วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นักเทววิทยาวาติกันสารภาพ “ผมมีความสุขที่เป็นเกย์และผมมีคู่ใจ”


นักเทววิทยาวาติกันสารภาพ “ผมมีความสุขที่เป็นเกย์และผมมีคู่ใจ”
นี่คือข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ภาษาอิตาเลียน (Corriere della Sera) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2015 ก่อนหน้าที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จะเปิดสมัชชาพระสังฆราชว่าด้วยครอบครัวหนึ่งวัน (4 ตุลาคม 2015) นับเป็นข่าวร้อนที่สร้างความตกตะลึงและส่งผลกระทบต่อพระศาสนจักรไม่น้อย เนื่องจากนักเทววิทยาท่านนี้คือ มองซิญอร์ คริสตอฟ การัมซา (MONS. KRZYSZTOF CHARAMSA) ทำงานในสมณกระทรวงหลักความเชื่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 และเป็นเลขาธิการกรรมาธิการฝ่ายเทววิทยานานาชาติ (CTI) ซึ่งเป็นที่รวมของนักเทววิทยาที่มีชื่อเสียงในการออกเอกสารด้านข้อความเชื่อของพระศาสนจักร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011
มองซิญอร์ การัมซา ยังเป็นอาจารย์สอนข้อความเชื่อในหลายมหาวิทยาลัยของสันตะสำนัก มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ท่านนี้ 2 วิชา ในช่วงปี ค.ศ. 2008-2009  ที่ อเตเนอุม เรจินา อโปสโตโลรุม (Athenaeum Regina Apostolorum)  ต้องยอมรับว่าสอนดีมาก ใจดี สุภาพ เป็นกันเองและเข้าใจปัญหาของนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติเนื่องจากเป็นชาวโปแลนด์ ทุกวิชาที่สอนจึงมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนเต็มตลอด จำได้ว่าพวกเราได้แสดงความยินดีกับท่านที่ได้รับแต่งตั้งเป็นมองซิญอร์ด้วยวัยเพียง 35 ปี และพูดกันว่าคงจะมีตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอีกในอนาคต
เพื่อจะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด จึงได้ไปอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอิตาเลียนที่สัมภาษณ์มองซิญอร์ การัมซา ซึ่งได้ลงเนื้อหาการให้สัมภาษณ์โดยละเอียด ดังนี้:
“ผมต้องการให้พระศาสนจักรและหมู่คณะของผมรู้ว่า ผมเป็นพระสงฆ์เกย์ที่มีความสุขและภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน ผมได้เตรียมรับผลที่จะเกิดขึ้น แต่ถึงเวลาที่พระศาสนจักรจะเปิดกว้าง และตระหนักถึงความทุกข์ของเกย์ที่มีความเชื่อในพระเจ้า แต่ต้องตัดสละชีวิตความรักแบบมนุษย์”

 ทำไมถึงตัดสินใจออกมาพูด
“มันคงถึงเวลาที่บางสิ่งที่ถูกบิดซ่อนอยู่ในตัวคุณ และคุณไม่สามารถเดินต่อไปได้ หากผมอยู่คนเดียวผมต้องอยู่ในฝันร้ายของการปฏิเสธการรักเพศเดียวกัน แต่พระเจ้าไม่เคยปล่อยให้เราอยู่คนเดียว และผมเชื่อว่าพระองค์ทรงช่วยผมในการเลือกสำคัญที่เป็นอยู่นี้ มันสำคัญเพราะผลที่ตามมา แต่มันควรเป็นเรื่องปกติสำหรับคนรักเพศเดียวกันทุกคน เป็นข้อเสนอที่จะเจริญชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อกัน เพราะพวกเราล้าหลังมากแล้ว ไม่สามารถคอยอีก 50 ปี ดังนั้นผมจึงตัดสินใจบอกพระศาสนจักรว่าผมเป็นใคร ผมทำสิ่งนี้เพื่อตนเอง เพื่อหมู่คณะของผมและเพื่อพระศาสนจักร อีกทั้งยังเป็นหน้าที่ของผมต่อกลุ่มรักเพศเดียวกันซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย”

