การภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 17 เทศกาลธรรมดา
ปี C
|
ปฐก 18:20-32
คส 2:12-14
ลก 11:1-13
|
บทนำ
มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งขณะที่นักบุญเบเนดิกต์กำลังขี่ม้าไปตามทาง ท่านได้พบชาวนาคนหนึ่งซึ่งได้พูดกับท่านว่า “งานของท่านช่างสบายจริงนะ ผมอยากเป็นเหมือนท่านบ้าง จะได้ขี่ม้าไปไหนมาไหนตามใจชอบ ไม่ต้องทำอะไร” ท่านนักบุญย้อนถามชาวนาว่า “ท่านคิดว่าการภาวนาเป็นงานที่ง่ายหรือ ถ้าอย่างนั้นสวดบทข้าแต่พระบิดาให้ฟังหน่อยสิ หากสวดจบโดยไม่ติดขัดเลย ท่านจะได้ม้าตัวนี้”
ชาวนาตาเบิกโพลง ยิ้มร่า คิดในใจว่าวันนี้จะได้เป็นเจ้าของม้าแล้ว พร้อมกับพูดว่า “เยี่ยมมาก ท่านคงไม่เปลี่ยนใจนะ” จากนั้นก็หลับตา พนมมือและเริ่มภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์... พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” สวดมาถึงตรงนี้เขาหยุด ลืมตาขึ้นและถามท่านนักบุญว่า “ผมจะได้อานม้าและบังเหียนด้วยไหม” ท่านนักบุญหัวเราะและพูดว่า “ท่านจะไม่ได้อะไร เพราะสวดไม่จบ”
พระวรสารวันนี้ ได้ทำให้เราทราบถึงบทภาวนาที่เป็นแบบแผนของคริสตชนคือ “บทข้าแต่พระบิดา” ซึ่งเป็นบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้ภาวนาตามแนวทางของศาสนาใหม่ที่พระองค์นำมา เพื่อจะได้มีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้โดยง่าย ไม่ใช่ในฐานะพระผู้สร้างที่ทรงสรรพานุภาพ แต่เป็นดัง พ่อ (Abba) หรือบิดาที่ใจดีที่เราสามารถวางใจและพูดกับพระองค์ได้อย่างสนิทใจ โดยปราศจากความกลัวใดๆ
บทข้าแต่พระบิดา เป็นบทภาวนาพิเศษสำหรับคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนและมอบไว้ให้ ถือเป็นบทภาวนาที่สำคัญและบอกให้รู้ว่า “คริสตชนเป็นใคร” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการภาวนาของชาวฟารีสีและคนต่างศาสนา ที่เน้นการพูดจายืดยาวและรูปแบบภายนอกให้คนชมเท่านั้น ในบทข้าแต่พระบิดา เราเริ่มต้นด้วยคำว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” คือการที่พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ให้เราทราบ และเราตอบรับการเผยแสดงนี้ด้วยความเชื่อ ความวางใจ ความรักและการให้อภัย ซึ่งถือเป็นบทสรุปของพระวรสารทั้งหมด
1. การภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
การภาวนาเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตคริสตชน เราต้องภาวนาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ท้อถอย (เทียบ ลก 18:1) ต้องออกแรงและทำในส่วนของเราให้ดีที่สุด คงเหมือนกับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการผ่านการสอบ แต่ไม่ยอมอ่านหนังสือหรือเตรียมสอบอย่างดี การสวดขอพระเจ้าคงไม่ช่วยอะไร เพราะพระองค์จะไม่ช่วยคนที่ไม่ช่วยตนเอง การภาวนาและการออกแรงทำงานต้องไปด้วยกัน และพระองค์จะสดับฟังคำภาวนาของเราอย่างแน่นอน
เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย ปิตาจารย์ของพระศาสนจักร กล่าวว่า “การภาวนาเป็นการสนทนากับพระเจ้า” ที่แสดงออกถึงความเชื่อและความวางใจในพระเจ้า ผู้เป็นท่อธารแห่งพระพรนานัปการ ดังนั้น การภาวนาจึงไม่ใช่การพูดข้างเดียว ไม่ใช่การส่งเสียงในความมืด แต่เป็นการสนทนาโต้ตอบกัน (Real dialogue) ระหว่างเรากับพระเจ้า
เมื่อพูดถึงการภาวนา เรามักจะคุ้นเคยกับการวอนขอ “จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิดแล้วท่านจะพบ จงเคาะเถิดแล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” (ลก 11:9) ตามที่เราได้ยินในตอนท้ายของพระวรสารวันนี้ ซึ่งเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าได้แสดงให้เราเห็นว่า พระบิดาเจ้าสวรรค์เป็นองค์แห่งความดีบริบูรณ์และทรงความเมตตากรุณา ที่พร้อมจะประทานสิ่งดีๆและจำเป็นแก่บุตรของพระองค์ทุกคนเสมอ
