125 ปี นาโพธิ์ถิ่นภูไท
ชุมชนวัดนักบุญมารีอามักดาเลนา นาโพธิ์ ฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ วันที่ 10 ธันวาคม |
คุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ ผู้บุกเบิกและไถ่จากการเป็นทาส
การก่อตั้งหมู่บ้านจากคำบอกเล่าของนางสิงห์คำ สูตรสุคล อายุ 84 ปี ที่ได้ยินนายกงจันทร์ เนืองทอง ผู้เป็นบิดาและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อพยพมาในครั้งนั้นเล่าให้ฟังเวลาเป็นเด็กทำให้ทราบว่า คุณพ่อกอมบูริเออ ประสงค์จะให้ชาวนาโพธิ์ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณหนองแฮ่ใกล้ท่าแร่เพื่อความสะดวกในการดูแลและอภิบาล แต่พวกเขาไม่สามารถอยู่ได้ แม้บริเวณดังกล่าวในสมัยนั้นจะอุดมด้วยสัตว์น้ำนานาชนิดเนื่องจากอยู่ติดหนองหาร แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ใหม่อันเป็นที่มาของบ้านนาโพธิ์ในปัจจุบัน เพราะบริเวณที่พวกเขาอยู่ในระยะเริ่มแรกไม่มีที่สำหรับทำไร่ทำนา ประกอบกับเมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมถึงทำให้ไม่สะดวกในการตั้งหลักแหล่งในบริเวณดังกล่าว
จากหลักฐานทะเบียนศีลล้างบาปที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ ในโอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) คุณพ่อได้โปรดศีลล้างบาปแก่คริสตชนชาวนาโพธิ์กลุ่มแรกจำนวน 8 คน ที่วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) มีผู้รับศีลล้างบาปเพิ่มอีกรวมจำนวน 11 คน แสดงว่าคริสตชนชาวนาโพธิ์ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณหนองแฮ่ประมาณ 2 ปี ที่สุด คริสตชนใหม่และผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนประมาณ 20 ครอบครัว ราว 120 คนได้ย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์กว่า บริเวณลำห้วยโพธิ์ ห้วยลึก และห้วยจับห่างจากบ้านท่าแร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งสมัยนั้นยังคงเป็นป่าทึบมีสัตว์ป่านานาชนิด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยต้นโพธิ์จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “นาโพธิ์” ในชั้นแรกคุณพ่อกอมบูริเออ คงไม่เห็นดีด้วย เห็นได้จากลักษณะการก่อตั้งบ้านเรือนของชาวนาโพธิ์ไม่มีการวางผังที่เป็นระเบียบสวยงามเหมือนวัดท่าแร่ ช้างมิ่ง จันทร์เพ็ญและทุ่งมน ที่คุณพ่อได้ก่อตั้ง
อย่างไรก็ดี บรรพบุรุษชาวนาโพธิ์ก็ได้ตั้งหลักแหล่งในบริเวณดังกล่าวโดยมีขุนชำนาญ เป็นนายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านคนแรก ดังปรากฎในเอกสาร “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” ของคุณพ่อกอมบูริเออ ที่บันทึกด้วยอักษรโรมัน (ภาษาวัด) เลขที่ 194 และ 196 ลงวันที่ 4 และ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1898 (พ.ศ.2441) ตามลำดับ อันเป็นหนังสือที่พระวรสิทธิ์ธนานุคุณ เจ้าเมืองกุสุมาลย์ และพระศรีวรบุตร ผู้ช่วย ส่งมายังขุนชำนาญ นายบ้านนาโพธิ์ เพื่อให้เร่งรัดชาวนาโพธิ์เสียเงินค่าภาษีสุรา และขุนชำนาญ ได้ตอบกลับไปว่า ที่บ้านนาโพธิ์ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ต้มสุรา จึงเสียเงินค่าภาษีให้ไม่ได้ แต่ต่อมาภายหลังขุนชำนาญ ถูกจับกุมคุมตัวไปท่าแร่ ด้วยกลัวว่าจะเกิดปัญหาตามมาจึงได้ยืมเงินคุณพ่อกอมบูริเออ จำนวน 5 บาทจ่ายค่าภาษีแทนชาวนาโพธิ์
ลักษณะวัดไม้ถาวรหลังที่ 3 ซึ่งยกพื้นสูง สร้างโดยคุณพ่ออองรี โทมิน
การสร้างวัด
หลังจากตั้งบ้านเรือนที่นาโพธิ์ได้ไม่นาน คุณพ่อกอมบูริเออ ได้สร้างวัดหลังแรกขึ้นตรงกลางหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นโรงเรือนหลังคามุงจากฝาขัดแตะขนาด 4 ห้อง โดยมีพิธีเสกและเปิดวัดใหม่พร้อมกับการล้างบาปคริสตชนกลุ่มแรก ณ ดินแดนใหม่นี้จำนวน 19 คน ซึ่งตรงกับวันฉลองนักบุญมารีอามักดาเลนา วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ดังปรากฏในทะเบียนศีลล้างบาป ที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ วัดนี้จึงได้นาม “นักบุญมารีอามักดาเลนา” เป็นองค์อุปถัมภ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และคุณพ่อกอมบูริเออ ได้มอบหมายให้อยู่ในความดูแลของครูคำสอนคนหนึ่งที่ชื่อ “ครูหยุย”
จากเอกสาร “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” ของคุณพ่อกอมบูริเออ เลขที่ 364 ลงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2453) ความว่า “พระสุนทรธนศักดิ์ ปลัดมณฑลประจำเมืองสกลนคร ตอบอนุญาตมาถึงท่านบาทหลวง เจ กอมบูริเออ ในการที่ขอให้ราษฎรบ้านนาโพธิ์เว้นการโยธาสำหรับจะได้อยู่สร้างวัด และจัดแจงถนนหนทางบ้านนาโพธิ์ให้สะอาดเรียบร้อย” ทำให้เราได้ทราบว่า คุณพ่อกอมบูริเออ ได้นำชาวบ้านสร้างวัดหลังที่ 2 ขึ้น เป็นวัดขนาด 9 ห้องฝาขัดแตะพอกดินเหนียว แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนักเกี่ยวกับวัดหลังที่สองนี้
