ตามรอยบุญราศีฟิลิป
สีฟอง อ่อนพิทักษ์
วันที่ 29
กันยายน 2015 พระสงฆ์รุ่นแสงเทียน (แสงธรรม
รุ่น 12) ที่มาพบปะกันโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปีชีวิตสงฆ์ ณ สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขีสองคอน ระหว่างวันที่ 28-30
กันยายน 2015 ถือโอกาสหย่อนใจและออกกำลังกายร่วมกัน
ด้วยการตามรอย บุญราศีฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ของมรณสักขีแห่งสองคอนที่ถูกลวงไปฆ่าเป็นคนแรก
ณ ห้วยตุ้มนก บ้านพาลุกา ระหว่างเส้นทางจากสองคอนไปมุกดาหาร
ย้อนรอย
ย้อนหลังไปในปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเจรจาตกลงเรื่องพรมแดนกับประเทศฝรั่งเศสไม่สำเร็จ
ต้องใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหา จนเกิดเป็นกรณีพิพาทอินโดจีน และยุติลงตอนต้นปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) โดยการไกล่เกลี่ยของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปลายปีนั้นเองญี่ปุ่นได้เปิดฉากสงครามเอเชียบูรพากับฝ่ายสัมพันธมิตร
และบังคับประเทศไทยให้เข้าร่วม
ความเคียดแค้นต่อประเทศฝรั่งเศสอันเนื่องจากการใช้อำนาจยึดดินแดนบางส่วนของประเทศไทยไปนั้นเอง
ประกอบกับการที่บาทหลวงตามวัดส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส ทำให้ชาวไทยคิดรวมไปว่าศาสนาคาทอลิกเป็นศาสนาของฝรั่งเศส
จึงเริ่มต่อต้านและเบียดเบียนศาสนา โดยเฉพาะที่หมู่บ้านสองคอน ตำบลป่งขาม
อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม การต่อต้านเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคุ้มครองหมู่บ้านประกาศห้ามชาวบ้านนับถือศาสนาคริสต์
โดยคาดโทษผู้ฝ่าฝืนว่าจะต้องระวางโทษสถานหนัก
คุณพ่อเปาโล ฟิเกต์ เจ้าอาวาสวัดแม่พระไถ่ทาสสองคอนขณะนั้นถูกขับไล่ออกนอกราชอาณาจักร
หมู่บ้านสองคอนจึงขาดผู้ดูแลหรือนายชุมพา เหลือแต่ผู้นำที่ยังเข้มแข็ง คือ ครูฟิลิป
สีฟอง อ่อนพิทักษ์ และภคินี ที่ประจำอยู่ที่วัด
เมื่อเห็นชาวบ้านถูกกดขี่มากขึ้น ครูสีฟอง ได้เขียนจดหมายแจ้งพฤติกรรมไปยังนายอำเภอมุกดาหาร
แต่จดหมายดังกล่าวไปตกอยู่ในมือของตำรวจชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ภายใต้การนำของ ตำรวจลือ
เมืองโคตร ยังผลให้พวกเขาตัดสินใจกำจัด ครูสีฟอง
วันที่ 15
ธันวาคม ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ครูสีฟอง อ่อนพิทักษ์ ถูกลวงจากจดหมายปลอมว่านายอำเภอมุกดาหารสั่งให้ไปพบ จึงออกเดินทางโดยไม่ลังเลด้วยจักรยานคู่ชีพโดยไปพร้อมกับตำรวจสองคน
และถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังข้ามห้วยตุ้มนกเมื่อวันที่ 16
ธันวาคม ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ร่างของท่านถูกฝังไว้ที่บ้านพาลุกาใกล้จุดที่ถูกยิงเสียชีวิต
ต่อมาภายหลังเมื่อเหตุการณ์สงบลง จึงได้ทำการขุดนำร่างของมรณสักขีมาฝังที่สุสานวัดสองคอน
ชีวประวัติบุญราศีฟิลิป สีฟอง
ครูฟิลิป
สีฟอง อ่อนพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ที่วัดนักบุญอันนาหนองแสง อำเภอเมือง
จังหวัดนครพนม บิดาชื่อนายอินตอง เป็นครูโรงเรียนวัดหนองแสง มารดาชื่อนางเพ็ง จากซำเหนือ
ประเทศลาว ครูสีฟอง ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนหนองแสง เมื่อจบได้เข้าศึกษาต่อที่บ้านเณรเล็กที่บางนกแขวก
ราชบุรี ขณะอายุได้ 12-13 ปี หลังจากเป็นเณรได้ 3-4 ปี ได้ล้มเจ็บลงต้องมารับการรักษาที่กรุงเทพฯ ขณะรักษาตัวอยู่มีครูคนหนึ่งมาเยี่ยม
เห็นเณรสีฟองเหงาจึงชวนไปชมภาพยนตร์ ซิสเตอร์ที่โรงพยาบาลได้รายงานให้ผู้ใหญ่ทราบ เณรสีฟองจึงถูกให้ออกจากบ้านเณรและถูกส่งตัวกลับบ้าน
เมื่อกลับมาอยู่ที่วัดหนองแสง
นครพนม สีฟองได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย โรงเรียนประจำจังหวัดนครพนม
จนจบชั้นมัธยม 1 ทางมิสซังขาดครูจึงได้ขอให้สีฟองมาเป็นครูของมิสซัง สีฟองจึงลาออกจากโรงเรียนมาเป็นครูที่โรงเรียนวัดสองคอน
ประมาณปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) ครูสีฟองจึงได้ออกเดินทางโดยเรือล่องลงตามลุ่มแม่น้ำโขงมาสอนและประจำอยู่ที่วัดสองคอนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ครูสีฟองแต่งงานกับมารีอาทอง ชาวบ้านเชียงยืน
เมื่อปี ค.ศ. 1931
(พ.ศ. 2474) มีบุตรธิดารวม 5 คน ถูกสังหารเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ขณะอายุ 33
ปี
ครูสีฟองได้แสดงความเชื่อมั่นคงในพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างกล้าหาญ เป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำผู้อื่นให้มั่นคงในความเชื่อ
อันเป็นสาเหตุให้ท่านจบชีวิตด้วยความโหดร้าย
นับเป็นวีรกรรมสูงส่งที่ควรยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น
ปอล ที่ 2
ได้ทรงแต่งตั้งเป็นบุญราศีแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22
ตุลาคม ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)
เส้นทางจากสองคอนสู่มุกดาหารในปัจจุบันถือว่าสะดวกมาก
เป็นถนนเรียบแม่น้ำโขง ผ่านหมู่บ้านต่างๆ ตามรายทาง ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่
2 ซึ่งคณะของพวกเราได้แวะพักถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
ณ จุดชมวิว ก่อนจะมุ่งหน้าสู่มุกดาหาร แวะเยี่ยมวัดนักบุญเปโตรมุกดาหาร
และเดินทางต่อสู่เขามโนรมย์ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง เป็นการสิ้นสุดการปั่นตามรอยบุญราศีกว่า
30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง
Don Daniele
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
30 กันยายน 2015
คุณพ่อ ผมมาสืบค้นประวัติครูสีฟอง เพื่อทำThesis 27/8/2561
ตอบลบเป็นประโยชน์มากเลยครับ ขอบคุณครับ