ท่านคิดว่าจะได้รับอะไร
“มันดูเหมือนว่าในพระศาสนจักรเราไม่เข้าใจความต้องการรักเพศเดียวกัน เพราะเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพวกรักเพศเดียวกัน ขณะที่พวกเขาอยู่รายรอบตัวเรา แต่เราไม่เคยมองดูพวกเขาถึงข้างใน เราจึงไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ผมหวังว่าเรื่องราวของผมจะช่วยปลุกมโนธรรมของพระศาสนจักรบ้าง ผมจะเปิดเผยความเป็นตัวตนของผมต่อองค์สมเด็จพระสันตะปาปาทางจดหมาย และผมจะบอกสิ่งที่ผมเป็นกับมหาวิทยาลัยต่างๆในโรมที่ผมสอน ผมรู้สึกเสียใจมากที่จะไม่ได้รับอนุญาตให้สอนในสถานศึกษาคาทอลิกอีกต่อไป”

ท่านประกาศก่อนสมัชชาเรื่องครอบครัวซึ่งจะเริ่มวันพรุ่งนี้ที่วาติกัน
“ใช่, ผมต้องการบอกกับสมัชชาว่าความรักของคนรักเพศเดียวกันเป็นความรักแบบหนึ่งของครอบครัว ความรักซึ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว แต่ละบุคคล รวมถึงเกย์ เลสเบียนหรือพวกรักข้ามเพศ ต่างต้องการความรักและครอบครัวในหัวใจ แต่ละคนต่างมีสิทธิ์ที่จะรัก และความรักต้องได้รับการปกป้องจากสังคมและกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องได้รับการเยียวยาจากพระศาสนจักร ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรัก และความรักเป็นเอกลักษณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงนำมามอบให้แก่เราในโลก คู่รักเกย์หรือเลสเบียนต้องสามารถพูดอย่างตรงไปตรงมากับพระศาสนจักร: พวกเรารักซึ่งกันและกันตามธรรมชาติของเรา และเป็นการดียิ่งที่จะมอบความรักของเราแก่กันและกัน เนื่องจากเป็นเรื่องของสาธารณะไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล เราคงไม่สามารถแสวงหาความพึงพอใจที่สุดโต่งจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่ความคิดของพระศาสนจักร
“ไม่ ไม่ใช่กระแสความคิดในหลักความเชื่อของพระศาสนจักร แต่มีความเห็นทำนองเดียวกันนี้ที่เปิดเผยในการค้นคว้าทางเทววิทยา โดยเฉพาะในคริสตจักร แต่พวกเราก็มีนักเทววิทยาที่เก่งหลายคนที่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนเรื่องนี้

แต่คำสอนของพระศาสนจักรวางอยู่บนพระคัมภีร์ที่ให้คำนิยามการรักเพศเดียวกันเป็นความผิดปกติ
“พระคัมภีร์ไม่ได้พูดถึงการรักเพศเดียวกันเลย แต่พูดถึงสิ่งที่ผมเรียกว่า “การสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์” แม้กระทั่งคนรักต่างเพศย่อมสามารถแสดงออกเช่นนั้น อย่างที่เกิดขึ้นในคุกหลายแห่ง แต่ในกรณีนั้นพวกเขากำลังแสดงออกในสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของตน ซึ่งเป็นการกระทำบาป เมื่อคนรักเพศเดียวกันกระทำในแบบเดียวกัน พวกเขากำลังแสดงออกถึงธรรมชาติของตน ชาวเมืองโซดมในพระคัมภีร์ไม่ได้ทำอะไรกับคนรักเพศเดียวกันสองคน ซึ่งทุกวันนี้ในอิตาลีสามารถรักกันและแต่งงานกันได้ ผมไม่พบแม้สักหนึ่งย่อหน้าในพระคัมภีร์ แม่กระทั่งในนักบุญเปาโล ที่มักอ้างถึงคนรักเพศเดียวกันซึ่งร้องขอการยอมรับในความโน้มเอียงของพวกเขา ตั้งแต่เวลานั้นแล้วที่ความคิดไม่เป็นที่รับรู้