การภาวนาไม่ใช่การรบเร้าพระเจ้าให้ประทานตามที่เราต้องการ แต่เป็นลักษณะของบุตรที่วอนขอสิ่งที่พระบิดาทรงประสงค์จะประทานให้ ความจริงพระองค์ทรงทราบล่วงหน้าก่อนที่เราจะขอด้วยซ้ำ เงื่อนไขก็คือ “จงขอ... จงแสวงหา... จงเคาะ...” เพราะเมื่อเราขอ พระเจ้าจะทรงสดับฟังคำวอนขอของเรา เมื่อเราแสวงหาพระเจ้า เราก็จะพบพระองค์ และเมื่อเราเคาะประตูบ้านของพระเจ้า พระองค์ก็จะทรงเปิดรับเรา
2. บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องภาวนาอย่างสม่ำเสมอ พระเยซูเจ้าทรงสอนและมอบแบบอย่างแก่เราในเรื่องการภาวนา ซึ่งเป็นการติดต่อกับพระเจ้าอย่างใกล้ชิดแบบพ่อกับลูก ให้เราได้ภาวนาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการภาวนาเป็นการช่วยให้ความเชื่อศรัทธาของเรามีชีวิต และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์เพราะชีวิตของเราขึ้นอยู่กับพระเจ้า เราจึงต้องภาวนาโดยไม่หยุดหย่อนเพื่อจะได้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระองค์
ประการที่สอง เราต้องให้อภัยความผิดของกันและกัน “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” นี่คือเงื่อนไขและเครื่องหมายสำคัญของการเป็นคริสตชน ดังนั้น พระศาสนจักรจึงให้เราสวด “บทข้าแต่พระบิดา” ในพิธีบูชาขอบพระคุณก่อนจะรับศีลมหาสนิท เพื่อเตือนใจเราว่าทุกคนเป็นบุตรของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน เป็นพี่น้องกันโดยไม่แบ่งแยกและได้ให้อภัยความผิดของกันและกันแล้ว หากเรายังไม่ยอมรับว่าทุกคนเป็นพี่น้องและไม่ให้อภัยกันอย่างสนิทใจ ก็เท่ากับว่าเราสวด “บทข้าแต่พระบิดา” ไม่จบ
ประการที่สาม เราต้องภาวนาร่วมกัน การภาวนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตครอบครัวและหมู่คณะ ครอบครัวใดที่ภาวนาร่วมกันจะไม่มีวันแตกแยก เราต้องหาเวลาภาวนาร่วมกันเพื่อขอบคุณพระเจ้าและวอนขอพระพรอันจำเป็นเพื่อกันและกัน ให้เราปฏิบัติตามคำแนะนำของนักบุญยอห์น มารีย์เวียนเน “ใช้เวลา 3 นาทีในการสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่เรามี ใช้เวลา 3 นาทีในการขอสมาโทษสำหรับบาปที่เรากระทำและวอนขอสิ่งที่เราต้องการ ใช้เวลา 3 นาทีในการอ่านพระคัมภีร์และฟังพระองค์ในความเงียบ และทำเช่นนี้ทุกวัน”
บทสรุป
พี่น้องที่รัก ใน “บทข้าแต่พระบิดา” พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เรารู้ว่า ทุกคนมีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน ที่ต่างเป็นบุตรและเป็นพี่น้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสอนให้เรารู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน เราแต่ละคนล้วนเป็นคนบาป อ่อนแอและบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น แต่ยังสามารถเรียกพระเจ้าว่าเป็น “บิดาของเรา” เมื่อพระเจ้าได้ทรงอภัยบาปของเราอย่างไม่สิ้นสุด เราจึงต้องให้อภัยซึ่งกันและกันด้วย
ประการสำคัญ พระเยซูเจ้าได้ให้ความมั่นใจกับเราว่า “แม้ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดีๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่วอนขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ” (ลก 11:13) ดังนั้น “จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ” เพราะคำภาวนาสามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้และไม่มีคำภาวนาใดที่พระเจ้าไม่ทรงตอบรับ มิใช่การภาวนาที่ทำให้พระเจ้าเปลี่ยนใจ แต่การภาวนาได้เปลี่ยนตัวเราและทำให้เราได้ยินพระองค์ ดังนั้น จงมั่นคงและภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
25 กรกฎาคม 2013
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น