พระสังฆราชปาซอตตีกับมิสซังลาว
วันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) เป็นวันมรณกรรมของ
พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี (Cajetano PASOTTI) พระสังฆราชองค์แรกของมิสซังราชบุรี
ภายหลังแยกออกจากมิสซังกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
ค.ศ. 1930 (พ.ศ.
2473) โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆรักษ์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชมิสซังราชบุรีเมื่อวันที่
3 เมษายน ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) พร้อมกับทำหน้าที่ปกครองจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
พระสังฆราชปาซอตตี เกี่ยวข้องอะไรกับมิสซังลาวภาคอีสาน
นี่คือความมุ่งหมายของข้อเขียนนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความสำคัญของท่านในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากของการเบียดเบียนศาสนา
ในระหว่างที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน อันเป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสถูกควบคุมตัวออกนอกประเทศ
พระสังฆราชปาซอตตี ได้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือมิสซังลาวภาคอีสาน
โดยได้รับแต่งตั้งจากกรุงโรมให้ทำหน้าที่ดูแลมิสซังลาวตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) จนถึงวันที่ 29
มกราคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) พร้อมกับรับตำแหน่งผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปา
(Administration Apostolic) เป็นการชั่วคราว
คุณพ่อเปาโล ศรีนวล ศรีวรกุล |
ส่งพระสงฆ์ซาเลเซียนมาช่วยงาน
คุณพ่อเปาโล
ศรีนวล ศรีวรกุล อุปสังฆราชมิสซังลาวได้เดินไปพบพระสังฆราชปาซอตตี
และคุณพ่อยอห์น กาเซตตา อธิการเจ้าคณะซาเลเซียน
เพื่อขอให้ส่งพระสงฆ์มาช่วยงาน และพระสังฆราชปาซอตตี ได้ส่งพระสงฆ์ 2 องค์แรกมาถึงภาคอีสานเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) และมาสมทบอีกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม[1] ปีเดียวกัน
รายนามพระสงฆ์ที่เดินทางมาอีสานประกอบด้วย
คุณพ่อยอแซฟ ปีนัฟโฟ, คุณพ่อเกรสปี
เดลปีโน, คุณพ่อยอแซฟ ฟอร์ลัสซินี, คุณพ่ออันเดร
วิตราโน และ คุณพ่ออังโยโล
มาร์เกซี[2] นอกนั้นยังมี คุณพ่อยอห์น กาเซตตา คุณพ่อเอยิดดิโอ
บ๊อตตาอิน และคุณพ่อยอร์ช ไปน๊อตตี เดินทางมาเยี่ยมเยียนและช่วยงานเป็นครั้งคราว
จากคำบอกเล่าของ พระอัครสังฆราชลอเรนซ์
คายน์ แสนพลอ่อน และผู้อาวุโสหลายท่านยืนยันตรงกันว่า
พระสงฆ์ซาเลเซียนเหล่านั้นได้อาศัยพักตามบ้านคริสตชนที่ไว้ใจได้ เพื่อคอยเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจคริสตชนตามหมู่บ้านต่างๆ
ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนคือ คุณพ่อมาร์เกซี ทำหน้าที่ดูแลคริสตชนที่ท่าแร่โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านของนายคูณ
และคุณพ่อฟอร์ลัสซินี ดูแลคริสตชนที่วัดพระตรีเอกานุภาพช้างมิ่ง
โดยอาศัยพักอยู่บ้านของนายฮาด ทิพย์ทอง บิดาของกำนันกลึง ทิพย์ทอง ซึ่งแม้จะถูกเบียดเบียนและทำร้ายแต่คุณพ่อไม่ยอมทิ้งชาวช้างมิ่ง
พระสังฆราชปาซอตตี
ได้เดินทางมาเยี่ยมมิสซังลาวเป็นทางการรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม
ถึงวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.
