วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พระอัครสังฆราชเกี้ยนกับวัดป่าพนาวัลย์

พระอัครสังฆราชเกี้ยนกับวัดป่าพนาวัลย์
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ผู้บุกเบิกและก่อตั้งวัดป่าพนาวัลย์

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ อดีตประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ลำดับที่ 7 ค.ศ. 1959-1980 นับเป็นผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์ ในฐานะผู้บุกเบิกและก่อตั้งชุมชนวัดเมื่อ 22 พฤศจิกายน 1986 ซึ่งพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ต่างตระหนักและสำนึกพระคุณอยู่เสมอ ไม่เคยลืมเลือน
ยังจำภาพเวลาที่พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน พูดถึงวัดป่าพนาวัลย์หรือที่เรียกว่า “วัดสวนป่าพนาวัลย์” จะเห็นใบหน้าและแววตาที่เป็นสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดถึงด้วยความภาคภูมิใจ เพราะวัดป่าพนาวัลย์เป็นเหมือนกับชีวิตและลมหายใจของพระคุณเจ้าในช่วงบั้นปลายชีวิต ที่ได้ทุ่มเท เสียสละ สร้างทุกอย่างขึ้นมาด้วยความเชื่อศรัทธา
ในโอกาสที่ชุมชนวัดแห่งนี้ฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งการก่อตั้ง เสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2016 จึงขอพูดถึงบทบาทและความสำคัญของชุมชนวัดแห่งนี้กับพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 30 ปีอย่างมีคุณค่าและความหมาย อีกทั้ง ช่วยให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักในความเชื่อคริสตชนที่ตนได้รับ และนี่คือคือความมุ่งหมายของบทความนี้

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ หน้าอาศรมชื่อเกธเซมานี
ศูนย์แห่งการภาวนา
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้ชื่อว่าเป็นนักแพร่ธรรมตลอดชีวิต แม้จะลาออกจากตำแหน่งผู้ปกครองเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย แต่ยังรับหน้าที่เจ้าอาวาสวัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง วัดพระนามเยซู นาคำ และดูแลกลุ่มคริสตชนพังโคน สว่างแดนดิน นาทันและดงคำโพธิ์ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่หนักมากสำหรับผู้สูงอายุอย่างท่าน เมื่อพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขตช้างมิ่งได้รับผิดชอบงานแพร่ธรรมอย่างเต็มตัว ด้วยการบุกเบิกและสร้างวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์ เพื่อเป็นศูนย์สำหรับการรำพึงภาวนา
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้สร้างวัดและถ้ำแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล โดยมุ่งหวังให้เป็นวัดป่าตามวิถีพุทธสำหรับการรำพึงภาวนาท่ามกลางผืนป่าธรรมชาติแบบเบญจพรรณ อีกทั้งเป็นสถานภาวนาสำหรับชุมชนและคริสตชนทั่วไป เราจึงได้เห็นอาศรมเกิดขึ้น 4 หลังเพื่อใช้เป็นที่พักและรำพึงภาวนาสำหรับผู้มาเข้าเงียบหรือเตรียมจิตใจ โดยเฉพาะบรรดานักบวชและผู้เตรียมบวชเป็นพระสงฆ์ ซึ่งได้มาใช้สถานที่แห่งนี้หลายรุ่น โดยพระคุณเจ้าเป็นผู้เทศน์เตรียมจิตใจและแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตสงฆ์ด้วยตนเอง
 พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ผู้อภิบาลเยี่ยงผู้เลี้ยงแกะที่ดี
สนามงานอภิบาล
วัดป่าพนาวัลย์ยังเป็นสนามงานในการทำงานอภิบาลของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ที่ทำหน้าที่ดูแลคริสตชนชาวท่าแร่ที่อยู่รายรอบด้วยความเอาใจใส่เยี่ยงบิดาผู้ใจดี ดั่งผู้เลี้ยงแกะที่ดีในพระวรสาร ด้วยการเยี่ยมเยียน สอนคำสอน โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนใหม่นี้อย่างสม่ำเสมอและช่วยเหลือทุกคนที่เดือดร้อน  
นับตั้งแต่วันเสกและเปิดวัด 22 พฤศจิกายน 1986 ถึง 23 สิงหาคม 1996 ที่พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้ล้มป่วยเป็นอัมพาตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ได้ทำทุกอย่างเพื่อชาวป่าพนาวัลย์ เรียกได้ว่าดูแลทั้งชีวิต ซึ่งทุกคนต่างเห็นประจักษ์และสัมผัสได้ถึงความใจดีมีเมตตา ความรัก ความห่วงใยและความปรารถนาดี
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ได้ใช้วัดป่าพนาวัลย์เป็นศูนย์การแพร่ธรรม
ศูนย์กลางการแพร่ธรรม
นอกนั้น วัดป่าพนาวัลย์ยังเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ที่นำพาชาวป่าพนาวัลย์ไปแพร่ธรรมและก่อตั้งกลุ่มคริสตชนในหมู่บ้านต่างๆ อาทิ บ้านวนาสามัคคี ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ค.ศ. 1990, บ้านคำสว่างน้อย ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ค.ศ. 1991, บ้านพรสวรรค์ ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ค.ศ. 1993, บ้านโนนสวาท ตำบลดงชน อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม ค.ศ. 1993
ชาวป่าพนาวัลย์ ได้มีส่วนช่วยให้งานแพร่ธรรมของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ก้าวหน้าและเกิดผล ด้วยการเป็นกำลังสนับสนุนในทุกที่ทุกแห่ง บ้างขับรถ สอนคำสอน ขัดขับร้อง นำภาวนา ฯลฯ และพระคุณเจ้าได้ทำหน้าที่แพร่ธรรมอย่างแท้จริงสมดังคติพจน์ “แสงสว่างในความมืด” จบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตที่ไม่สามารถทำงานได้ เพราะตระหนักในพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทั้งมวล” (มก 16:15)
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์กับลูกหลานตาเกิด บุตรดีด้วง
บทสรุป
พระศาสนจักรมิได้เติบโตขึ้นด้วยความบังเอิญ หากแต่ยั่งยืนมั่นคงขึ้นมาด้วยหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อและชีวิตของบรรดามรณสักขีนับไม่ถ้วนในอดีต ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานอันมั่นคงของพระศาสนจักร  ความเป็นมาของชุมชนวัดป่าพนาวัลย์ แม้จะถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 1986 แต่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการเข้ามาของคริสตศาสนาที่สกลนคร ก่อนย้ายมาท่าแร่โดยการนำของคุณพ่อซาเวียร์ เกโกและครูทัน หลังสมโภชนักบุญทั้งหลาย ค.ศ. 1884
30 ปีวัดป่าพนาวัลย์ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรของพระเจ้า ที่ทรงหลั่งพระพร ความรักและความเมตตาของพระองค์มายังชาวป่าพนาวัลย์อย่างต่อเนื่อง ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ควรที่ชาวป่าพนาวัลย์ทุกคนจะสำนึกในพระคุณของพระเจ้า กตัญญูต่อพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ผู้บุกเบิกและก่อตั้งชุมชนวัด อีกทั้ง ร่วมมือกับพระหรรษทานของพระเจ้าในการสานต่อมรดกทางความเชื่อให้วัฒนาถาวรสืบไป
คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์
เจ้าอาวาสวัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์ ลำดับที่ 10
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์

