รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของประเทศอิตาลี
จะบอกว่ารัฐบาลอิตาลีปัจจุบันกินบุญเก่าของอาณาจักรโรมันในอดีตคงไม่ผิดนัก
โดยเฉพาะล่องรอยทางอารยธรรม ศิลปวัฒนธรรมและการปกครองในยุคโรมันโบราณ
ที่พบเห็นทั่วไปในอิตาลีได้สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศและชาวอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรุงโรมซึ่งเต็มไปด้วยโบราณสถานล้ำค่ามากมาย
ได้ทำให้อมตะนครแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวสีสันและกลายเป็น “นครที่ไม่มีวันตาย”
โคโลเซียม หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่ทุกคนรู้จัก
1.
โคโลสเซียม
โคโลสเซียม (Colosseum) หรือที่ชาวอิตาลีเรียกว่า โคโลเซว (Coloseo) เป็นสนามกีฬากลางแจ้งใหญ่ที่สุดของอาณาจักรโรมัน
แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ทางด้านการออกแบบ
สถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของชาวโรมันเมื่อเกือบสองพันปีก่อน
ที่สามารถสร้างสิ่งยิ่งใหญ่นี้ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่ทุกคนรู้จัก
ถือเป็นหน้าตาและสัญลักษณ์ของกรุงโรมที่ใครต่อใครต้องมาแวะ
มิฉะนั้นจะถือว่ามาไม่ถึงกรุงโรม โคโลเซวจึงไม่เคยว่างเว้นนักท่องเที่ยว
โคโลเซว ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของโรมันฟอรั่ม
(Romano Foro) สร้างขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 70-72
สมัยจักรพรรดิเวนปาเซียน (Vespasian)
เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 80 สมัยจักรพรรดิทิตุส (Titus) และได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมในสมัยของจักรพรรดิโดมิเซียน
(Domitian) สามารถบรรจุผู้ชมได้ 50,000 คน
ใช้เพื่อความบันเทิงในการชมการแข่งขันการต่อสู้ของเหล่านักสู้ที่เรียกว่า “กลาดิเอเตอร์” (Gladiators) และชมการแสดงต่างๆ นอกจากนี้
โคโลเซวยังใช้เป็นที่ประหารชีวิตนักโทษ ทั้งนักโทษการเมือง
เชลยสงครามและนักโทษทางศาสนา ซึ่งหมายถึงบรรดาคริสตชนที่ถูกโรมันเบียดเบียนเป็นเวลากว่า
200 ปี
กล่าวกันว่ามีผู้คนประมาณ 5 แสนคนที่ต้องจบชีวิต
ณ สนามแห่งนี้ นับตั้งแต่จักรพรรดิเนโรกล่าวหาว่าคริสตชนเป็นผู้เผากรุงโรมในปี
ค.ศ. 60 คริสตศาสนาได้กลายเป็นศาสนาต้องห้ามและมีโทษประหารชีวิต
คริสตชนต้องหลบซ่อนตัวตามอุโมงค์ใต้ดินที่เรียกว่า “กาตากอมป์” (Catacomba) การเบียดเบียนศาสนาสิ้นสุดในสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน
หลังจากได้รับชัยชนะจากสงครามอย่างอัศจรรย์ด้วยเครื่องหมายกางเขนบนท้องฟ้า
และได้ประกาศให้คริสตศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของอาณาจักรโรมันในปี ค.ศ. 305
ส่วน โรมันโฟรั่ม
คือซากเมืองเก่าโบราณซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ในอดีต
ตามตำนานเล่าขานกันว่าพี่น้องฝาแฝดที่ชื่อโรมูลุสและเรมุส (Romulus et
Remus)