1942 (พ.ศ. 2485) และครั้งที่
2 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 12
เมษายน ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486)[3] ในการมาครั้งแรกได้เดินทางมาพร้อมกับ คุณพ่อการ์โล กาเซตตา อธิการโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย
ที่ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจำภาคอีสาน (Vicar Delegate) และภราดายอแซฟ
วัลโตลีนา จากวัดเพลง
การมาครั้งนั้นพระสังฆราชปาซอตตี
ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล, คุณพ่อมาร์เกซี และคริสตชนชาวท่าแร่ คุณพ่อฟอร์ลัสซินี เมื่อทราบข่าวได้เดินทางจากช้างมิ่งเพื่อมาร่วมวางโครงการเยี่ยมคริสตชนตามวัดต่างๆ
ที่ถูกรื้อทำลาย ถูกเผา และถูกสั่งปิด หลังจากที่ได้เยี่ยมเยียนวัดใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คุณพ่อศรีนวล ศีรวรกุล และคุณพ่อคำผง กายราช ได้นำพระสังฆราชปาซอตตี
พร้อมคณะออกเดินทางจากท่าแร่ไปวัดนักบุญอันนาหนองแสง จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นอาสนวิหารและคงได้แวะเยี่ยมวัดต่างๆ
ตามรายทาง
พระสังฆราชปาซอตตี ไปถึงหนองแสงวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2487) โดยอาศัยพักที่บ้านขององเสา เพื่อเยี่ยมเยียนคริสตชนตามวัดต่างๆ
ที่อยู่โดยรอบ จนถึงค่ำวันที่ 7 มีนาคม จึงลงเรือแจว 2
ลำล่องไปตามแม่น้ำโขง ก่อนเที่ยงวันที่ 9 มีนาคมจึงถึงที่หมายคือ
บ้านสองคอน ดินแดนแห่งมรณสักขี โดยค้างที่สองคอน 2 คืนเพื่อให้ชาวสองคอนได้รับศีลอภัยบาปและร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ
โดยอาศัยบ้านของพ่อเฒ่าเคน ว่องไว
กระทั่งคืนที่ 3 ได้เดินทางผ่านป่าไปรอจับรถประจำทางจากอุบลราชธานีที่ผ่านถนนใหญ่เวลาหัวค่ำ
แต่มาถึงจริงๆ เกือบเที่ยงคืน พระสังฆราชปาซอตตี และคณะจึงต้องนอนกันริมถนนกลางป่าโดยมีชาวสองคอนที่ไปส่งยืนรายรอบพร้อมกับสุมไฟกันเสือ
เนื่องจากบริเวณนั้นมีเสือชุมและเรียกกันว่า นาเสือหลาย
หลุมศพมรณสักขีแห่งสองคอนที่สุสานศักดิ์สิทธิ์ |
การสอบสวนเรื่องมรณสักขีสองคอน
ระหว่างที่พำนักที่บ้านสองคอน
พระสังฆราชปาซอตตี ได้สืบสวนเรื่องราวของมรณสักขีทั้ง 6 ที่พลีชีพเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม
ค.ศ. 1940 (พ.ศ.
2483) โดยมอบหมายให้คุณพ่อการ์โล
ทำหน้าที่สืบสาวราวเรื่องทั้งหมดจากปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ พร้อมกับบันทึกเรื่องราวโดยละเอียด
โดยเฉพาะหลักฐานชิ้นสำคัญคือ “จดหมายของภคินีอักแนสพิลา
ทิพย์สุข” ที่เขียนถึงนายลือ เมืองโคตร หัวหน้าตำรวจชุดคุ้มครองหมู่บ้าน
เพื่อแสดงถึงการยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ ก่อนถูกยิงพลีชีพเป็นมรณสักขีพร้อมกันรวม
6 คนที่ป่าศักดิ์สิทธิ์
“คุณพ่อการ์โล
ได้เอาจดหมายนี้มาวิจารณ์ทันทีพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน นายเปโตร เที่ยงพร้อม
และชาวบ้านคนอื่นๆ รวมทั้งพระสังฆราช (ปาซอตตี) พระสงฆ์อีก 2 องค์ เมื่อลอกคำต่อคำโดยกวดขันแล้ว
ก็ได้มอบให้แก่พระสังฆราช เพื่อพิจารณา และดำเนินการฝ่ายพระศาสนจักรต่อไป”[4] คุณพ่อการ์โล จึงเป็นคนแรกที่สืบสวนเรื่องราวและเก็บหลักฐานต่างๆ
เกี่ยวกับการพลีชีพที่สองคอน ทำให้การดำเนินเรื่องเพื่อสถาปนาเป็น “บุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย” ในเวลาต่อมาง่ายขึ้น
นอกนั้น ยังมีส่วนสำคัญในการดูแลและให้กำลังใจคริสตชนตามวัดต่างๆ
ในเขตจังหวัดนครพนม หนองคายและเลย ตลอดช่วงเวลาของการเบียดเบียน จนถึงวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2487) จึงยุติเนื่องจากความผันผวนทางการเมืองระหว่างประเทศ
กองทัพญี่ปุ่นได้สั่งให้รัฐบาลไทยกักกันและควบคุมตัวชาวอิตาลีทั่วประเทศ คุณพ่อการ์โล ถูกกักตัวไว้ที่บ้านของนายฮาด
ทิพย์ทอง ขณะที่อยู่ช้างมิ่ง มีตำรวจนั่งอยู่หน้าประตูบ้านติดต่อใครไม่ได้
เว้นแต่เด็กชายคนหนึ่งคอยนำอาหารจากภคินีที่อยู่ในชุดฆราวาสทำมาให้วันละ 3 มื้อ
วันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2487) คุณพ่อการ์โล พร้อมกับพระสงฆ์ซาเลเซียนทั้งหมดในภาคอีสาน ได้เดินทางไปรวมกันที่วัดบางนกแขวกมิสซังราชบุรีตามความต้องการของรัฐบาลไทย แต่ก่อนหน้านั้น พระสังฆราชปาซอตตี ได้ส่งคุณพ่อซาวีโอ
มนตรี มณีจิตร พระสงฆ์ไทยในมิสซังมาช่วยงานที่วัดหนองแสง
จังหวัดนครพนมแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1942 (พ.ศ.
