2+2=5 จงเชื่อฟังหรือไม่ก็เป็น “ปฏิปักษ์”
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในชั้นเรียนสมมุติ
ห้องเรียนสีทึม บรรยากาศชวนให้อึดอัดครูหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้อง
พร้อมการประกาศผ่านเสียงตามสาย ที่ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงบางเกิดขึ้นในโรงเรียน
และย้ำให้ตั้งใจและ “เชื่อฟัง” ในสิ่งที่ครูบอก
ก่อนใช้ชอล์กเขียนบนกระดานดำว่า “2+2 = 5” พร้อมทั้งย้ำให้นักเรียนทั้งชั้นพูดตามว่า
“สอง บวก สอง เท่ากับ
ห้า” ซ้ำแล้วซ้ำอีก
แน่นอนว่าในความเป็นจริง 2+2 ก็ย่อมเท่ากับ 4 นักเรียนคนหนึ่งลุกขึ้น
และกล่าวแย้งว่า ผลของมันควรจะเป็น 4 ไม่ใช่ 5 ครูตอบอย่างหงุดหงิดว่า “ไม่ต้องคิด คุณไม่จำเป็นต้องคิด” ก่อนที่จะถูกสั่งให้นั่งเรียนอย่างสงบ เรื่องราวไม่ได้จบแค่นี้
นักเรียนอีกคนหนึ่งลุกขึ้นมา และย้ำคำตอบเดิมว่า 2+2 อย่างไรก็ต้องเท่ากับคำว่า 4
แน่นอนว่า นี่ได้สร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่ครูอย่างมาก
ผลที่ตามมาเราคงไม่ต้องคาดเดา ว่าผู้ที่ไม่เชื่อครูจะเป็นอย่างไร ตัวหนังเล่าผ่านบริบทง่ายๆ
คือเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ครู นักเรียน และบทเรียน
แต่ถูกแต่งเติมด้วยความเหนือจริงในบางช่วง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “ความเหนือจริง” ในความคิดของคนบางกลุ่ม
อาจแปลงรูปไปเป็น “ความเป็นจริง” ในคนบางกลุ่มหรือบางเหตุการณ์
แน่นอนว่า ครูในเรื่องนี้คือผู้มีอำนาจสูงสุดในห้องเรียน ย่อมมีสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจในทุกเรื่อง
ผิด-ถูกหรือไม่ อาจไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่เรามองเห็นก็คือ การใช้ “อำนาจ” ที่มี อยู่ เพื่อสร้าง “ความจริง” ขึ้นจาก “ความลวง”
นักเรียนที่คิดตาม
ก็ย่อมรู้ดีว่า บางสิ่งที่ถูกสอน มิได้เป็นความจริงเสมอไป การกล่าวแย้ง
จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ใน “ห้องเรียนปกติ”
แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดในห้องเรียนที่ “ไม่ปกติ” การโต้แย้ง
ย่อมกลายเป็นการแสดงความเป็น “ปฏิปักษ์” ปฏิปักษ์ผู้อ่อนน้อมหรือรักตัวกลัวตาย
ก็ย่อมโอนอ่อนไปตามเสียงข่มขู่ แต่ผู้ที่ยังยืนกรานในสิ่งที่ตนเชื่อ “จุดจบ”
ย่อมเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้เสมอ
แล้วเราจะสามารถยืนหยัดเพื่อความจริง เพื่อคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของเรา
ภายใต้อำนาจเผด็จการได้อย่างไร? ยังคงเป็นคำตอบสำหรับคนในหลายประเทศของโลกที่ต้องตามหากันต่อไป
_______________
“Two
And Two” เป็นภาพยนตร์สั้น
ผลงานกำกับโดย บาบัค อันวารี ผู้กำกับชาวอิหร่านที่อาศัยในอังกฤษ ออกฉายเมื่อปี 2011
ได้รับเกียรติให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ อาทิ
เทศกาลภาพยนตร์เรนแดนซ์ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฟอยล์ โดยเมื่อต้นปี 2012
หนังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยม
รางวัลบาฟต้า หรือเทียบเท่ารางวัลออสการ์ของสหรัฐฯ
อันวารีกล่าวว่า
หนังมีความทรงพลังในระดับหนึ่ง และส่งผลต่อผู้ชมในหลายทาง
ไม่ว่าจะในแง่ความล่อแหลม หรือปลุกความคิด หรือกระทั่งเพื่อความบันเทิง จึงเห็นได้ชัดว่า
หนังคือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ในการนำสารความสัมพันธ์ทางสังคม
ผ่านทางภาพเคลื่อนไหว
เขากล่าวว่า
ได้รับแรงบันดาลใจจากการลุกฮือของประชาชนที่เกิดขึ้นทั่วโลกในหลายประเทศ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
จึงเกิดไอเดียและปรึกษากับเกวิน คัลเลน ซึ่งเคยร่วมเขียนบทหนังสั้นที่ยังไม่เคยถูกสร้างเป็นหนังด้วยกัน
ว่าเขาสนใจในการพัฒนาบทต่อไปหรือไม่ และหลังจากที่เขียนบทเสร็จเรียบร้อย
เขาจึงไปขอความช่วยเหลือจาก คิท เฟรเซอร์ เพื่อนและช่างภาพฝีมือดี
ให้มาช่วยถ่ายภาพให้ คิทแสดงความสนใจและไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือเขาเพื่อให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้น
อันวารีต้องตามหาโปรดิวเซอร์อยู่พักหนึ่ง
แต่ก็ไม่พบใครที่จะช่วยทำให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ เขากับเพื่อนๆ จึงร่วมกันเป็นโปรดิวเซอร์เสียเอง
แม้จะมีอุปสรรคมากมาย เงินทุนที่ค่อนข้างจำกัดที่ทำให้ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายกันอย่างรอบคอบ
แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการหาเด็กๆ ที่พูดภาษาฟาร์ซี (ภาษาเปอร์เซีย)
เนื่องจากต้องการทำหนังที่พูดภาษาเปอร์เซียตลอดทั้งเรื่อง
เนื่องจากเขาต้องการให้หนังดูมีความสมจริงที่สุด
แม้ว่าตัวหนังเองจะมีองค์ประกอบเหนือจริงอยู่มากก็ตาม
เขาไม่สามารถหานักแสดงเด็กอิหร่านที่มีประสบการณ์ที่โรงเรียนการแสดงได้ เขาจึงตัดสินใจที่จะตรวจสอบกับชุมชนชาวอิหร่านในอังกฤษ เพื่อดูว่ามีใครที่สนใจบ้าง แต่หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ เราก็ได้นักแสดงเด็กในที่สุด เด็กๆทุกคนในหนังล้วนแต่เป็นนักแสดงหน้าใหม่ทั้งสิ้น แต่พวกเขาก็ทำงานได้ดีมาก
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1342423502&grpid=01&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น