วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วัดนักบุญอันนาหนองแสง



รองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง

28 ถนนสุนทรวิจิตร ตำบลหนองแสง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม 48000

1.         ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี ค.. 1881 (.. 2424) คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส เดินทางมาถึงอุบลราชธานีและตั้งหลักแหล่งที่บุ่งกะแทว  ต่อมามีคนจากหัวเมืองทางเหนือของอีสานมาเชิญคุณพ่อให้ขึ้นไปหนองคาย  โดยอ้างว่ามีหลายคนอยากเข้าศาสนา คุณพ่อโปรดม ได้ตัดสินใจไปพร้อมกับคุณพ่ออัลเฟรด-มารีย์ เทโอฟิล  รองแดล และครูสอนคำสอนชื่อ ครูทอง โดยออกเดินทางจากจากอุบลฯวันที่ 26 เมษายน ค.. 1883 (.. 2427) มาถึงนครพนมเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.. 1883 (.. 2427) จุดประสงค์ก็เพื่อสำรวจเส้นทาง สถานการณ์และการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเพื่อวางโครงการแพร่ธรรมในโอกาสต่อไป  เมื่อได้ใช้เวลาสำรวจไปถึงหนองคายและเวียงจันทน์เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว คุณพ่อทั้งสองก็เดินทางกลับอุบลฯ
1.1          กลุ่มคริสตชนแรกที่นครพนม
ในการเดินทางกลับอุบลฯได้มาแวะพักที่นครพนมหลายสัปดาห์ ในโอกาสนั้นคุณพ่อโปรดมกับคุณพ่อรองแดล ได้สอนคำสอนให้ชาวเวียดนามที่สนใจ ที่สุดได้โปรดศีลล้างบาปคริสตชนชาวเวียดนามกลุ่มแรกที่นครพนมจำนวน 13 คน และจัดให้พวกเขารับศีลสมรสอย่างถูกต้องอีก 4 คู่ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.. 1883 (.. 2426)  หลังจากฉลองปัสกาในเดือนเมษายน ค.. 1884 (.. 2427) คุณพ่อโปรดม คุณพ่อเกโก และครูทัน ครูเณรชาวเวียดนามได้เดินทางจากอุบลฯมานครพนมอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มคริสตชนของนครพนมได้ต้อนรับคณะของคุณพ่อด้วยความยินดียิ่งและรวมกลุ่มอาศัยอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองนครพนม ใกล้กับที่เรียกว่า วัดป่า ต่อมาได้มีครอบครัวชาวเวียดนาม 4-5 ครอบครัวได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ด้วยและสมัครเป็นคริสตชนโดยมีครูทันเป็นคนสอนคำสอน  เดือนมิถุนายน ค.. 1884 (.. 2427) คุณพ่อโปรดม และครูเณรทัน ได้เดินทางต่อไปยังสกลนคร โดยมีความประสงค์จะตั้งกลุ่มคริสตชนที่นั่นถ้าเป็นไปได้  ต่อมาในเดือนมกราคม ค.. 1885 (.. 2428) คุณพ่อเกโก ได้ปรึกษากับทุกคนเพื่อย้ายคริสตชนกลุ่มนี้ไปอยู่ที่บ้านคำเกิ้ม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองนครพนมประมาณ 3-4 กิโลเมตร
ในเดือนแรกของปี ค.. 1887 (.. 2430) คริสตชนชาวคำเกิ้ม ได้ไปหักล้างถางพงที่บ้านหนองแสงเพื่อทำไร่และอยู่อาศัย คุณพ่อเกโก ไม่อยากให้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ถาวร แต่อนุญาตให้ไปทำไร่ได้  ส่วนคุณพ่อรองแดล นั้นตรงข้าม ท่านไม่ห้ามให้ไปตั้งบ้านคริสตชนที่หนองแสง  ฉะนั้นเมื่อคุณพ่อได้รับภาระให้ดูแลบ้านคำเกิ้ม จึงชักชวนและแนะนำชาวคำเกิ้มให้ไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองแสง ท่านได้สร้างบ้านขึ้นหลังหนึ่งซึ่งได้ใช้เป็นวัดในเวลาต่อมา  บ้านหนองแสงเดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านคำเกิ้ม ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร
