วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับบ้านช้างมิ่ง


ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับบ้านช้างมิ่ง

เมื่อวานนี้ (29 ธันวาคม 2012) ได้มีโอกาสไปร่วมสมโภช 125 แห่งความเชื่อของพี่น้องชาวช้างมิ่ง ได้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพี่น้องชาวช้างมิ่งแล้ว อดรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจกับคุณพ่อผู้รับผิดชอบ (คุณพ่อเฉลิมศิลป์ จันลาและคุณพ่อพนม ลือประสิทธิ์) และพี่น้องชาวช้างมิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะความรู้สึกผูกพันกับรากเหง้าของตนเองและวัดวาศาสนา วันนี้จึงขออนุญาตเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับช้างมิ่งบ้าง


1.           เรื่องรากเหง้าและที่มาของชาวช้างมิ่ง

เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันว่าบรรพบุรุษของชาวช้างมิ่งเป็นชนเผ่าภูไท ที่อพยพมาจากประเทศลาวเหมือนชนเผ่าภูไทหลายหมู่บ้านในประเทศไทย โดยมาตั้งรกรากอยู่บริเวณบ้านโคกเสาขวัญเป็นแห่งแรก ก่อนจะย้ายมาที่หนองโดก-นาคำ แล้วถึงได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่หนองเหมือด-หนองอีนาง ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของบ้านช้างมิ่งในปัจจุบัน ต่อมาได้มีกลุ่มหนึ่งแยกตัวออกไปตั้งบ้านเรือนที่หนองเดิ่นแต่ส่วนใหญ่ยังคงตั้งหลักปักฐานที่ช้างมิ่ง

มีเอกสารหลักฐานบางอย่างที่ยืนยันว่าบรรพบุรุษของชาวช้างมิ่งไม่ได้เป็นชาวภูไททั้งหมด จากสำเนาหนังสือเข้าที่คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ บันทึกไว้เป็นภาษาวัด (ภาษาวัดคือภาษาไทยที่เขียนด้วยอักษรโรมัน) เอกสารนี้มีอายุ 117 ปี ถือเป็นหลักฐานชั้นต้น (Primary Sources) ที่เขียนด้วยลายมือจากปากกาคอแล้ง (ปากกาที่มีปลายแหลมใช้จุ่มน้ำหมึกแล้วเขียนบนสมุดบันทึก)


เป็นเอกสาร เลขที่ 165 ลงวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) เรื่องว่า

ขุนจำนง นายกองบ้านช้างมิ่ง มีหนังสือกราบเรียนท่านบาทหลวง เจ กอมบูริเออ ว่า เจ้านายเมืองกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มาปักป้ายใจกลางวัด ในป้ายนั้นมีใจความว่า จะมาปล้นเอาทาส ลูกหนี้ของเมืองกาฬสินธุ์ ขอนแก่น คือว่า ถ้าเอาเป็นไม่ได้ก็จะเอาตาย

จากเอกสารนี้แสดงว่า บรรพบุรุษของชาวช้างมิ่งมีบางคนที่เป็นทาสหรือลูกหนี้ที่หนีมาจากกาฬสินธุ์และขอนแก่น ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในสมัยนั้นว่า บรรดามิชชันนารีเป็นที่พึ่งพาและปกป้องพวกเขาได้ จึงมีบุคคลประเภทหนีร้อนมาพึ่งเย็นทั้งที่เป็นทาส ลูกหนี้หรือผู้ร้ายอ้ายขโมยมาขอพึ่ง บรรพบุรุษของคริสตชนหลายหมู่บ้านในสังฆมณฑลของเรามาจากคนจำพวกนี้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ท่าแร่ ทุ่งมน นาโพธิ์

คงเป็นเพราะบรรพบุรุษของชาวช้างมิ่งประกอบด้วยคนกลุ่มนี้ด้วยกระมัง จึงทำให้ภาษาพูดของชาวช้างมิ่ง มิใช่ภาษาภูไทแท้ๆ เหมือนชาวหนองเดิ่น นาคำหรือนาโพธิ์ แต่เป็นภาษาที่ผสมระหว่างภาษาภูไทกับภาษาของคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นจากกาฬสินธุ์และขอนแก่น ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากทีเดียวจนทำให้ชาวช้างมิ่งดั้งเดิมซึ่งเป็นชาวภูไท ไม่สามารถรักษาเอกลักษณ์ทางภาษาของตนไว้ได้ เลยกลายเป็นภาษาเฉพาะของชาวช้างมิ่งในปัจจุบันที่ไม่เหมือนหมู่บ้านอื่นที่อยู่รายรอบ อีกทั้งเป็นภาษาที่นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างเหมือนภาษากาฬสินธุ์หรือขอนแก่นที่เราได้เคยยิน



2.           เรื่องตึกลากอล์ม

ตึกลากอล์มเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ตั้งเด่นเป็นสง่าคู่กับช้างมิ่งมาเป็นเวลานาน หากสังเกตที่ด้านหน้าตึกจะปรากฏชื่อ “ตึกลากอล์ม ปี พ.ศ. 2432 ค.ศ. 1889 หลายคนที่พบเห็นอาจเข้าใจว่าตึกนี้สร้างในปี ค.ศ. 1889 หรือ พ.ศ. 2432 ตามที่เขียนไว้จริงๆ รวมถึงลูกหลานชาวช้างมิ่งในปัจจุบันก็อาจเข้าใจอย่างนั้น แต่หากถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ อาทิ อดีตกำนันกลึง ทิพย์ทอง ก็จะรู้ว่าตึกนี้สร้างในสมัยคุณพ่อลากอล์ม ซึ่งมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างมิ่งในช่วงปี ค.ศ. 1914-1940 (พ.ศ. 2457-2483)

