วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาเรื่องการหย่าร้าง


ปัญหาเรื่องการหย่าร้าง
วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 27
เทศกาลธรรมดา
ปี B
ปฐก 2:18-25
ฮบ 2:9-11
มก 10:2-16
บทนำ
 รายงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของชาวอเมริกันก่อนปี ค.ศ. 2000 พบว่า คู่แต่งงานร้อยละ 75 ไม่มีความสุขในชีวิตครอบครัวเลย และที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ทุก 3 คู่จะลงเอยด้วยการหย่าร้าง 1 คู่  ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอัตราการหย่าร้างได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปีมีคู่แต่งงานที่หย่าร้างถึง 2.5 ล้านคู่ สำนักข่าว ABC ของสหรัฐอเมริการายงานว่าอัตราการหย่าร้างได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ และตัวเลขการหย่าร้างของคู่แต่งงานกำลังใกล้ร้อยละ 50 นั่นหมายความว่า ครึ่งหนึ่งของคู่แต่งงานจะลงเอยด้วยการหย่าร้าง
ปัญหาเรื่องการหย่าร้างกำลังกลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน ทุกประเทศมีอัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น ไม่ต้องดูอื่นไกลในบ้านเมืองของเรา จากสถิติของสถาบันวิจัยประชากร กระทรวงมหาดไทยเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2557) มีตัวเลขผู้จดทะเบียนสมรสใหม่ 296,258 คู่ แต่มีตัวเลขผู้จดทะเบียนหย่าสูงถึง 111,810 คู่ คิดเป็นร้อยละ 37.74  นับเป็นสถิติที่น่าตกใจและเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากทีเดียว
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้พูดถึงพันธะสัญญาแห่งรัก ซึ่งเกิดจากการแต่งงานระหว่างชายและหญิง เป็นพันธะที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้มั่นคงถาวร ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงสอนเรื่องการแต่งงานและการหย่าร้าง โดยเน้นย้ำถึงแผนการของพระเจ้าในการแต่งงาน ที่ทรงประสงค์ให้ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์และมั่นคงยาวนานโดยไม่ถูกแบ่งแยก ซึ่งสามีและภรรยาต่างเป็นหุ้นส่วนชีวิตที่เท่าเสมอกัน การล่มสลายของครอบครัวเพราะการหย่าร้าง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม

1.           ปัญหาเรื่องการหย่าร้าง
ข้อเท็จจริงเรื่องกษัตริย์เฮโรดแต่งงานกับนางเฮโรเดียดภรรยาของน้องชาย และยอห์นบัปติสต์ได้แสดงความกล้าหาญ ประณามสิ่งที่เฮโรดทำจนตนเองถูกตัดศีรษะ เป็นที่มาของพระวรสารวันนี้ที่ชาวฟาริสีได้ถามพระเยซูเจ้าว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่าภรรยา” (มก 10:2) แต่จุดประสงค์ของพวกเขาต้องการจับผิด โดยหวังว่าพระองค์จะวิพากษ์วิจารณ์ธรรมเนียมปฏิบัติของโมเสส และทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน
แต่พระเยซูเจ้าทรงใช้โอกาสนี้ประกาศอย่างชัดแจ้งว่า พันธะของการแต่งงานมาจากพระเจ้า ไม่ใช่มนุษย์ อีกทั้ง เป็นพันธสัญญาที่คงอยู่ถาวรและลบล้างไม่ได้ “สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก 10:9) พระองค์ไม่ได้สอนสิ่งใดใหม่ แต่ได้ย้อนกลับไปยังพระประสงค์แรกของพระเจ้า โดยอ้างหนังสือปฐมกาลที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง พวกเขาจะไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นหุ้นส่วนชีวิตที่เท่าเทียมกัน
สัมพันธภาพของการแต่งงานจึงเป็นพระพรของพระเจ้า ที่รวมชายหนึ่งหญิงหนึ่งให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยการสมรส และมนุษย์ไม่สามารถแยกสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมเข้าด้วยกันได้ (มธ 19:6) ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปของมนุษย์ที่เลิกร้างกันง่ายเหลือเกิน พระเยซูเจ้าได้แสดงให้เห็นว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันและการแต่งงานจะต้องเป็นสัมพันธภาพที่มั่นคงถาวร พระองค์ยังได้อธิบายการที่โมเสสอนุญาตให้หย่าร้างได้เพราะใจที่แข็งกระด้างของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงสอนเสมอมาว่า การแต่งงานระหว่างคริสตชนเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่แบ่งแยกและหย่าร้างไม่ได้ มีแต่ความตายเท่านั้นที่จะทำให้พันธะของการแต่งงานจบสิ้นลง “การหย่าร้างเป็นความผิดหนักต่อกฎธรรมชาติ  เป็นการละเมิดพันธสัญญา ที่คู่สามีภรรยาได้มอบความสมัครใจให้แก่กัน ที่จะเจริญชีวิตเพื่อกันและกันจนวันตาย... การหย่าร้างยังเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมเพราะนำความยุ่งเหยิงมาสู่ครอบครัวและสังคม” (CCC #2384)

