วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (1)

เมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรม "กระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน" ที่โรงแรมอินรีสอร์ทเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ ภคินีและครูคำสอนจากอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง จำนวน 17 คน  เห็นว่ามีเนื้อหาบางอย่างน่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่
ผู้เข้ารับการอบรมกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม

1. ทำไมต้องสอนคริสตศาสนธรรม (คำสอน) ผู้ใหญ่

ก. การอบรมคริสตศาสนธรรม (คำสอน)

การอบรมคริสตศาสนธรรม (คำสอน) คือ การอบรมเด็กๆ เยาวชนและผู้ใหญ่ให้เติบโตใน ความเชื่อ โดยถ่ายทอดคำสอนสำหรับคริสตชนตามลำดับและทำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้เรียนเติบโตในความเชื่อจนถึงขั้นสมบูรณ์ (CT 18)
 เป้าหมายของการอบรมคริสตศาสนธรรม (คำสอน) คือการช่วยให้พี่น้องคริสตชนให้เป็นหนึ่งเดียว สนิทสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์ และดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนของพระองค์ (เทียบ GDC ข้อ 80) ดังนั้นภารกิจพื้นฐานของงานอบรม คือ
·       ส่งเสริมความรู้ด้านความเชื่อ
·       ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม และศีลศักดิ์สิทธิ์
·       ฝึกอบรมด้านศีลธรรม  คือการดำเนินชีวิตในพระคริสตเจ้า และตามคำสอนของพระศาสนจักรปัจจุบัน
·       สอนให้รู้จักการภาวนา
·       สอนให้รักและรับใช้ชุมชน
·       สอนให้เป็นธรรมทูต กล้าแบ่งปันความเชื่อ (เทียบ GDC ข้อ 85-86)





ข. การสอนคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่

                โดยทั่วไป   เราเน้นการสอนคริสตศาสนธรรมแก่เด็กโดยไม่ได้ให้ความสนใจมากนักต่อการอบรม คริสตศาสนธรรมแก่เยาวชน และผู้ใหญ่   การอบรมคริสตศาสนธรรมจึงขาดความต่อเนื่อง (coincat 21) เนื่องจากการสอนคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่ทำให้เกิดพัฒนาการด้านความเชื่อของตนเอง และชุมชนทั้งหมด (coincat 29) ดังนั้นพระศาสนจักรคาทอลิกจึงเน้นว่า การสอนคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามารถรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่แล้วการสอนคริสตศาสนธรรมวัยอื่นๆ แม้ว่าจำเป็นก็จริง แต่ต้องมุ่งไปสู่การสอนคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่ทั้งนั้น (GDC 59)

  ในบริบทของประเทศไทย วัยผู้ใหญ่หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปี ขึ้นไปหรือผู้ที่แต่งงานแล้ว กลุ่มเป้าหมายของคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่เป็นบุคคลหลากหลายประเภท เราจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาสภาพของผู้เรียนในด้านการศึกษา ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อจะได้กำหนดเนื้อหา คริสตศาสน-ธรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์และวุฒิภาวะของความเชื่อ ซึ่งต่อไปเขาจะได้เป็นผู้ถ่ายทอดความเชื่อในครอบครัวและสังคมให้เหมาะกับยุคสมัย ( TDC ข้อ 38-39) 




ค. เหตุผลที่ให้ความสำคัญกับวัยผู้ใหญ่  (GDC 173)

  1. วัยผู้ใหญ่เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่และสิทธิที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อในตัวของพวกเขาบรรลุถึงวุฒิภาวะแห่งความเชื่อ
  2. หวังให้พวกเขามีความรับผิดชอบด้านสังคม หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ทุกรูปแบบ
  3. ความเชื่อของผู้ใหญ่ต้องได้รับการส่องสว่าง พัฒนาและปกป้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเชื่อนั้นจะทำให้ได้รับปรีชาญาณแบบคริสตชน เพื่อทำให้มีความฉลาดในประสบการณ์มากมายทั้งในด้านชีวิตส่วนตัว ด้านสังคมและชีวิตจิต




2. หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ 10 ประการ  (Adult Learning : Ten Principles) มีดังนี้

