วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กางเขนและมงกุฎ


 กางเขนและมงกุฎ 

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา
ปี A
ยรม 20:7-9
รม 12:1-2
มธ 16:21-27

บทนำ

ซิสเตอร์ท่านหนึ่งกำลังอธิบายการเดินรูปสิบสี่ภาคให้เด็กๆ ในชั้นเรียนฟัง ซิสเตอร์ได้อธิบายมาถึงสถานที่ 4 ซึ่งเป็นตอนที่พระเยซูเจ้ากำลังแบกกางเขนสู่เขากัลวารีโอและพบกับพระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์ ซิสเตอร์อธิบายว่าการเผชิญหน้ากันในสถานการณ์เช่นนั้น พระนางมารีย์ไม่สามารถสื่อสารกับพระเยซูเจ้าด้วยคำพูดได้ นอกจากสื่อสารกันทางสายตา

ซิสเตอร์จึงถามเด็กในชั้นเรียนว่า “พวกเธอคิดว่าแม่พระและพระเยซูเจ้าสื่อถึงกันว่าอย่างไร” เด็กนักเรียนในชั้นได้ให้คำตอบมากมายแตกต่างกันไป เด็กคนหนึ่งสะท้อนคำพูดของแม่พระว่า “ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ไม่ยุติธรรมเลย” อีกคนบอกว่า “ขอแม่แบกกางเขนแทนได้ไหม” ที่สุดมีเด็กหญิงเล็กๆ คนหนึ่งยกมือขึ้นและพูดกับซิสเตอร์ว่า “ซิสเตอร์คะ หนูรู้ว่าแม่พระบอกพระเยซูว่าอย่างไร เธอบอกพระองค์ว่า จงแบกกางเขนต่อไป ลูก!”

 
ทำไมพระนางมารีย์ถึงบอกให้แบกกางเขนต่อไป เพราะพระนางเข้าใจดีถึงหลักความเชื่อคริสตชนที่ว่า “ไม่มีกางเขน ไม่มีมงกุฎ” พระเยซูเจ้าได้เลือกหนทางแห่งไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ ผ่านทางกางเขนพระองค์จึงได้รับชัยชนะ เราคริสตชนไม่สามารถได้รับเกียรติมงคงรุ่งเรือง หากไม่ผ่านหนทางแห่งไม้กางเขน ดังคติที่ว่า โดยทางกางเขน จะพบความสว่าง (Per Crucem ad Lucem) ความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่มีความหมาย
1.  กางเขนและมงกุฎ

ทางแห่งไม้กางเขน คือเป้าหมายของพระเยซูเจ้าในการเสด็จมาในโลก พระองค์ตรัสกับบรรดาสาวกว่า พระองค์จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม จะถูกมอบแก่ผู้มีอำนาจและถูกทรมานอย่างแสนสาหัส “จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เป็นเรื่องเข้าใจยากว่าทำไมพระเจ้าต้องเลือกการทรมานเพื่อช่วยเรามนุษย์ให้รอด พระองค์สามารถเลือกวิธีที่ง่ายกว่านี้ได้โดยไม่ต้องมีการทรมานใดๆ เพื่อจะเข้าใจความจริงข้อนี้ เราต้องเชื่อในความรักของพระเจ้าที่มีต่อเราว่าเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความรักย่อมอยู่เหนือความเข้าใจและเหตุผลทางโลกเสมอ

บ่อยครั้งในชีวิต เรามักเข้าใจว่ากางเขนคืออุปสรรค เป็นสิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงหรือกำจัดทิ้ง เหมือนอย่างเปโตรที่พยายามขัดขวางพระเยซูเจ้า “ขอเถิด พระเจ้าข้า เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างแน่นอน” (มธ 16:22) ซึ่งไม่ต่างกับคนอื่นทั้งหลายที่หวังว่าพระเยซูเจ้าจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาว ผู้มากอบกู้ชาติ แต่ภายหลังเปโตรได้เข้าใจว่า การทรมานและความตายมิใช่จุดจบของทุกสิ่ง แต่เป็นหนทางสู่ชีวิต เมล็ดพืชต้องเน่าเปื่อยไปเพื่อจะได้เกิดต้นใหม่ ผลิดอกและออกผล ด้วยการตายต่อตัวเองเท่านั้น เราถึงจะได้ชีวิตนิรันดร