คณะสงฆ์มิสซังลาวสมัยพระสังฆราชกืออาส ปี ค.ศ. 1903 ณ ศูนย์มิสซังแห่งใหม่ที่หนองแสง
1.2          หนองแสง ศูนย์กลางของมิสซังใหม่
ในเวลานั้นมีพระสงฆ์ประจำอยู่ที่ศูนย์บุ่งกะแทว คำเกิ้มและท่าแร่ วัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้มซึ่งเป็นสถานที่อยู่กึ่งกลางกว่าวัดแม่พระนฤมลทิน บุ่งกะแทว ที่อุบลฯ ได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สองของมิสซัง ซึ่งบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ทางแขวงนี้พากันมาประชุมและเข้าเงียบเป็นประจำในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี  แต่เนื่องจากผู้ปกครองมิสซังในสมัยนั้นไม่ได้พำนักอยู่ที่คำเกิ้มตามตำแหน่ง  ส่วนมากมักพักอยู่กับพระสงฆ์มิชชันนารีองค์อื่นเพื่อช่วยงานหรือไปเยี่ยมเยียนสัตบุรุษตามวัดต่างๆ  ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่สะดวกหลายอย่างตามมา  เพราะพระสงฆ์ที่ประสบปัญหาไม่สามารถปรึกษาหารือได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถติดต่อได้
ดังนั้น หลังการเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายน ค.. 1896 (.. 2439) บรรดาพระสงฆ์จึงเสนอความเห็นให้มีสถานที่หนึ่งสำหรับใช้เป็นสำนักของอุปสังฆราชผู้ปกครองมิสซัง และเป็นสำนักทางการของมิสซังด้วยเพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อทางจดหมายและปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ โดยเลือกเอาบ้านหนองแสง แต่หลังจากพิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่เหมาะสมกว่าก็เห็นว่า ควรย้ายบ้านพักและโรงสวดไปตั้งใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงที่มีสถานที่กว้างขวางและไปมาสะดวก ที่ตั้งใหม่นี้คือ หนองแสงในปัจจุบัน  ดังนั้น หนองแสงจึงกลายเป็นศูนย์ที่ 3 ของมิสซังและเป็นสำนักพระสังฆราช ประมุขปกครองมิสซังลาวตั้งแต่ปี ค.. 1899 (.. 2422) มาจนถึงปี ค.. 1940 (.. 2483)
เมื่อได้ข้อยุติเกี่ยวกับสถานที่ตั้งศูนย์กลางมิสซังที่หนองแสงแล้ว คุณพ่อโปรดม ได้เตรียมสถานที่และโค่นต้นไม้เพื่อจะได้สร้างบ้านหลังเล็ก ๆ สำหรับเป็นที่อาศัยของคุณพ่อ ซึ่งต่อมาภายหลังได้สร้างเป็นโรงครัวในปี ค.. 1897 (.. 2440)  ในการก่อสร้างครั้งนั้นคริสตชนที่อยู่รอบๆ หนองแสงมีส่วนอย่างมากในการเตรียมไม้เสา ไม้โครงส่วนต่างๆ เพื่อสร้างตึกตามโครงการดังกล่าว  คริสตชนวัดดอนโดนซึ่งเลื่อยไม้เก่งได้อาสาเป็นผู้เลื่อยไม้ขื่อ  หลังวันปัสกาปี ค.. 1897 (.. 2440)  คริสตชนวัดต่างๆ ได้บรรทุกไม้ที่เลื่อยแล้วใส่เรือมาส่งที่หนองแสง แต่น่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่งที่มีเหตุร้ายแรงอุบัติขึ้น เมื่อคริสตชนดอนโดน 12 คนที่ผูกไม้ซุง 3 ท่อนติดกับเรือล่องแม่น้ำโขงจากเกาะดอนโดนมาหนองแสง ระหว่างทางเกิดลมพัดแรงจนเรือล่มเป็นเหตุให้มีผู้จมน้ำตาย 6 คน  อย่างไรก็ตามในที่วันที่ 21 มิถุนายน ค.. 1887 (.. 2440) ชาวบ้านเริ่มตั้งเสาต้นแรก เพียงไม่กี่วันต่อมาโครงตึกทั้งหลังก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา  พวกเขาจึงใช้หญ้ามุงมุมด้านหนึ่งแล้วปูพื้นชั่วคราวเพื่อเป็นที่อยู่ของอุปสังฆราช ซึ่งได้มาอยู่ประจำประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ค.. 1897 (.. 2440)