29 พฤศจิกายน 2016

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

30 ปีวัดป่าพนาวัลย์2

30 ปีวัดป่าพนาวัลย์2
วัดป่าพนาวัลย์ ค.ศ. 2015
1.3 การฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัด
วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส โดยเข้ารับตำแหน่งวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)  มีพิธีต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคุณพ่อโทมัส ภัคพลและพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ คุณพ่อได้สานต่อเจตนารมณ์ของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ในการอนุรักษ์ผืนป่าในบริเวณวัดด้วยการปลูกไม้ยืนต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและรักษาความสมบูรณ์ทางธรรมชาติในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น วันสิ่งแวดล้อมโลกและวันแม่แห่งชาติ
 ชาวป่าพนาวัลย์ร่วมปลูกป่าโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก 6 มิถุนายน 2015
นอกนั้น ในโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม (8 ธันวาคม 2015-20 พฤศจิกายน 2016) คุณพ่อดาเนียล ขวัญได้จัดแสวงบุญในอัครสังฆมณฑลฯสำหรับพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ 2 ครั้ง เพื่อขอรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์และส่งเสริมความเชื่อศรัทธาในหมู่พวกเขาให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ครั้งแรกวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) เป็นการไปแสวงบุญวัดในเขตตะวันตกของอัครสังฆมณฑลฯ โดยมีเป้าหมายที่วัดพระคริสตราชาช้างมิ่ง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ครั้งที่สองวันที่ 9 ตุลาคม 2016 (พ.ศ. 2559) เป็นการไปแสวงบุญ 9 วัดในเขตกลางและเขตตะวันออก โดยมีเป้าหมายที่สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สองคอน อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
 ชาวป่าพนาวัลย์แสวงบุญครั้งแรกวัดในเขตตะวันตก โอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม
เสาร์ที่ 9 มกราคม 2016
ในการประชุมสภาอภิบาลวัด ผู้นำชุมชนและผู้นำหมู่บ้านวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)  คุณพ่อดาเนียล ขวัญได้เสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึงการฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัด ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ซึ่งเป็นห้วงเวลาสำคัญสำหรับชุมชนและชาวป่าพนาวัลย์ที่จะคิดถึงผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงอย่างพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนเตรียมฉลองครบรอบ 30 ปี เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ซึ่งประกอบด้วย ซุ้มประตูไม้ การบูรณะอนุสาวรีย์และถ้ำแม่พระ และการก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์
 ซุ้มประตูพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพบริเวณทางเข้าวัด
เริ่มสร้าง 1 ตุลาคม 2015
1.3.1               ซุ้มประตูไม้
การสร้างซุ้มประตูไม้ถือเป็นโครงการแรกของการเตรียมฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัด โดยได้รับเงินก้อนแรกจาก อาจารย์นนท์สมบัติ-อาจารย์ปราณี ทองอนันทวงศ์ จำนวน 5,000.- บาท และจากพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์อีกหลายครอบครัว คนที่มีไม้ได้บริจาคไม้หรือวัสดุอุปกรณ์ อาทิ ไม้ฝาเฌอร่า การก่อสร้างเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) บริเวณทางเข้าวัดทางทิศเหนือควบคู่ไปกับซุ้มทางทิศใต้ เนื่องจากต้องใช้รถเครนตั้งเสาพร้อมกัน วันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)