พระดำรัสของพระเยซูเจ้าชัดเจนและทรงอำนาจ “ถ้าผู้ใดอยากตามเรามา ก็จงเลิกนึกถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มธ 16:24) บนไม้กางเขนพระองค์ได้แสดงให้เราเห็นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของพระเจ้าและมนุษย์ของพระองค์ ในความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาติ พระองค์ได้เปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายและการประหารอันน่าสะพรึงกลัว ให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและการให้อภัย “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34)

2.  บทเรียนสำหรับเรา

เมื่อเรามองดูกางเขนของพระเยซูเจ้า ได้ให้บทเรียนที่สำคัญอะไรเราบ้าง

ประการแรก  จงเลิกนึกถึงตนเอง นั่นหมายความว่า เราต้องปฏิเสธตัวเองและตอบรับต่อพระเจ้า  ไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือสำคัญผิดว่าตัวเองคือความถูกต้อง แต่ให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด “พระองค์จะต้องทรงยิ่งใหญ่ขึ้นส่วนข้าพเจ้าจะต้องด้อยลง (ยน 3:30) เพราะเมื่อเปรียบเทียบความดีของเรากับพระเจ้าแล้วไม่มีอะไรที่จะต้องอวดตัว นอกจากจะกล่าวเหมือนเปโตรว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8)

ประการที่สอง จงแบกไม้กางเขนของตน เราแต่ละคนมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องแบกในชีวิต นี่คือกางเขนที่เราแต่ละคนจะต้องแบกในแต่ละวัน ต้องละทิ้งความสุขสบายส่วนตัว สิทธิพิเศษ ชื่อเสียงและเกียรติยศเพื่อเห็นแก่พระคริสตเจ้า เราต้องติดตามพระองค์ด้วยหัวใจทั้งครบบนหนทางแห่งไม้กางเขน ในทุกสถานการณ์แห่งชีวิต เพราะหากไม่มีกางเขน ก็ไม่มีมงกุฎ ผ่านทางการแบกไม้กางเขนเท่านั้น เราถึงจะได้รับเกียรติมงคล

ประการที่สาม จงให้อภัยซึ่งกันและกัน บนกางเขนพระเยซูเจ้าได้ให้อภัยผู้ที่กำลังประหารพระองค์  ทุกครั้งที่เรามองดูกางเขนหรือทำสำคัญมหากางเขน ต้องเตือนตัวเราให้เลียนแบบพระองค์ในการให้ภัยความผิดของกันและกัน เวลาที่เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยนั่นคือจุดเริ่มต้นของสันติสุข ดังสุภาษิตแอฟริกาที่ว่า “ผู้ที่ให้อภัยยุติความขัดแย้ง” (He, who forgives, ends the quarrel.) สำหรับเราคริสตชน การให้อภัย หมายถึง การลืม ไม่จดจำความผิด และยกโทษด้วยใจจริง การลืมคือการรักผู้ที่ทำผิดต่อเรามากกว่าเดิม ต้อนรับเขาด้วยใจกว้างและปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาไม่เคยทำอะไรผิดต่อเรามาก่อน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก “ไม้กางเขน เป็นบันไดที่นำไปสู่สวรรค์” (The cross is a ladder leads to heaven) ถือเป็นสิ่งที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อคริสตชน เพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระเจ้าผ่านทางการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า บุตรพระเจ้าที่ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ และทรงเปลี่ยนเครื่องหมายแห่งความตายในสมัยนั้นให้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความรัก การให้อภัยและความรอดนิรันดร

เราได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าเช่นเดียวกับเยเรมีย์ เปาโลและบรรดาสาวก เราจะต้องไม่เป็นเครื่องกีดขวางวิถีทางของพระเยซูเจ้า แต่ต้องเป็นพยานถึงพระองค์ในวิถีทางดำเนินชีวิตของเราแต่ละคน ไม่คิดถึงตนเองและแบกไม้กางเขนของตนติดตามพระองค์ทุกวัน ประการสำคัญให้เราปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์บนกางเขน ที่ทรงวอนขอพระบิดาได้ให้อภัยคนที่ประหารพระองค์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า การให้อภัยนำสันติสุขแท้มาสู่จิตใจของผู้ให้อภัยและผู้ได้รับการอภัย

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
26 สิงหาคม 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น