อมตะนคร” หรือนครที่ไม่มีวันตาย
เนื่องจากเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรมและการปกครองของอาณาจักรโรมันในอดีต
ในห้วงเวลาที่โรมันเรืองอำนาจ กรุงโรมคือมหาอำนาจและศูนย์กลางของโลก จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า
“ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” (Tutte le strade portano a Roma) โดยเฉพาะในยุคของจูลิอุส
เชซาร์ (Julius Caesar: 100 BC-44 BC) ซึ่งอาณาจักรโรมันยิ่งใหญ่ถึงขีดสุด ครอบครองทวีปยุโรป แอฟริกาตอนเหนือและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด
ถึงขนาดที่เชซาร์ได้กล่าวอมตะวาจาเอาไว้ว่า “VENI, VIDI, VICI: ข้ามา ข้าเห็น ข้าชนะ”
อนุสรณ์สถานแห่งชาติและสุสานทหารนิรนามสัญลักษณ์ของอิตาลียุคใหม่
ปัจจุบันอาจได้ยินการอ้างอิงคำพูดของเชซาร์ว่า
“VENI, VIDI,
CREDI:
ข้ามา ข้าเห็น ข้าเชื่อ”
ซึ่งเป็นมุมมองของผู้ที่มีความเชื่อ
เนื่องจากอมตะนครแห่งนี้เต็มไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระธาตุนักบุญ รูปเคารพ
สักการสถานและวิหารที่ผู้คนเคารพศรัทธา กรุงโรมจึงได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งความเชื่อ
ส่วนจะเป็นอย่างที่บางคนพูดว่า ที่เต็มไปด้วยความเชื่อเพราะบรรดาผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวทิ้งมันเอาไว้หรือเปล่า
ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองและพื้นฐานความเชื่อของแต่ละคน
รูปปั้นจักรพรรดิเชซาร์บนถนนบริเวณซากอาณาจักรโรมันโบราณที่เรียกว่า "โรมันโฟรั่ม"
นอกนั้น
กรุงโรมยังเป็นสวรรค์ของนักเดินทางและนักแสวงโชค จึงมีผู้คนมากมายจากทุกมุมโลกเดินทางมาเพื่อชื่นชมผลงานชิ้นโบว์แดงของบรรดาศิลปินเอกของโลก
ที่ได้ฝากผลงานชั้นเยี่ยมมากมายไว้ตามโบสถ์วิหาร หัวมุมถนน สะพานและลานสาธารณะ มีอีกเป็นจำนวนมากที่เดินทางมาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
กรุงโรมและเมืองต่างๆ ทั่วอิตาลีจึงเต็มไปด้วยคนทุกประเภท อีกทั้งเป็นที่รวมของมิจฉาชีพทุกรูปแบบ
สิ่งที่พึงระวังเป็นพิเศษคือ “การล้วงกระเป๋า” อย่าได้นำเอกสารสำคัญและของมีค่าติดตัวไปเป็นอันขาด
เพราะท่านอาจตกเป็นเหยื่อได้ หากระวังตัวอย่างดีแล้วยังเจอดีเข้าจนได้ก็อย่าได้แปลกใจ
เพราะนั่นแสดงว่า “ท่านได้มาถึงกรุงโรมแล้ว”
กรุงโรมปัจจุบันได้กลายเป็นสวรรค์ของนักเดินทางและนักแสวงโชค
3.
นครรัฐวาติกัน
นครรัฐวาติกัน (Città del
Vaticano หรือ The Holy See) เป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนา
นิกายโรมันคาทอลิก เป็นรัฐอิสระเล็กๆ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรมบนเนินวาติกัน ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งของสนามกีฬาคาลิโกลา
(Caligola) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 33 ตามพระนามของจักรพรรพิคาลิโกลา
นักบุญเปโตรถูกประหารด้วยการตรึงกางเขนกลับหัวบนเนินแห่งนี้
และถูกฝังไว้ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบัน รัฐเล็กๆ
แต่มีความสำคัญแห่งนี้มีพระสันตะปาปาเป็นผู้ปกครอง ไม่มีกองทัพ มีแต่ทหารอารักขาที่รู้จักกันในชื่อ
“กองทหารสวิส” (Swiss Guards) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความมีระเบียบวินัยและความจงรักภักดี
และได้ทำหน้าที่อารักขาพระสันตะปาปามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1506
นครรัฐวาติกัน รััฐเล็กๆ ใจกลางกรุงโรม ศูนย์กลางของคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก
รัฐวาติกันเกิดขึ้นเป็นทางการในปี
ค.ศ. 1929 มีอาณาเขตประมาณ 0.44 ตารางกิโลเมตร ประชากร 832
คน (ข้อมูลปี 2011)
อย่างไรก็ตาม รัฐวาติกันยังคงมีอาณาเขตพิเศษเป็นของตนด้วย เช่น
มหาวิหารสำคัญๆ ในกรุงโรม อาคารและที่ดินบางแห่งในกรุงโรม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมารัฐบาลอิตาลีได้ลงนามที่จะปกป้องรักษาดินแดนแห่งนี้เป็นพิเศษ
เนื่องจากเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งคริสตชนให้ความเคารพรักในฐานะที่เป็น
“บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์”
(Santo Padre) และเมื่อพระองค์ทรงสอนในเรื่อง “ความเชื่อ” และ “ศีลธรรม”
ที่เรียกว่า Ex
Cathedra ถือเป็นคำสอนที่ไม่รู้จักผิดพลาด
เป็นข้อความเชื่อที่เราต้องเชื่อ
เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วาติกัน แหล่งรวมศิลปะวิทยาการจากทุกมุมโลก