หลักความเชื่อของพระศาสนจักรตัดขาดเกย์จากความเป็นสงฆ์ ท่านจะยังเป็นพระสงฆ์ได้อย่างไร
“กฎนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2005 เมื่อผมเป็นพระสงฆ์แล้ว และใช้กับคนที่บวชใหม่เท่านั้น สำหรับผมเป็นความเจ็บปวด มันไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน และผมเชื่อว่านี่เป็นความผิดพลาดที่ควรได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง”

ท่านทราบมาตลอดว่าเป็นเกย์
“ใช่ แต่แรกที่เดียวผมไม่ยอมรับความจริงนี้ ผมยอมรับคำสอนของพระศาสนจักรอย่างศรัทธาแรงกล้า และต่อชีวิตที่บีบคั้นผม: ตามหลักที่ว่าการรักเพศเดียวกันไม่มีอยู่ หากมีก็ต้องทำลาย”

ท่านได้ผ่านจากการปฏิเสธไปสู่ความสุขในการเป็นเกย์ได้อย่างไร
“ผ่านทางการเรียน การภาวนาและการไตร่ตรอง การได้พบปะสนทนากับพระเจ้า การศึกษาเทววิทยา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ยิ่งกว่านั้น ตอนนี้ผมมีคู่ใจที่ช่วยให้ผมให้ก้าวข้ามจากความกลัวครั้งอดีตไปสู่พลังแห่งความรัก”

คู่ใจหรือ เรื่องนี้ไปกันไม่ได้กับการเป็นพระสงฆ์คาทอลิก
“ผมทราบดีว่าพระศาสนจักรคงมองผมเป็นคนที่ล้มเหลวในการรักษาคำสัญญา คนหลงทางและเลวยิ่งกว่า ไม่ใช่กับผู้หญิงแต่กับผู้ชาย และผมทราบดีว่าผมต้องทิ้งหน้าที่สงฆ์ แม้ว่ามันจะเป็นชีวิตทั้งหมดของผม แต่ผมไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อจะได้อยู่กับคู่ใจของผม  เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจทีมีขอบเขตกว้างมาก และตั้งอยู่บนการไตร่ตรองคำสอนของพระศาสนจักร”

หมายความว่าอย่างไร
“หากผมล้มเหลวที่จะเปิด ถ้าผมไม่ยอมรับตนเอง ผมคงไม่สามารถเป็นพระสงฆ์ที่ดีได้ เพราะผมไม่สามารถเป็นคนกลางที่นำความยินดีของพระเจ้า ผมคิดว่าเรื่องนี้พระศาสนจักรล้าหลังมากที่จะยอมรับความรู้ที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ในอดีตดูเหมือนสำเร็จ แม้ว่าคุณล้าหลังที่จะเข้าใจดาราศาสตร์แต่ผลของมันไม่เลวร้ายเท่ากับความลังเลที่จะใส่ใจสิ่งที่เกี่ยวกับส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดกับบุคคล พระศาสนจักรจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงความท้าทายของกาลเวลา”

มองซีญอร์ คริสตอฟ การัมซา (ขวาสุด)
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลและความคิดของ มองซิญอร์ การัมซา ในการออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าตนเองเป็นเกย์ ในแง่หนึ่งต้องชมในความกล้าหาญที่ยอมรับว่าตนเองเป็นคนรักเพศเดียวกันอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และพร้อมที่จะยอมรับผลทุกอย่างที่จะตามมา พระศาสนจักรให้ความเคารพสิทธิส่วนบุคคลและสิ่งที่เขาทำ แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับการกระทำนี้ได้ สิ่งที่เราคริสตชนทำได้คือ ภาวนาเพื่อพระศาสนจักรและเพื่อพระสงฆ์ให้มาก

Cr. http://www.corriere.it/cronache/15_ottobre_02/confessione-monsignore-sono-gay-ho-compagno-13a47834-6950-11e5-a7ad-17c7443382c3.shtml
Don Daniele ถอดความและเรียบเรียง
สำนักมิสซัง สกลนคร
6 ตุลาคม 2015

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น