2485) โดยอยู่ช่วยงานนานกว่า
10 ปี ส่วนที่วัดท่าแร่ คุณพ่อซามุแอล สมุห์ พานิชเกษม
พระสงฆ์ไทยมิสซังกรุงเทพฯจากจันทบุรี
ได้สมัครใจมาช่วยงานและรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2488) จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491)
คณะสงฆ์ไทยของมิสซังลาว (แถวกลางขวาสุดคือคุณพ่อมนตรี มณีจิตร) |
โครงการของพระสังฆราชปาซอตตี
ในการเดินทางมามิสซังลาวครั้งที่
2 พระสังฆราชปาซอตตี ได้คิดโครงการที่จะให้ภาคอีสานเป็นมิสซัง
มอบให้พระสงฆ์พื้นเมืองเป็นผู้ปกครอง
และพร้อมจะส่งพระสงฆ์ซาเลเซียนมาช่วยในจำนวนที่ต้องการ ดังนั้น ในการเดินทางมาท่าแร่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) พระสังฆราชปาซอตตี ได้ประชุมคณะสงฆ์ไทยทั้งหมดและเสนอโครงการดังกล่าว
“ยิ่งกว่านั้นดูเหมือนท่านจะรบเร้าให้รับโครงการของท่านด้วย
เพราะท่านได้บอกให้พระสงฆ์ไทยเหล่านั้นออกเสียงเลือกพระสงฆ์ไทยองค์หนึ่งเป็นพระสังฆราช”[5]
เมื่อพระสังฆราชปาซอตตี
กลับไปแล้ว พระสงฆ์ไทยได้ประชุมกันเห็นว่ายังไม่พร้อม และตกลงเลือกพระสงฆ์ธรรมทูตคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นพระสังฆราช
แม้โครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบสนอง
แต่ได้จุดประกายความคิดของพระสงฆ์ไทยทุกคนถึงภาระที่จะต้องแบกรับในอนาคต เป็นที่น่าสังเกตว่าในการไปเยี่ยมวัดต่างๆ
ในภาคอีสานของพระสังฆราชปาซอตตี จะต้องส่งจดหมายหรือโทรเลขถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ทราบล่วงหน้าเสมอ
เมื่อมาถึงแล้วยังเข้าไปรายงานเอกสารจากรัฐมนตรีมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ
นอกจากนั้น ในระหว่างที่เกิดการเบียดเบียน
พระสังฆราชปาซอตตี ได้บวชพระสงฆ์พื้นเมืองของมิสซังลาว 3 องค์ คือคุณพ่อยอแซฟ อินทร์ นารินรักษ์ เมื่อวันที่
13 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) คุณพ่อเปโตร วันดี
พรหมสาขา ณ สกลนคร และคุณพ่อราฟาแอล คาร โสรินทร์ เมื่อวันที่
29 มกราคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) ที่วัดน้อยบ้านเณรบางนกแขวก
จังหวัดสมุทรสงคราม
นับว่า พระสังฆราชปาซอตตี ได้มีบทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อมิสซังลาวภาคอีสาน
ในห้วงเวลาของความยากลำบากของการเบียดเบียนศาสนา ที่ไม่มีพระสงฆ์ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสเหลืออยู่เลย
อีกทั้งได้ทำหน้าที่ปกครอง เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ
ทำให้คริสตชนในมิสซังลาวภาคอีสานยังมั่นคงเข็มแข็งในความเชื่อ ควรที่อนุชนรุ่นหลังจะสำนึกพระคุณ
และระลึกถึงท่านเป็นพิเศษในโอกาสครบรอบ 65 ปีแห่งการจากไป
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
3 กันยายน 2015 (โอกาสครบรอบ 65 ปี มรณกรรมของพระสังฆราชปาซอตตี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น