วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

IEC2016, Cebu (2)


การชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ ครั้งที่ 51

 24-31 มกราคม 2016 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์

พิธีแห่ศีลมหาสนิทที่เมืองเซบูที่มีผู้ร่วมมากที่สุด 1.5 ล้านคน 

ศีลมหาสนิท การเสวนากับวัฒนธรรม

นี่คือหัวเรื่องการสอนคำสอนของพระคาร์ดินัลหลุยส์ อันโตนิโอ ตาเกล (Card. Luis Antonio Tagle) ประมุขอัครสังฆมณฑลมะนิลา ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2016 ที่พูดถึงเหตุผลที่พระศาสนจักรต้องเสวนากับวัฒนธรรม เนื่องจากพันธกิจของพระศาสนจักรไม่สามารถประณามศัตรูของความจริงในพระศาสนจักรและนอกพระศาสนจักรได้ การเสวนาคือพันธกิจและเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า “ไหวพริบทางวัฒนธรรม” (Culture intelligence) เราต้องมีไหวพริบทางวัฒนธรรมเพื่อเห็นแก่พระวรสารและมนุษยชาติ เนื่องจากเราต้องพบปะผู้คนในวัฒนธรรม

ไหวพริบทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 1) ฉันรู้จักวัฒนธรรมของฉันและรู้ด้วยว่าวัฒนธรรมของฉันได้บ่มเพาะตัวฉันและมีผลต่อฉันอย่างไร, 2) ฉันได้ศึกษาและพยายามที่จะรู้จักวัฒนธรรมของผู้อื่นจากภายใน และ 3) ฉันได้ตัดสินใจที่จะเรียนรู้จากวัฒนธรรมของฉันและของเขา ท้าทายและทำให้กันและกันบริสุทธิ์ การใช้ไหวพริบทางวัฒนธรรมอย่างชาญฉลาด ทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันถึงความงดงามของวัฒนธรรมแต่ละอย่าง

 การพูดของพระคาร์ดินัลอันโตนิโอ ตาเกล เรื่องศีลมหาสนิท การเสวนากับวัฒนธรรม


คาร์ดินัลตาเกลยังพูดถึงความขัดแย้งมากมายซึ่งทำลายโลกของเราวันนี้ รวมถึงการแยกจากกันและการปะทะทางวัฒนธรรม การเสวนาจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้กระทั่งในบ้าน ในที่ทำงานที่เทคโนโลยีได้ทำให้เกิดการอพยพแบบดิจิตอลของผู้คน และสร้างกำแพงระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วยกัน ที่เรียกว่าวัฒนธรรมแบบปัจเจก (Individual culture) อยู่แบบตัวใครตัวมัน ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น การถ่ายรูปตนเอง (Selfie) โดยไม่ต้องอาศัยช่างถ่ายภาพ สามารถตกแต่งทำให้ตัวเองดูดีเสมอ วัฒนธรรมแบบดิจิตอลได้หล่อหลอมคนหนุ่มสาวให้เห็นความสำคัญของภาพลักษณ์มากกว่าสิ่งอื่นใด

ขณะที่ศีลมหาสนิทเป็นวัฒนธรรมของการเรียกมารวมกัน (Convocation) เราได้รับการเรียกให้มาร่วมกินอาหารที่มีพระเยซูเจ้าเป็นเจ้าภาพ รู้จักกันอย่างใกล้ชิด พระเยซูเจ้าได้ทำลายการแยกตัวออกไปในวัฒนธรรมแบบปัจเจก ดังนั้น เราต้องเริ่มเสวนากับวัฒนธรรมแบบตัวใครตัวมันในบ้านของเรา ด้วยการกินอาหารร่วมกัน ร่วมโต๊ะอาหารด้วยกัน โต๊ะอาหารจึงเป็นสิ่งพื้นฐานที่สำคัญของมื้ออาหาร เช่นเดียวกันกับที่เราสามารถยืนยันถึงการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้า ผ่านทางการมาประชุมกันทางวัฒนธรรมแบบศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นการชุมนุมกันและแบ่งปันกันในความรัก