แต่หากพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลและความน่าจะเป็น ก็จะเข้าใจว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะสร้างตึกลากอล์มในปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมิสซังอยู่ในสภาพที่ลำบากมาก และยังขึ้นอยู่กับมิสซังกรุงเทพฯซึ่งคุณพ่อโปรดมต้องเดินทางไปรับการสนับสนุนและขอมิชชันนารีมาช่วยงานทุกปีในเดือนพฤศจิกายน ที่สำคัญ ขณะนั้นบ้านพักของอุปสังฆราชยังไม่มีเลย มีเพียงที่พักที่ซื้อบ้านหลังเล็กๆ ของชาวบ้านมาปลูกเป็นทั้งวัดน้อยและที่พัก ทั้งที่บุ่งกะแทว คำเกิ้มและท่าแร่ บ้านพักถาวรที่เป็นบ้านไม้สำหรับใช้เป็นบ้านอุปสังฆราชและศูนย์กลางมิสซังที่คำเกิ้ม ยังต้องอาศัยบรรดามิชชันนารีเรี่ยไรกันได้เงินจำนวน 800.- บาท และรอถึงวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) จึงได้เริ่มก่อสร้าง


วัดทุกวัดที่สร้างขึ้นขณะนั้นยังเป็นวัดชั่วคราว ประเภท “ฝาขัดแตะฝาแถบตอง” วัดถาวรที่บุ่งกะแทวที่มีโครงสร้างเป็นไม้ (วัดแม่พระนิรมล อุบลราชธานี วัดหลังแรกในภาคอีสาน) เริ่มสร้างวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) เสกเปิดวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) ส่วนวัดผนังก่ออิฐถือปูนที่ท่าแร่ เริ่มสร้างต้นปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเสร็จ มีพิธีเสกเปิดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) จึงเป็นไปไม่ได้ที่วัดช้างมิ่งขณะนั้นซึ่งอยู่ในความดูแลของวัดท่าแร่จะสามารถสร้างบ้านพักใหญ่โตขนาดนั้นได้

อีกทั้ง ช่วงเวลาดังกล่าวพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ดูแลวัดช้างมิ่งคือคุณพ่อกองเต (ค.ศ. 1888-1891) เป็นผู้ช่วยคุณพ่อกอมบูริเออที่ท่าแร่ หากคุณพ่อกองเต สามารถสร้างตึกลากอล์มในช่วงปีดังกล่าวได้จริง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะใช้ชื่อ “ลากอล์ม” เพราะเวลานั้นคุณพ่อลากอล์มยังไม่ได้เข้ามาทำงานในภาคอีสานเลย ดังรายชื่อพระสงฆ์และครูคำสอนที่มาทำงานในภาคอีสานระหว่างปี ค.ศ. 1881-1899 (พ.ศ. 2424-2442) ใน หนังสือประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว โดยพระสังฆราช เกลาดีอุส บาเย ไม่ปรากฏชื่อของคุณพ่อลากอล์มแต่อย่างใด


ปัญหาที่ตามมาคือ แล้วปี “พ.ศ. 2432 ค.ศ. 1889 ที่จารึกบนตึกลากกอล์มหมายถึงอะไร ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ เป็นปีที่บรรพบุรุษชาวช้างมิ่งย้ายจากทุ่งโพนทองมาตั้งรกรากที่ช้างมิ่ง หรือเป็นปีที่ล้างบาปกลุ่มคริสตชนแรกที่ช้างมิ่ง เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของชาวนาบัวที่ได้รับแสงสว่างแห่งพระวรสารปี ค.ศ. 1887 แต่ได้รับศีลล้างบาปเป็นกลุ่มแรกวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2443) (อีก 3 ปีให้หลัง) นี่คือวิธีปฏิบัติของบรรดามิชชันนารีในสมัยนั้น (ให้เรียนคำสอนก่อน 2-3 ปีถึงโปรดศีลล้างบาป)

ส่วนวันเวลาที่สร้างตึกลากอล์มจริงๆ น่าจะเป็นโอกาสหิรัญสมโภชการก่อตั้งหมู่บ้านหรือการล้างบาปกลุ่มคริสตชนแรกในปี ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อลากอล์มมาเป็นเจ้าอาวาสที่ช้างมิ่ง หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง ตึกลากอล์มก็จะมีอายุ 99 ปี แต่มิใช่สิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ ที่เก่าแก่ที่สุดคือ วัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม (หลังเก่า) เพราะวัดหลังนี้เสกเปิดในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) นับเนื่องถึงปัจจุบันจะมีอายุ 105 ปี และต้องถือเป็นวัดคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดของภาคอีสานด้วย (ที่หลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน)
 บ้านพระสังฆราช (ศูนย์กลางมิสซัง) และวัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม

ที่กล่าวมาทั้งหมด มาจากหลักฐาน ข้อมูลและพยานแวดล้อมที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็เป็นได้ ผู้เขียนพร้อมที่จะเปิดรับข้อมูลใหม่และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กับผู้รู้ทุกท่าน เพื่อความเข้าใจถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด เพราะนี่คือวิธีหนึ่งของการรักษามรดกทางความเชื่อ ที่มิชชันนารีและบรรพชนในอดีตทิ้งไว้ให้อย่างรู้คุณค่า
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
30 ธันวาคม 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น