คณะสงฆ์มิสซังลาวสมัยพระสังฆราชแกวง ปี ค.ศ. 1937 ณ สำนักมิสซังหนองแสง
         พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ได้บันทึกเอาไว้ว่าเมื่อท่านมาถึงมิสซังลาวในปี ค.. 1926 (.. 2469) ตัวตึกยังคงอยู่และใช้ต่อมาจนถึงปี ค.. 1940 (..2483) มีลักษณะเป็นตึกใหญ่มีเสาเป็นไม้ทั้งหมด ยกพื้นสูงจากดินประมาณ 1.50 เมตร มีเพียงชั้นเดียวเท่านั้น ตรงกลางเป็นห้องกว้าง ใช้เป็นห้องอาหาร ห้องประชุมและห้องพักผ่อน  ปลายตึกทั้ง 2 ข้างมี 4 ห้องพร้อมกับเตียง มีระเบียงกว้างสองเมตรรอบตัวตึก นี่คือตึกที่พระสังฆราชยอแซฟ-มารีย์ กืออ๊าส พระสังฆราชองค์แรกได้มาพักอยู่เมื่อมาถึงหนองแสง  นอกนั้นยังมีห้องพักสำหรับพระสงฆ์ที่ผ่านมาหนองแสงและได้ใช้เป็นสถานที่เข้าเงียบประจำปีของพระสงฆ์ในเดือนพฤศจิกายนด้วย
       ในครั้งนั้น คุณพ่อโปรดม ยังได้สร้างวัดเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งต้องเรียกว่า อาสนวิหาร เพราะเป็นวัดพระสังฆราช ซึ่งในชั้นแรกที่สร้างขึ้นยังไม่มีประตูหน้าต่าง เครื่องประดับตกแต่งและเครื่องใช้ภายใน  แต่ก็ได้เริ่มไช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมแล้วตั้งแต่วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ปี ค.. 1901 (.. 2462) ดังที่คุณพ่อมาลาวาล ได้กล่าวว่า  จนถึงบัดนี้วัดของเราเป็นตึกดูคล้ายกับศาลาพักแรมตามบ้านนอก    
 1.3 อาสนวิหารหลังใหม่
ภายหลังที่คุณพ่อโปรดม ได้รับเลือกให้เป็นพระสังฆราชองค์ที่สองของมิสซังลาวในปี ค.. 1913 (.. 2456) ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างอาสนวิหารใหม่ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก งานก่อสร้างเริ่มก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี ค.. 1914 (.. 2457) แต่มาหยุดชะงักปลายเดือนสิงหาคม ค.. 1914 (.. 2457) ต่อมาได้มอบหมายให้คุณพ่อแฟรสแนล ดำเนินการก่อสร้างต่อในปี ค.. 1918 (.. 2461) สร้างเสร็จกลางปี ค.. 1919 (.. 2462) 
       นับเป็นอาสนวิหารที่ใหญ่โตแข็งแรงและสวยงามมาก ด้านหน้ามีหอคู่ที่มีลักษณะเป็นยอดแหลมสูงเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากระยะไกล  โครงหลังคาสร้างอย่างถูกหลักเทคนิค วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ขนมาจากเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ซึ่งสมัยนั้นมีเพียงบริษัทเดินเรือบริษัทเดียวที่เดินเรือระหว่างไซ่ง่อนกับเวียงจันทน์สัปดาห์ละครั้ง จึงเข้าใจได้ว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จ นับเป็นผลงานชิ้นเอกที่ยังความพิศวงงงงวยแก่ผู้ที่พบเห็น  แต่น่าเสียดายที่อาสนวิหารนี้ได้ถูกระเบิดทำลายจนหมดสิ้นในช่วงที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี ค.. 1940 (.. 2483) เหลือไว้แต่ซากปรักหักพังที่ยากแก่การปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่  มิฉะนั้นเราคงจะมีโบราณสถานอันล้ำค่าแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ณ ดินแดนแห่งนี้