คลื่นมหาชนในพิธีแห่ศีลมหาสนิท

หลังการภาวนาเช้าวันที่  29 มกราคม ค.ศ. 2016 พระคาร์ดินัลจอห์น โอไนเยกัน (Card. John Onaiyekan) จากประเทศไนจีเรีย ได้สอนคำสอนเรื่อง “ศีลมหาสนิท การเสวนากับคนจนและผู้ทุกข์ยาก (Eucharist: Dialogue with the poor and the suffering)” โดยพูดถึงความยากจนทางวัตถุซึ่งเป็นความยากจนที่ใกล้ตัวที่สุดในพระศาสนจักร ศีลมหาสนิทแสดงถึงความดีของพระเจ้าในการมอบพระองค์เองแก่มนุษยชาติ และความจำเป็นเพื่อการแบ่งปันระหว่างลูกของพระเจ้าโดยเริ่มจากในพระศาสนจักรก่อน ยังมีความยากจนฝ่ายวิญญาณที่แสดงออกในรูปของความเห็นแก่ตัว ศีลมหาสนิทท้าทายเราให้มองเห็นแต่ละคนเป็นพี่น้อง เป็นลูกของพระบิดาเจ้าสวรรค์องค์เดียวกัน และพระศาสนจักรต้องเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อคนจน

นอกนั้น ยังพูดถึงความทุกข์ยากลำบากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ศีลมหาสนิทได้แสดงให้เราเห็นว่าพระเยซูเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขน เพื่อแบ่งปันสภาพความทุกข์ยากลำบากของมนุษย์ เราต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ศีลมหาสนิทเป็นประโยชน์สำหรับคนจนในสลัมหรือหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ผู้ที่อยู่ในคุกและถูกจองจำ รวมถึงผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากควรมีโอกาสได้พิศเพ่งพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท




ในเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกันมีพิธีบูชาขอบพระคุณที่ศาลาว่าการของเมืองเซบู (Capitol Site) โดยพระอัครสังฆราชดีร์มิด มาร์ติน (Diarmuid Martin) จากอัครสังฆมณฑลดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ท่ามกลางคริสตชนชาวเซบูที่มาร่วมเป็นจำนวนมาก โดยย้ำเตือนผู้มาร่วมพิธีว่าพระศาสนจักรกลายเป็นปัจจุบันผ่านทางศีลมหาสนิท ถ้าไม่มีศีลมหาสนิทก็ไม่มีพระศาสนจักร ไม่มีพระศาสนจักรโดยปราศจากศีลมหาสนิทเพราะศีลมหาสนิทสร้างพระศาสนจักร

หลังพิธีบูชาขอบพระคุณมีพิธีอวยพรและแห่ศีลมหาสนิท ซึ่งผู้จัดงานคาดการณ์ว่าจะมีผู้มาร่วมงานนี้ประมาณ 3 แสนคน แต่เมื่อเริ่มขบวนแห่ศีลมหาสนิทจำนวนผู้มาร่วมได้เพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านคนหรือมากถึง 1.5 ล้านคนตามรายงานของหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น อันแสดงถึงความเชื่อศรัทธาของพี่น้องชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อศีลมหาสนิท เป็นคลื่นมหาชนที่เคลื่อนจากหน้าศาลาว่าการเมืองไปถามถนนสู่จัตุรัสอิสรภาพ (Plaza Independencia) ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ร่วมกับผู้คนเต็มสองข้างทางโดยมีบรรดาเด็กและเยาวชนยืนถือเทียนอยู่แถวหน้า เป็นภาพแห่งความศรัทธาที่ทุกคนต่างประทับใจและกลายเป็นสถิติการแห่ศีลมหาสนิทที่มีผู้ร่วมมากที่สุด




คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์


สำนักมิสซังฯ สกลนคร
3 กุมภาพันธ์ 2016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น