ในที่นี่จะขอกล่าวถึงองค์ประกอบหรืองหลักการ 10 ประการ ที่จะมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Adult Learning) และจะเป็นการช่วยให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จด้วยดี ปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่เหล่านี้ มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมากในการเรียนรู้และการฝึกอบรมผู้ใหญ่ โดยจะคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.             ควรพิจารณาและให้ความสำคัญกับแรงจูงใจในการเรียน (Motivation to learn) นั่นคือบุคคล   จะเรียนรู้ได้ดี ถ้าหากมีความต้องการในการเรียนสิ่งนั้นๆ
2.             สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ (Learning Environment) ต้องมีความสะดวกสบายเหมาะสมตลอดจนได้รับความไว้วางใจและการให้เกียรติผู้เรียน (Trust and Respect)
3.             ควรคำนึงถึงความต้องการในการเรียนของแต่ละบุคคล และรูปแบบของการเรียนรู้ (Learning Style) ที่มีความหลากหลาย
4.             ต้องคำนึงถึง ความรู้เดิมและประสบการณ์ (Experience) อันมีคุณค่า
5.             ควรได้พิจารณาถึงการดูแลและให้ความสำคัญกับเนื้อหาและกิจกรรมในการเรียนรู้ (Learning Content and Activities)
6.             ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาที่สอดคล้องกับความจริง (Realistic Problems) และนำการเรียนรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา
7.             ต้องให้การเอาใจใส่กับการมีส่วนร่วมทั้งทางด้านสติปัญญาและทางด้านร่างกายในการจัดกิจกรรมเรียนรู้
8.             ควรให้มีเวลาพอเพียงในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ การฝึกทักษะใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ
9.             ให้โอกาสในการฝึกภาคปฏิบัติจนเกิดผลดีหรือการนำความรู้ไปประยุกต์ได้
10.      ให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพ หรือ สมรรถภาพในการเรียนรู้จนกระทั่งเขาได้แลเห็นถึงความก้าวหน้าว่า สามารถบรรลุเป้าหมายได้
              (อ้างอิง: สุวัฒน์ วัฒนวงศ์. 2544. จิตวิทยาเพื่อการฝึกอบรมผู้ใหญ่. กรุงเทพฯ : หน้า 16)

สรุปผู้ใหญ่มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ อาทิ ความก้าวหน้าในอาชีพ ความสนใจในเนื้อหา ตอบสนองความต้องการจากภายนอก ความสนุกสนานที่ได้ใช้ความสามารถทางสติปัญญา และการได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมกิจกรรม หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ จะเน้นการชี้นำตนเองมากกว่าเนื่องจากผู้ใหญ่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล ครูผู้สอนจึงมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้เรียน

* บทบาทและหน้าที่ของครูคำสอนผู้ใหญ่  ( TDC; 2010  ข้อ 45)

ครูคำสอนผู้ใหญ่ ควรมีบทบาทหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) เป็นธรรมทูต เสียสละ และมีน้ำใจ
(2) เป็นผู้อภิบาล ผู้นำทางวิญญาณ และที่ปรึกษา
(3) เป็นมโนธรรมของสังคม ประจักษ์พยาน แบบอย่าง และสอนด้วยชีวิต
(4) เป็นครู ผู้ให้ความรู้ ผู้อบรม เข้าใจสถานการณ์ในสังคม และเข้าใจในพัฒนาการชีวิตของผู้เรียน
(5) เพิ่มเติมความรู้ด้านศาสนาและสังคมอย่างต่อเนื่อง
(6) เป็นมิตร และผู้ร่วมเดินทางกับผู้เรียน





3. คริสตชนผู้ใหญ่หมายถึงใครบ้าง

การสอนคริสตศาสนธรรมผู้ใหญ่มุ่งไปที่ตัวบุคคล จึงต้องตระหนักอย่างจริงจังถึงประสบการณ์ สภาพแวดล้อม และสิ่งท้าทายต่างๆ ที่พวกเขาประสบอยู่ในชีวิต ปัญหาเกี่ยวกับ   ความเชื่อและความต้องการของพวกเขาที่มีอยู่หลากหลายแตกต่างกัน เราจึงแบ่งผู้ใหญ่แบ่งออกเป็นกลุ่ม 5 กลุ่ม  คือ
1.             ผู้ใหญ่คริสตชนที่ดำเนินชีวิตตามความเชื่อของพวกเขาอย่างยึดมั่น สม่ำเสมอ และปรารถนาที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในความเชื่อ
2.             ผู้ใหญ่ที่รับศีลล้างบาปแล้ว แต่มิได้รับการสอนคำสอนอย่างลึกซึ้งเพียงพอ หรือมิได้รับการชี้นำให้บรรลุถึงเป้าหมายการเดินทางที่เริ่มจากการเข้าเป็นคริสตชน หรือผิดพลาดไปจากความเชื่อจนถึงระดับที่อาจเรียกได้ว่าเป็น กึ่งผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน (CT 44)
3.             ผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป เป็นผู้ที่สนใจศาสนาคริสต์และปรารถนาที่จะเข้ามาเป็น คริสตชน ต้องมีการเตรียมตัวเป็นคริสตชนอย่างแท้จริงและถูกต้องเหมาะสม (GDC 172)
4.             ผู้ใหญ่ที่เตรียมตัวเพื่อรับศีลสมรส (ระหว่างคาทอลิกกับคาทอลิก) ผู้ใหญ่ที่เตรียมเข้าพิธีสมรส (ระหว่างคาทอลิกกับผู้ที่นับถือต่างความเชื่อ) และคำสอนครอบครัว
5.             ผู้ใหญ่ในกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้อพยพย้ายถิ่น ผู้ติดยาเสพติด ผู้ถูกคุมขัง ผู้เดินเรือทะเล ผู้ท่องเที่ยว แรงงานต่างชาติในประเทศ ผู้ขายบริการทางเพศ ผู้มีสภาพจิตเบี่ยงเบน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ   

(อ้างอิง: คู่มือแนะแนวการสอนคำสอนในประเทศไทย (TDC ; 2010 ข้อ 42)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น