ภายหลังที่สงครามสงบมิสซังได้ย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่บ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ที่หนองแสงคุณพ่ออัลแบร์ ดงได้สร้างวัดชั่วคราวขึ้นเป็นหลังที่ 3 หลังคามุงแฝก ต่อมาคุณพ่อเอดัวร์ ถัง นำลาภ ได้บูรณะวัดหลังนี้ให้ดีขึ้น โดยมุงหลังคาด้วยดินเผา  เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.. 1965 (.. 2508) วัดชั่วคราวซึ่งมุงด้วยดินเผาทนการสั่นสะเทือนจากการทิ้งระเบิดที่บ้านถ้ำ ประเทศลาวไม่ได้หลังคาจึงพังทะลายลงมา แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย  คุณพ่ออันตน เสงี่ยม ศรีวรกุล เจ้าอาวาสในขณะนั้นพร้อมกับคริสตชนชาวหนองแสงได้พากันซ่อมแซมเปลี่ยนหลังคาเป็นสังกะสีเพื่อจะได้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
1.4   คุณพ่อเอดัวร์ ถัง นำลาภ
คุณพ่อเอดัวร์ เกิดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.. 1893 (.. 2436)  ที่จังหวัดจันทบุรี เข้ารับการศึกษาที่บ้านเณรเล็กบางนกแขวก อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม  ระหว่างปี ค.. 1908-1916 (.. 2451-2459) จากนั้นเป็นครูเณรที่บางนกแขวกจนถึงปี ค.. 1920 (.. 2463) จึงได้เข้ารับการศึกษาที่บ้านเณรใหญ่ ปีนัง ประเทศมาเลเซียจนจบหลักสูตรได้บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อปี ค.. 1926 (.. 2469) 
ต่อมาเมื่อคุณพ่อโบแอร์ เจ้าอาวาสอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง ลาพักเนื่องจากสุขภาพไม่ดีในปี ค.. 1929 (.. 2472)  จึงไม่มีพระสงฆ์ที่รู้ภาษาเวียดนามดีพอ  เนื่องจากคริสตชนที่หนองแสงส่วนใหญ่ใช้ภาษาเวียดนาม  พระสังฆราชแกวง จึงขอมิสซังกรุงเทพฯให้หาพระสงฆ์ที่รู้ภาษาเวียดนามไปช่วย  คุณพ่อเอดัวร์ จึงสมัครมาช่วยงานที่หนองแสง เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสคุณพ่อมาลาวาล ทำหน้าที่ดูแลวัดเชียงยืน นามน โคกก่อง และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองแสงในเวลาต่อมา
       ระหว่างที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนและการเบียดเบียนศาสนาในปี ค.. 1940 (..2483)  อาสนวิหารที่หนองแสงถูกทหารไทยยึดและใช้หอระฆังซึ่งเป็นหอสูงเป็นที่ส่องกล้องดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายฝรั่งเศส  จึงถูกยิงด้วยปืนใหญ่จากฝั่งลาวจนหอระฆังพังไปแถบหนึ่ง  เมื่อเห็นว่าอาสนวิหารถูกยิงได้รับความเสียหายข้าหลวงเมืองนครพนมได้สั่งให้นักโทษในเรือนจำขึ้นไปรื้อกระเบื้องหลังคา ขนเอาอิฐ และไม้ไปขาย  คงเหลือแต่ซากหอระฆังอีกข้างหนึ่งเท่านั้น  สำนักพระสังฆราช บ้านพักพระสงฆ์ โรงเรียนพระหฤทัย บ้านเณร อาราม โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า ยุ้งข้าว กำแพงอิฐทั้ง 4 ด้าน ฯลฯ ถูกรื้อเอาไปหมดเช่นกัน เหลือแต่ซากปรักหักพัง  เวลานั้นคุณพ่อเอดัวร์ ถูกจับขังคุกพร้อมกับคริสตชนบางคน เช่น ครูทัน เวียงชัย  ภายหลังออกจากคุกแล้วยังมีผู้ใส่ร้ายคุณพ่อว่าเป็นแนวที่ 5 กล่าวหาว่าคุณพ่อฉายไฟให้เครื่องบินของฝรั่งเศสมาทิ้งระเบิดที่นครพนมและที่สกลนคร  จนถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี ค.. 1941 (.. 2484)  คุณพ่อถูกส่งตัวไปคุมขังที่คุกบางขวาง จังหวัดนนทบุรี