2.           บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ให้บทเรียนและแนวปฏิบัติสำหรับเราคริสตชนหลายประการ
ประการแรก  สามีภรรยาต้องทำงานหนักเพื่อสร้างครอบครัวที่ดี ชีวิตครอบครัวเรียกร้องให้เราออกจากตัวเอง มีความจริงใจ ไว้ใจกัน และใส่ใจในความต้องการของกันและกัน ด้วยการมอบตนเอง แบ่งปันชีวิต และให้อภัยกันด้วยใจกว้าง มีความรักที่เสียสละปราศจากความเห็นแก่ตัว รู้จักอดทนและมองข้ามความบกพร่องของกันและกัน ผ่อนหนักผ่อนเบาและเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ประการที่สอง เราต้องให้พระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางของครอบครัว ครอบครัวคริสตชนไม่ได้มีเพียงพ่อ-แม่-ลูก แต่ต้องมีพระเยซูเจ้าประทับอยู่ท่ามกลาง เช่นเดียวกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของแม่พระและนักบุญยอแซฟ ดังนั้น ครอบครัวในฐานะเป็นพระศาสนจักรระดับบ้าน จึงต้องได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา การภาวนา และการไปร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ พ่อ-แม่ต้องเป็นครูคนแรกที่สอนลูกให้รู้จักพระเจ้าและสวดภาวนา
ประการที่สาม เราต้องเห็นใจคริสตชนที่หย่าร้างและครอบครัวล้มเหลว พระเจ้าไม่ได้ทอดทิ้งครอบครัวที่หย่าร้างและล้มเหลว ชุมชนคริสตชนต้องยอมรับพวกเขา ให้ความเคารพ เห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจ ที่แสดงออกถึงความเป็นพี่น้องในความรัก การสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเขาตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ทั้งนี้เพราะ ลำพังการหย่าร้างหรือแต่งงานใหม่ก็เป็นความเจ็บปวดมากพออยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องไม่ไปซ้ำเติมหรือตัดพวกเขาออกจากหมู่คณะหรือชุมชนคริสตชน

บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระเจ้าทรงประสงค์ให้ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์และมั่นคงยาวนานโดยไม่ถูกแบ่งแยก ทั้งนี้เพื่อความดีของคู่บ่าว-สาว ซึ่งต่างเป็นหุ้นส่วนชีวิตที่เท่าเสมอกัน การใช้ชีวิตร่วมกันจึงช่วยส่งเสริมและเติมเต็มชีวิตของกันและกันให้สมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อการให้กำเนิดบุตร การล่มสลายของครอบครัวเพราะการหย่าร้าง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม อีกทั้ง การหย่าร้าง เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า 
“ครอบครัวดีเริ่มที่บ้าน” สามีภรรยาต้องทำงานหนักและร่วมมือกันในการสร้างครอบครัวของเราให้เป็นครอบครัวที่ดี ประการสำคัญ ต้องให้พระเยซูเจ้าได้เป็นศูนย์กลางของครอบครัว ให้พระองค์ได้เข้ามามีบทบาท นำทางและทำให้ครอบครัวของเราศักดิ์สิทธิ์  แม้ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากและภาวะวิกฤต จงจำไว้เสมอว่า “ครอบครัวที่ภาวนาร่วมกัน จะอยู่ด้วยกัน”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
2 ตุลาคม 2015

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น