พิพิธภัณฑ์วาติกัน (Musei Vaticani) คือเครื่องบ่งบอกถึงอำนาจและความยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักรในอดีต
เพราะในพิพิธภัณฑ์วาติกันเต็มไปด้วยสิ่งที่หาค่ามิได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปวาด รูปปั้นและรูปแกะสลัก
ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินต่างยุคต่างสมัยที่นำมาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ผู้ที่รักงานศิลปะ
โบราณคดีและประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นยุดใดสามารถศึกษาได้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ภายในยังมีพิพิธภัณฑ์ย่อยหลายแห่ง
โดยเรียกตามถิ่นที่มา เช่น พิพิธภัณฑ์อียิปต์ พิพิธภัณฑ์เอทรูสกัน มีห้องแสดงภาพ (Galleria) อยู่หลายแห่ง และเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ย่อยอีก
2 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์แสตมป์และพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์
ผู้ที่รักงานศิลปะ โบราณคดีและประวัติศาสตร์ต้องไม่พลาดเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
วัดน้อยซิสติน
(Cappella
Sistina) ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์วาติกันที่จะพลาดไม่ได้
เพราะมีภาพวาดบนเพดานผลงานชั้นยอดของไมเกิ้ล อันเจโล (Michelangelo: 1475-1564)
และเป็นสถานที่ที่บรรดาพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิเลือกพระสันตะปาปา (อายุไม่เกิน 80
ปี) ใช้ประชุมเพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปาที่เรียกว่า Conclave
แปลว่า ประชุมภายในห้องที่ใส่กุญแจ (ประชุมลับจนกว่าจะได้ผู้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา)
ทำให้โบสถ์แห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นตามขนาดของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มที่กษัตริย์ซาโลมอนทรงสร้างในพันธสัญญาเก่า
(ยาว 134 ฟุต กว้าง 44 ฟุต และสูง 68 ฟุต)
วัดน้อยซีสตินที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและเป็นที่ประชุมเลือกพระสันตะปาปา
พระสันตะปาปา จูลีอุส ที่ 2 (ค.ศ. 1503-1513) ซึ่งชื่นชอบการก่อสร้างและงานศิลปะได้เชิญไมเกิ้ล อันเจโล ปติมากรหนุ่มที่มีชื่อเสียงด้านการแกะสลักให้มาจับพู่กันวาดภาพซึ่งเขาไม่เคยทำมาก่อน
แต่ไมเกิ้ล อันเจโลได้รังสรรค์ผลงานชั้นเยี่ยมบนเพดานของโบสถ์ซิสตินอย่างวิจิตรบรรจง
โดยจินตนาการจากเรื่องราวใน 11 บทแรกของหนังสือปฐมกาล ประกอบด้วยภาพต่างๆ กว่า 300 ภาพ แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ การสร้างโลกของพระเจ้า
การสร้างมนุษย์และความตกต่ำของมนุษย์ และเรื่องราวของโนอาห์และน้ำท่วมโลก เขาใช้เวลาวาดอยู่นานถึง
4 ปีจึงแล้วเสร็จ (ค.ศ. 1508-1512)
ภาพการพิพากษาครั้งสุดท้าย ผลงานชิ้นโบว์แดงของไมเกิ้ลอันเจโล
นอกนั้น
ภายในโบสถ์ซิสตินยังมีผลงานของจิตรกรระดับโลกอีกหลายคน แต่ที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงคือภาพวาด
“การพิพากษาครั้งสุดท้าย” บนผนังโบสถ์เหนือแท่นบูชาของไมเกิ้ล
อันเจโล ซึ่งเป็นภาพที่แสดงถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้าเพื่อพิพากษาโลก
ทั้งผู้เป็นและผู้ตายตามความเชื่อ ภาพนี้จึงเต็มไปด้วยความหมายและความเชื่อของคริสตศาสนา
ไมเกิ้ล อันเจโลวาดภาพชิ้นเอกนี้ในสมัยพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 3 ระหว่างปี
ค.ศ. 1536-1541 ใช้เวลาในการวาดภาพขนาดยักษ์นี้ 5 ปี คือหลังการวาดภาพบนเพดาน
20 ปี
ภาพวาดบนเพดานผลงานของไมเกิ้ล อันเจโลและบันไดก้นหอยลงจากพิพิธภัณฑ์
มีเรื่องเล่าว่า
พระคาร์ดินัลที่ควบคุมงานจิตกรรมนี้รู้สึกไม่พอใจที่ไมเกิ้ล
อันเจโลทำงานอย่างล่าช้า จึงไปฟ้องพระสันตะปาปา ไมเกิ้ล
อันเจโลโกรธมากจึงได้วาดรูปใบหน้าของพระคาร์ดินัลองค์นี้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่อยู่ในนรก
เมื่อพระคาร์ดินัลมาตรวจความก้าวหน้าของการวาดภาพอีกครั้ง ได้เห็นรูปตนเองอยู่ในนรกจึงโกรธและได้นำเรื่องไปฟ้องพระสันตะปาปาอีกครั้ง
เพื่อขอให้ทรงรับสั่งให้แก้ไขภาพใหม่ แต่พระสันตะปาปาได้ตรัสกับพระคาร์ดินัลองค์นั้นว่า
“หากตัวท่านอยู่ในนรกอย่างที่บอกจริง คงไม่มีใครสามารถช่วยท่านได้แล้วละ แม้แต่ตัวเราเอง”
พระคาร์ดินัลองค์นั้นจึงกลับไปด้วยความเศร้า
จัตุรัสสาธารณะรัฐ (Piazza della repubblica) ยามค่ำคืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น