อคติและการไม่ยอมรับ
วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 14
เทศกาลธรรมดา
ปี B
|
อสค 2:2-5
2 คร 12:7-10
มก 6:1-6
|
บทนำ
ในปี ค.ศ. 1960 ได้เกิดการเบียดเบียนศาสนาที่ประเทศซูดานในทวีปแอฟริกา
ทำให้เด็กชายผิวดำคนหนึ่งชื่อ ปาไรด์ ทาบัน (Paride
Taban) หนีภัยไปอยู่ประเทศอูกันดา ที่อูกันดานี่เอง
ทาบันได้เข้าบ้านเณรและต่อมาได้บวชเป็นพระสงฆ์
เมื่อเหตุการณ์ที่ซูดานบ้านเกิดสงบลง
คุณพ่อทาบันได้เดินทางกลับบ้านเกิด และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสที่หมู่บ้านพาโลตากา
แต่ชาวบ้านที่พาโลตากาไม่ยอมรับคุณพ่อทาบัน เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าคุณพ่อทาบันเป็นพระสงฆ์
เนื่องจากพวกเขาไม่เคยมีพระสงฆ์ผิวดำมาก่อน พวกเขาคุ้นเคยแต่พระสงฆ์ผิวขาวที่นำเสื้อผ้า
ยารักษาโรคและสิ่งของมาให้พวกเขา ขณะที่คุณพ่อทาบันเป็นชนเผ่ามาดี (Madi) ที่ยากจนเหมือนพวกเขาและไม่มีอะไรมาให้
เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อคุณพ่อทาบันอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพระศาสนจักรหลังสังคายนาวาติกันที่สอง
ความเปลี่ยนแปลงนี้ยิ่งทำให้พวกเขายากจะยอมรับ พวกเขาพูดกันว่า “ชายหนุ่มผิวดำคนนี้
หันพระแท่นมาหาพวกเราและถวายมิสซาด้วยภาษาของเรา ไม่ใช่ภาษาลาตินที่เราเคยได้ยิน เขาจึงไม่ใช่พระสงฆ์ที่แท้จริง”
เรื่องราวของคุณพ่อทาบัน เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการปฏิเสธและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมชาติ
เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าที่ถูกชาวนาซาเร็ธปฏิเสธและไม่ยอมรับ
เมื่อพระองค์เสด็จกลับนาซาเร็ธบ้านเกิดของพระองค์ พวกเขาพูดกันว่า “เขาไม่ใช่ลูกช่างไม้เหมือนเราดอกหรือ
เขาได้อำนาจและความรู้เกี่ยวกับพระเจ้านี้มาจากไหน” พวกเขาจึงปฏิเสธและไม่ยอมรับพระองค์
1.
อคติและการไม่ยอมรับ
พระวรสารของวันนี้กล่าวถึงเรื่องราวของพระเยซูเจ้า
กับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในศาลาธรรมเมืองนาซาเร็ธ สถานที่ซึ่งพระองค์เคยเจริญวัย
ชาวนาซาเร็ธไม่ต้อนรับพระองค์และปฏิเสธที่จะฟังพระองค์ ทั้งนี้เพราะอคติและจิตใจที่คับแคบของพวกเขา
ที่คิดว่าพระองค์เป็นแค่ลูกของช่างไม้ชื่อโยเซฟ และแม่ชื่อมารีย์ หญิงชาวบ้านที่ไม่มีอะไร
แล้วพระองค์ได้ปรีชาญาณนี้มาจากไหน พวกเขาอยากให้พระองค์แสดง (อัศจรรย์)
ให้พวกเขาได้เห็นว่าพระองค์เป็นพระผู้ไถ่ที่แท้จริง
พระเยซูเจ้ารู้ถึงความต้องการของพวกเขา จึงตรัสว่า “ประกาศกย่อมไม่ถูกเหยียดหยาม นอกจากในถิ่นกำเนิด
ท่ามกลางวงศ์ญาติและในบ้านของตน” (มก 6:4)
นี่คือความจริงที่ทิ่มแทงใจดำพวกเขา
เราอาจตกในบาปเดียวกันกับพวกเขาคือ “บาปของความใจแคบ” จิตใจที่ริษยาและคับแคบทำให้มองไม่เห็นด้านดีของผู้อื่นหรือสิ่งอื่น
พระเยซูเจ้าได้ตอบปัญหานี้ด้วยพระองค์เองเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ศิษย์ย่อมไม่อยู่เหนืออาจารย์
และผู้รับใช้ย่อมไม่อยู่เหนือนาย” (มธ 10:24) นั่นหมายความว่า เมื่อประชาชนปฏิเสธพระเยซูเจ้า
เราจึงไม่ควรแปลกใจหากเราจะถูกปฏิเสธบ้าง
โดยเฉพาะเมื่อเรายืนหยัดในหลักศีลธรรมและความถูกต้อง อาทิ การต่อต้านการทำแท้ง
การไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงและความอยุติธรรมในสังคม
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้
ได้ให้บทเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับเราคริสตชนหลายประการ
ประการแรก เราต้องเผชิญหน้ากับการถูกปฏิเสธด้วยความกล้าหาญและมองโลกในแง่ดี
เรื่องราวการไม่ได้รับการยอมรับของพระเยซูเจ้า
คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา แต่ละคนมีประสบการณ์ความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธ
การทรยศหักหลัง การอย่าร้าง การไม่เชื่อฟัง การถูกทอดทิ้ง ฯลฯ ให้เรามองดูในอีกด้านหนึ่ง
เราอาจไม่ได้เป็นตัวแทนที่ดีของพระเจ้า
หรือบ่อยครั้งเราอาจมองไม่เห็นพระเจ้าในตัวบุคคลอื่น เพราะอคติและความใจแคบของเรา
ที่มองแต่เพียงชาติกำเนิดหรือฐานะทางสังคมที่ปรากฏภายนอก
ประการที่สอง
เราต้องเผชิญหน้ากับการถูกปฏิเสธด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ด้วยการยอมรับตัวเราเองและผู้อื่น
มิใช่ด้วยความโกรธฉุนเฉียวอย่างที่เราเคยกระทำ
เราต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
เรามิใช่คนดีพร้อมและไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจหรือถูกใจได้
แต่เราต้องมีความอดทนในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ในทุกวิกฤตมีโอกาส ที่เราสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนให้เป็นสิ่งดีงามสำหรับชีวิตเราได้
ประการที่สาม เราต้องตระหนักถึงความดีของพระเจ้าท่ามกลางเรา พระเจ้าทรงต้องการให้เราเป็นพยานแห่งความดีกับบุคคลที่เรารักและใกล้ชิดเรา
อาทิ สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านและผู้ร่วมงาน เราต้องกล้าที่จะยืนหยัดถึงความจริงและความถูกต้องของพระคริสตเจ้า
ไม่เงียบเฉยต่อความอยุติธรรมและความไม่ถูกต้องของสังคม
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระวรสารวันนี้สอนเราให้ปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยใจกว้าง
ด้วยท่าทีของความเป็นพี่น้องให้สมกับการเป็นลูกของพระบิดาองค์เดียวกัน มองเห็นความดีของกันและกันโดยปราศจากอคติ เฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยปัจจุบันที่มีความแตกแยกรุนแรง
มีการแบ่งสีเลือกข้าง ความรักของพระเจ้าไม่เคยแบ่งแยกหรือเลือกที่รักมักที่ชัง
ไม่มียิวหรือกรีก ไม่มีทาสหรือไท แต่ทุกคนเป็นพี่น้องกัน
ตลอดสัปดาห์นี้ ขอให้เรามองเห็นคุณค่าและความดีของกันและกัน
ตระหนักในความจริงที่ว่า ไม่มีใครดีพร้อมสมบูรณ์ครบครัน และไม่มีใครเลวอย่างชนิดที่ว่าหาดีไม่ได้
ดังคติที่ว่า “ในชั่วมีดี ในดีมีชั่ว” หรือ “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” เราจึงไม่ควรตัดสินใครด้วยอคติหรือมองผู้อื่นเพียงแค่ชาติกำเนิดหรือฐานะทางสังคมภายนอกที่เราเห็น
แต่ให้เราได้มองผู้อื่นในด้านบวก ดังคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า
“เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างอย่างน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย”
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงแรมอินเขาใหญ่รีสอร์ท นครราชสีมา
05 กรกฎาคม 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น