เป็นผู้สร้างกรุงโรมตรงจุดนี้เมื่อวันที่ 21
เมษายน ในปี 753 ก่อนคริสตกาล โดยใช้เวลาในการก่อสร้างนานหลายปี
ทำให้คิดถึงสำนวนที่ว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว” ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเพียรพยายามกว่าจะประสบผลสำเร็จหรือเจริญเติบโตถึงขีดสุด
แต่ที่สุดแล้วก็ถึงคราวเสื่อมสลายตามกาลเวลา เหลือไว้แต่เพียงซากปรักหักพังอันแสดงถึงรุ่งเรืองในอดีต
นี่คือสัจธรรมที่แสดงถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง
น้ำพุเทรวี น้ำพุที่ใหญ่และสวยงามที่สุดและเป็นสัญลักษณ์ของกรุงโรม
2. น้ำพุเทรวี
น้ำพุเทรวี (Trevi) เป็นน้ำพุที่ใหญ่และสวยงามที่สุดจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงโรม
ชื่อ “เทรวี” มาจากคำ Tre vie ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า ถนน 3
สาย น้ำพุแห่งนี้สร้างตรงจุดเชื่อมต่อของถนน 3 สาย และเป็นจุดปลายทางของท่อส่งน้ำที่มีชื่อว่า “อากวา วีร์โก” (Aqua Virgo) เล่ากันว่าทหารโรมันได้รับคำสั่งให้หาแหล่งน้ำ
เด็กหญิงคนหนึ่งได้ชี้ให้มาพบแหล่งน้ำนี้ ปรากฏว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์คุณภาพดี จึงได้ชื่อว่า
“น้ำแห่งผู้บริสุทธิ์” หรือ
Aqua Virgo นับเป็นท่อส่งน้ำที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงโรมที่ส่งไปเลี้ยงกรุงโรมไกลถึง
13 กิโลเมตร
ท่อส่งน้ำนี้ใช้งานตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง จนกระทั่งถูกพวกโกธ (Goth)
เข้าปล้นกรุงโรมได้ทำลายไปในปี ค.ศ. 537-538 ตามปกติแล้วชาวโรมันจะสร้างน้ำพุไว้บริเวณปลายทางของท่อส่งน้ำ
น้ำพุเทรวี เป็นศิลปะแบบบารอค
(Baroque) ซึ่งเน้นความสง่างามและความยิ่งใหญ่ พระสันตะปาปา นิโคลาส ที่ 5
ซ่อมแซมท่อส่งน้ำนี้ขึ้นมาใช้การใหม่ในปี ค.ศ. 1453 และได้สร้างน้ำพุขึ้นมา พระสันตะปาปา อูร์บาโน ที่ 8
ได้ให้ ปิเอโตร แบร์นินี (Pietro Bernimi: 1562-1629) ออกแบบบูรณะน้ำพุแห่งนี้ให้ดูตระการตามากขึ้นในปี ค.ศ. 1629 แบร์นินีได้ขยายน้ำพุให้หันหน้าไปยังพระราชวังฤดูร้อนของพระสันตะปาปา (Quirinale)
(ปัจจุบันเป็นที่พำนักของประธานาธิบดีอิตาลี) ต่อมานิโกลา ซัลวี (Nicola
Salvi: 1697-1751) ออกแบบและต่อเติมน้ำพุนี้ให้เป็นศิลปะแบบบารอคในปี ค.ศ. 1732-1762 ส่วนปราสาทด้านหลังของน้ำพุเป็นปราสาทประจำตระกูลคอนติ
(Conti) มีตำแหน่งเป็นท่านดยุ๊ค
(Duke)
พูดถึงตำนานเกี่ยวกับน้ำพุเทรวีมีหลายเรื่อง
แต่ตำนานที่เล่าอยู่ในหลักสูตรและในตำราเรียนของอิตาเลียนมีว่า “ผู้ใดปรารถนาจะพบรักแท้
ให้โยนเหรียญ 1 เหรียญ (เลข 1 แทนรักเดียวใจเดียว), ผู้ใดปรารถนาจะได้โชคลาภ ให้โยนเหรียญ 2
เหรียญ (เลข 2 มีความหมายเท่ากับทวีคูณ)
และผู้ใดปรารถนาจะกลับมาที่กรุงโรมอีกครั้ง ให้โยนเหรียญ 3 เหรียญ (เลข 3 หมายถึงนิรันดรกาลตามความหมายในพระคัมภีร์)” ด้วยความเชื่อตามตำนานดังกล่าว