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.. 1945 (..2488)  นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศนิรโทษกรรม คุณพ่อเอดัวร์ จึงได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสที่หนองแสงอีกครั้ง  พร้อมกับทำหน้าที่ดูแลคริสตชนชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระจัดกระจายอยู่ตามริมแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดน เช่น อำเภอบ้านแพง ธาตุพนม มุกดาหาร ดอนตาล ฯลฯ คุณพ่อได้ติดตามหากลุ่มคริสตชนเหล่านั้น ตั้งแต่อำเภอบ้านแพงมาจนถึงอำเภอมุกดาหารด้วยความร้อนรนและด้วยความห่วงใยเป็นที่น่าสรรเสริญยิ่งนัก จนกระทั่งหัวใจวายถึงแก่มรณภาพขณะกำลังขึ้นฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อติดตามกลุ่มคริสตชนที่อำเภอบ้านแพงเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.. 1965 (.. 2508) สิริอายุ 72 ปี  นับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลอีกครั้งหนึ่งของวัดหนองแสงและสังฆมณฑล
1.5    รองอาสนวิหารนักบุญอันนา: วัดหลังปัจจุบัน
เดือนมีนาคม ค.. 1972 (.. 2515) พระอัครสังฆราชมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้อนุมัติให้สร้างวัดหลังใหม่หลังที่ 4 สำหรับใช้เป็นรองอาสนวิหารของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เพื่อเป็นการระลึกถึงความเสียสละและความกล้าหาญของมิชชันนารีรุ่นแรกที่ได้นำเมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารมาหว่านในดินแดนแห่งนี้ ประกอบกับวัดชั่วคราวมีอายุกว่าสามสิบปีแล้วไม่ปลอดภัยสำหรับสัตบุรุษ โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม ค.. 1972 (.. 2515) ตรงกับวันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์  
        วัดหลังใหม่นี้สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่คล้ายคลึงกับอาสนวิหารหลังเก่าที่ถูกทำลาย ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างพร้อมเพรียงของคริสตชนชาวหนองแสง ด้วยความศรัทธาและความช่วยเหลือของคริสตชนจากภาคกลาง  พร้อมทั้งความสามารถของคุณพ่ออันตน เสงี่ยม วัดหลังใหม่จึงสำเร็จลงอย่างน่าสรรเสริญ เป็นวัดที่ใหญ่โตตั้งตระหง่าน สง่างามทั้งภายนอกและภายในสมกับเป็นรองอาสนวิหารอย่างแท้จริง ได้มีพิธีเสกและเปิดอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่  18 เมษายน ค.. 1975 (.. 2518) โดยพระสังฆราชเกลาดีอุส บาเย อดีตประมุขมิสซังลาว, มิสซังท่าแร่และมิสซังอุบลราชธานี มิชชันนารีรุ่นที่สองผู้บุกเบิกและมีบทบาทสำคัญในพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้
ปี ค.. 1985 (.. 2528) คุณพ่อยอแซฟ ตรรกวิทย์ เวียรชัย ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาส  คุณพ่อได้ปรับปรุงและพัฒนาวัดหลายอย่าง เช่น สร้างบ้านพักพระสงฆ์หลังใหม่ และอาคารสำนักงานโคเออร์ ส่วนถนนรอบวัดสร้างในสมัยคุณพ่อยอแซฟ ธีระยุทธ อนุโรจน์  ต่อมาในปี ค.. 1998 (.. 2541) คุณพ่อยอแซฟ ตรรกวิทย์ ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้ง  และได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งวัดเก่าหลังที่ 3  จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ มีพิธีเสกและเปิดโอกาสปิดปีปีติมหาการุญ ค.. 2000  โดยให้ชื่อว่า ศาลาเซนต์แอน ค.. 2000”  รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 1,100,000.- บาท  โดยได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องคริสตชนชาวหนองแสงและผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น