วัดไม้ชั่วคราวหลังที่ 4 สร้างโดยคุณพ่ออินตา นันสีทอง ที่ใช้งานมานานถึง 24 ปี
ส่วนวัดหลังที่ 3 สร้างในสมัยที่คุณพ่อฮังรี โทมิน เป็นผู้ดูแลขณะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณพ่อกอมบูริเออ ที่ท่าแร่ และได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ดูแลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้เริ่มลงมือสร้างวัดใหม่ตั้งแต่เมื่อไร ซึ่งวัดหลังดังกล่าวมีลักษณะเป็นวัดไม้ชั้นเดียวสร้างด้วยซุงขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 50 เซนติเมตร โดยมีนายกง เนืองทอง เป็นนายช่าง เสาตั้งอยู่บนฐานหินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร มีโดมหอระฆังอยู่ด้านหน้า เสียดายที่วัดหลังนั้นได้พังทลายลงเมื่อคราวเกิดพายุใหญ่ในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) จนใช้การไม่ได้ คุณพ่อยอแซฟ อินตา นันสีทอง เจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงรื้อถอนและสร้างวัดไม้ชั่วคราวหลังที่สี่ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 30 เมตร ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรขึ้น โดยมีนายซีมอน ถนอม ถิ่นวัลย์ เป็นนายช่าง วัดชั่วคราวหลังนี้ก็ได้ใช้ในการประกอบศาสนกิจต่อมาเป็นเวลานานจนชำรุดทรุดโทรม และในสมัยคุณพ่อปีโอ ไอศวรรย์ จันทร์ลือชัย เป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) มีความพยายามจะสร้างวัดหลังใหม่แต่ไม่สำเร็จ ส่วนบ้านพักพระสงฆ์หลังเก่าซึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้นสร้างในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) โดยคุณพ่อมีคาแอล เสนีย์ สกนธวัฒน์ โดยซื้อบ้านของนางพิม ซึมเมฆ แล้วนำไปดัดแปลงทำเป็นสองชั้น พร้อมกับสร้างโรงครัวและฉางข้าวใหญ่เพื่อทำเป็นธนาคารข้าวสำหรับชาวบ้าน
ปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ นรินทร์ ศิริวิริยานันท์ ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสคุณพ่อได้ร่วมมือกับชาวบ้านในการปรับปรุงพัฒนาวัด ด้วยการสร้างบ้านพักพระสงฆ์และเตรียมการก่อสร้างวัดหลังใหม่ ก่อนจะเริ่มลงมือก่อสร้างวัด พี่น้องสัตบุรุษชาวนาโพธิ์ได้มีโอกาสร่วมโมทนาคุณพระเป็นเจ้าในพิธีบูชามิสซาแรกของ คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ ที่วัดหลังเก่าเมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) โดยมีบรรดาพระสงฆ์และสัตบุรุษมาร่วมเป็นจำนวนมาก นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของหมู่บ้านตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านมา 105 ปี โดยได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ณ ปะรำพิธีวัดแม่พระไถ่ทาสสองคอน โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
วัดหลังปัจจุบัน สร้างโดยคุณพ่อนรินทร์ ศิริวิริยานันท์ เสกเปิดวันที่ 20 เมษายน 1995
ที่สุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 (พ.ศ.2537) การสร้างวัดหลังปัจจุบันซึ่งเป็นวัดหลังที่ 5 ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยได้รับเงินสนับสนุนจากอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง โดยมีคุณพ่อนรินทร์ เป็นหัวแรงสำคัญในการก่อสร้างและบอกบุญไปยังผู้มีจิตศรัทธาต่างๆ และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวนาโพธิ์ภายใต้การนำของอาจารย์ศรีสมุทร สวนียานันท์ เลขาธิการสภาอภิบาลวัด การก่อสร้างวัดใหม่ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์มีพิธีเสกและเปิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน และใช้เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีทางศาสนาของชาวนาโพธิ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกันนี้คุณพ่อนรินทร์ ได้สร้างศาลาอเนกประสงค์ใหม่บริเวณด้านข้างวัดทางทิศตะวันตก และโรงคำสอนด้านหลังวัดโดยใช้ไม้ที่รื้อจากวัดเก่าด้วย
บรรยากาศการฉลองครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ วันที่ 10 ธันวาคม 2012
มีผู้แทนจากคณะอูร์สุลินแห่งสหภาพโรมันมาร่วมความยินดีด้วย
มีคุณพ่อวีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราช เป็นประธานในพิธีแทนพระสังฆราชที่ไปต่างประเทศ
บรรดานักฟ้อนรำภูไท โอกาสครบรอบ 125 ปีแห่งความเชื่อ
ชุดสีฟ้าคาดแดง สไบเฉียงสีขาวเอกลักษณ์เฉพาะของภูไทจากเรณูนคร
คุณพ่อวีระเดช ใจเสรี กำลังเทศน์เตือนใจผู้มาร่วมฉลอง 125 ปี
คุณพ่อชำนาญ บัวขันธ์ เจ้าอาวาส กล่าวรายงานต่อคุณพ่อวีระเดช ใจเสรีและผู้มาร่วมงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น