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนน้ำพุเทรวีต้องหันหลังโยนเหรียญลงไปในน้ำพุทุกครั้งไป
ตลอดเวลาสองปีที่ผู้เขียนเรียนที่กรุงโรม
ได้แวะเวียนมาที่น้ำพุแห่งนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยโยนเหรียญลงไปเลยสักครั้งเดียว ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ
ไม่มีเงิน แต่ถึงกระนั้นยังได้มีโอกาสกลับมาที่กรุงโรมอีกครั้ง (แสดงว่าตำนานดังกล่าวจึงไม่น่าจะจริง)
แต่ที่จริงแท้แน่นอนคือ มีคนโยนเหรียญลงในน้ำพุเฉลี่ยวันละ 3,000 ยูโร เป็นจำนวนเงินที่มากพอสำหรับสร้างประโยชน์แก่สังคมได้ นี่คือเหตุผลที่ยังคงต้องมีตำนานดังกล่าวอยู่ถึงทุกวันนี้
ส่งท้าย
การไปแสวงบุญฝรั่งเศสและอิตาลีครั้งนี้ ทำให้นึกถึงสำนวนภาษาฝรั่งเศสบทหนึ่งที่เคยเรียนเวลาเป็นเด็ก “Le voyage forme la geneses.” แปลว่า การเดินทางช่วยกล่อมเกลาเยาวชน เด็กๆ ย่อมสนุกกับการเดินทางเพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน แม้ผู้เขียนและคณะที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันจะเลยวัยเยาว์กันมานานมากแล้ว แต่การได้เดินทางไปแสวงบุญต่างแดน ได้พบเห็นสถานที่ บุคคลและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป ย่อมเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นและช่วยเพิ่มพูนความเชื่อศรัทธาของตน ได้ไม่น้อยเช่นกัน
บันไดสเปนและที่พำนักของประธานนาธิบดีอิตาลี
ขอบคุณเป็นพิเศษ คุณแม่โดนาตา พีรพงศ์พิพัฒน์ มหาธิการิณีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ผู้เขียนให้ร่วมเดินทางไปกับคณะด้วย แต่ละแห่งที่ไปและเรื่องราวที่กล่าวถึง เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งที่ได้รับรู้จากการศึกษาค้นคว้าและเห็นมา จึงนำมาแบ่งปันแบบเล่าสู่กันฟัง อาจไม่สมบูรณ์หรือมีสีสันเหมือนมืออาชีพ แต่ถือเป็นสิ่งละอันพันละน้อยและของฝากจากแดนไกลสำหรับคนที่ยังไม่เคยไปมาก่อน และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่เตรียมตัวจะเดินทางไปเยี่ยมชมในอนาคตข้างหน้าได้บ้าง
กล่าวกันว่า หากอิฐแต่ละก้อนที่ทับซ้อนกันเป็นซากปรักหักพังของโบสถ์วิหารหรือกำแพงเมือง ในแต่ละแห่งมีชีวิต คงสามารถบอกเล่าเรื่องราวและความจริงที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนให้เราได้ทราบมากกว่านี้ และด้วยข้อจำกัดของสติปัญญามนุษย์ อีกทั้งเวลาและหน้ากระดาษที่ไม่เอื้ออำนวย จึงไม่สามารถนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้ทั้งหมด แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของการแสวงบุญ แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและชวนศรัทธา เมื่อถึงคราวที่จะต้องกล่าวคำอำลาและจากบุคคลหรือสถานที่แห่งนั้น ย่อมเป็นเวลาแห่งความเจ็บปวดและโศกเศร้าเสมอ ดังสำนวนภาษาฝรั่งเศสที่ว่า “Partir c'est mourir un peu.” ลาก่อนอิตาลี Ciao Italia!
Don Daniele เรียบเรียง/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น