2.4
คุณพ่อแบร์นาร์ด กิลแมง:
อธิการองค์ที่ 4 ค.ศ. 1965-1968
คุณพ่อแบร์นาร์ด กิลแมง เข้ามาประจำสามเณราลัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่
4 ในปี ค.ศ. 1965
(พ.ศ. 2508) คุณพ่อได้จัดหาสื่อและอุปกรณ์การเรียนสมัยใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
ทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
รวมถึงส่งเสริมด้านพิธีกรรม ดนตรี และกีฬา เช่น ขับร้องเพลงประสานเสียง
เพลงเกรโกเรียน และบทเพลงของศิลปินเอกของโลก ทำให้สามเณรมีส่วนร่วมในพิธีกรรมและได้รับการขัดเกลาด้วยดนตรีและกีฬา
ปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) คุณพ่อกิลแมง ได้สร้างโถงอเนกประสงค์หรือที่เรียกกันติดปากว่า
“โรงพละ” โดยผู้รับเหมาจากกรุงเทพฯ
ปีต่อมาคุณพ่อได้ติดต่อและขอความร่วมมือจากกรมทรัพยากรธรณีมาเจาะบ่อบาดาลที่สามเณราลัย
ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำที่เป็นปัญหาเรื่อยมาตั้งแต่เปิดสามเณราลัยได้รับการแก้ไข
บรรดาสามเณรไม่ต้องเดินไปอาบน้ำและซักผ้าที่หนองหารอีก
2.5 คุณพ่อโรแบร์
กอสเต: อธิการองค์ที่ 5 ค.ศ. 1968-1969
คุณพ่อโรแบร์ กอสเต เข้ามาเป็นพระสงฆ์ประจำสามเณราลัยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่ 5 ในปี
ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) เหตุการณ์ที่น่าชื่นชมยินดีสำหรับบรรดาสามเณรในสมัยของคุณพ่อ
คือการที่คุณพ่อได้รับแจ้งจากกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อให้เป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลอุบลราชธานี
แต่ด้วยความสุภาพของคุณพ่อได้ปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว ที่สุด คุณพ่อแยร์แมง
แบร์ทอลด์ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ วิญญาณรักษ์ และบุรุษพยาบาลประจำสามเณราลัยระหว่างปี
ค.ศ. 1954-1968 (พ.ศ. 2497-2511) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชแทน
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) คุณพ่อกอสเต
และพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสทั้งหมด ได้มอบสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่คืนให้คณะสงฆ์ของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
แต่เพื่อให้งานทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ คุณพ่อได้มอบหมายให้คุณพ่อฟรังซิโนกับคุณพ่อเตอโนด์
อยู่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงระยะหนึ่ง ก่อนที่ทั้งหมดจะเดินทางกลับไปทำงานที่สังฆมณฑลอุบลราชธานี
2.6 คุณพ่อลอเรนซ์
คายน์ แสนพลอ่อน: อธิการองค์ที่ 6 ค.ศ. 1969-1979
คุณพ่อลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่ 6 พร้อมกับเป็นอธิการและครูใหญ่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ
โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อหลุยส์ จำเนียร
สันติสุขนิรันดร์ ค.ศ. 1972-1975, คุณพ่อยอแซฟ ประสาน ทองอันตัง ค.ศ. 1974-1976, คุณพ่อยอแซฟ ตรรกวิทย์ เวียรชัย
ค.ศ. 1975-1977, คุณพ่อเอากุสติน สำราญ
พันธ์วิไล ค.ศ. 1975-1977 และคุณพ่อลูกา
สุพล ยงบรรรทม ค.ศ. 1977-1982
ปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ทางอัครสังฆมณฑลฯ ได้มีมติให้ยุบโรงเรียนวรธรรมพิทยาคาร
เพื่อรวมกับโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ เนื่องจากอัครสังฆมณฑลฯขาดบุคลากรที่จะทำงานด้านการศึกษา อีกทั้งเพื่อเป็นการผนึกกำลังของคณะครูและนักเรียนให้เข้มแข็ง
และยกระดับการศึกษาของนักเรียนเซนต์ยอแซฟให้สูงขึ้น โรงเรียนวรธรรมพิทยาคารจึงถึงกาลอวสาน
เหลือไว้แต่เพียงชื่อในฐานะโรงเรียนอันดับ 1 ของเขตการศึกษา 9 และความทรงจำเก่าๆ
ของบรรดาศิษย์ที่เคยผ่านการศึกษาอบรมจากสถาบันแห่งนี้
ปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั้งโลกตื่นตระหนกเนื่องจากสถานีอวกาศลอยฟ้าที่เรียกว่า
“สกายเล็ป” (Skylab) ของสหรัฐอเมริกาสูญเสียการควบคุมและกำลังจะตกลงสู่พื้นโลก มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามสื่อทุกแขนงเตือนให้เฝ้าระวัง
จนกระทั่งตกลงสู่มหาสมุทรอินเดียและออสเตรเลียฝั่งตระวันตกในเดือนกรกฎาคมปีนั้นเอง
บรรดาสามเณรต่างสนใจและตื่นเต้นกับข่าวเรื่องนี้มาก
เพราะก่อนหน้านั้นไม่นานได้มีประสบการณ์ในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากเพดานห้องนอนอาคารฟาติมาที่ทำด้วยไม้ไผ่ฉาบปูนขาวได้พังลงมาเหมือนลูกอุกกาบาต ทำให้ต้องนอนใต้เตียงด้วยความหวาดผวา นอกจากนั้น ยังมีอุกกาบาตอีกลูกหนึ่งที่บรรดาสามเณรกลัวนักกลัวหนาคือ
ข้อความบนบอร์ดที่ว่า “ให้ผู้ที่มีรายชื่อต่อไปนี้ไปพบอธิการ” นี่คืออุกกาบาตลูกใหญ่ที่ไม่รู้จะตกลงบนหัวเมื่อไหร่โดยเฉพาะในคืนวันอำลาหลังจบปีการศึกษา ใครที่มีรายชื่อต่อท้ายข้อความดังกล่าว
ก็แน่ใจได้เลยว่าเตรียมเก็บข้าวของกลับบ้านได้
หรือที่บรรดาสามเณรเรียกอาการอย่างนี้ว่า “หัวเย็น”
เหตุการณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในสมัยของคุณพ่อคายน์ แสนพลอ่อน คือ การฉลองครบรอบ 25 ปีของสามเณราลัยในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522)
งานเตรียมฉลองเริ่มจากการซ่อมแซมอาคารฟาติมาครั้งใหญ่
ควบคู่ไปกับการจัดเตรียมพิธีกรรมและการชุมนุมศิษย์เก่า ก่อนวันฉลองมีการแห่พระรูปแม่พระเหมือนเช่นทุกปี
แต่ที่พิเศษกว่าปกติคือสามเณรทุกคนใส่ชุดช่วยพิธีสีขาว
ชุดเก่งที่ใช้ออกงานในอดีต
นัยว่าเพื่อเป็นการย้อนอดีตแต่ที่คาดไม่ถึงคือฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ที่สุด
เมื่อฝนซาพิธีแห่พระรูปแม่พระได้เริ่มขึ้นมีพี่น้องคริสตชนมาร่วมเป็นจำนวนมาก
รวมถึงพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในวันรุ่งขึ้น
2.7 คุณพ่อยอแซฟ
กมล เสมอพิทักษ์: อธิการองค์ที่ 7 ค.ศ.
1980-1982
คุณพ่อยอแซฟ
กมล เสมอพิทักษ์ ได้ไปเรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้ให้การอบรมที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่
7 โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อลูกา สุพล ยงบรรทม, คุณพ่อยอแซฟ ธีระยุทธ อนุโรจน์ ค.ศ. 1981, คุณพ่อคริสเตียน มีแชล ค.ศ. 1982-1986 และคุณพ่อชาร์ลโบโรเมโอ นิยุต
ศรีอ่อน ค.ศ.1980-1982
ด้วยความที่ได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการเป็นผู้ให้การอบรมมาโดยตรง จึงทำให้การอบรมสามเณรในสมัยของคุณพ่อกมล
เสมอพิทักษ์ มีแบบแผนและแนวทางที่ชัดเจน
แนวทางการอบรมอย่างหนึ่งที่บรรดาสามเณรสมัยนั้นจำได้ดีนั่นคือ “สำนึกของการเป็นเจ้าของ” (Sense
of Belonging) ที่คุณพ่อจะย้ำเสมอเพื่อให้สามเณรตระหนักว่า
ตนเองไม่ใช่ผู้อาศัย แต่เป็นเจ้าของ
ดังนั้น ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างจะต้องช่วยกันระวังรักษา ใช้แล้วจะต้องเก็บให้เป็นที่เป็นทาง
ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับไหม
ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 25 ปีของสามเณราลัยคือ จำนวนสามเณรในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ที่มีมากถึง 217
คน เกินกว่าที่จะรับได้ คุณพ่อกมล เสมอพิทักษ์
แก้ปัญหาด้วยการให้สามเณรจากบ้านท่าแร่ที่เข้าใหม่ในปีนั้นประมาณ 22 คน พักอยู่ที่บ้านแต่ให้มาเรียนและร่วมกิจกรรมที่สามเณราลัยเหมือนสามเณรทั่วไป
สามเณรรุ่นนี้จึงได้ชื่อว่า “สามเณรไปกลับ” จนกระทั่งปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) จึงได้กลับเข้าสามเณราลัยเหมือนเดิม เนื่องจากสามเณรจากสังฆมณฑลอื่นได้แยกตัวกลับไปสามเณราลัยของตนเอง
ขอบพระคุณพระเป็นเจ้าและบรรดาพระสงฆ์ประจำบ้านเณรที่ได้ดูแลอบรมพวกเราเป็นอย่างดี
ตอบลบ