ซุ้มประตูไม้ทั้งสองซุ้มสร้างโดยใช้เสาไม้เต็งขนาดใหญ่ ความสูง 4 เมตร ยาว 5 เมตร ใช้คานไม้เต็งวางบนเสาทั้งสองต้นและสร้างหลังคาทรงไทย 2 ชั้น มุงด้วยไม้ฝาเฌอร่า สร้างโดยช่างในหมู่บ้าน 3 คน ได้แก่ นายเชิดชู กงแก่นทา, นายราชัน ว่ามป้อง และนายวีระศักดิ์ บุตรดีด้วง ซุ้มแรกทางทิศเหนือใกล้กับแท่นพระรูปพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนชีพ จึงให้ชื่อว่า “ซุ้มพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพ” ส่วนซุ้มทางทิศใต้ให้ชื่อว่า “ซุ้มพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์”
 ซุ้มไม้แปดเหลี่ยมครอบอนุสาวรีย์พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์
เริ่มก่อสร้าง 7 มีนาคม 2016
1.3.2               ซุ้มอนุสาวรีย์
โอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัด ถือเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมในการบูรณะอนุสาวรีย์พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยนให้สวยงาม แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายรูปเหมือนไปบูรณะได้ เนื่องจากรูปตากแดดตากฝนหลายปีจนกรอบเกินกว่าจะสามารถถอดออกจากฐานที่ตั้งได้ สิ่งที่ทำได้คือทำความสะอาด ทาสีใหม่และทำซุ้มไม้ครอบอนุสาวรีย์
การลงมือก่อสร้างซุ้มรูปทรงแปดเหลี่ยมโดยช่างกลุ่มเดิมเริ่มวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)  โดยใช้เสาไม้เต็งจำนวน 8 ต้น ขนาดความสูง 4 เมตร กว้าง 5 เมตร หลังคาแปดเหลี่ยม 2 ชั้นมุงด้วยไม้ฝาเฌอร่า บนยอดสุดมีไม้กางเขนทำให้ซุ้มอนุสาวรีย์ดูเด่นอย่างมีเอกลักษณ์ นอกนั้น ยังได้ทำม้านั่งโดยรอบยกเว้นบริเวณทางเข้า เพื่อเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ
 ศาลามีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์หน้าวัด เริ่มก่อสร้าง 23 มีนาคม 2016
1.3.3               ศาลามีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์
ศาลามีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นศาลาอเนกประสงค์สร้างบนลานกว้างระหว่างตัววัดกับถ้ำแม่พระ ที่คณะกรรมการสภาอภิบาลวัด ผู้นำหมู่บ้านและผู้นำชุมชนได้ประชุมกันเห็นควรสร้างศาลาขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับส่งโครงการขออนุมัติจากอัครสังฆมณฑลฯ หลังจากได้รับอนุมัติวันที่ 9 กุมพาพันธ์ ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ได้เริ่มเตรียมการก่อสร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ผู้บุกเบิกและก่อตั้งชุมชนวัดป่าพนาวัลย์โอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้ง อีกทั้ง เป็นเครื่องหมายแห่งแห่งความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ จะได้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ทุกโอกาส
 เป็นศาลาไม้ กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร ใช้เสาไม้เต็งไม้เปลือยขนาดใหญ่ 8 ต้น
ศาลานี้สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ขนาดความกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร ใช้เสาไม้เต็งและไม้เปลือยขนาดใหญ่สูง 5 เมตร จำนวน 8 ต้น ส่วนไม้โครงใช้ไม้เก่าจากบ้านพักศูนย์พระวิสุทธิวงศ์ เริ่มลงมือก่อสร้างวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)  ด้วยการปรับพื้นที่ก่อสร้างและรื้อบ้านพักเพื่อใช้ไม้สำหรับการก่อสร้าง ส่วนการตั้งเสาต้นแรกวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)  โดยใช้รถเครนซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากร้านวิบูลย์ชัยคอนกรีต การก่อสร้างได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ โดยทีมช่างจากนาโพธิ์-นาโพธิ์น้อย อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 เดือนเศษ มีพิธีเสกและเปิดโอกาสเปิดเดือนแม่พระแห่งสายประคำ วันศุกร์ที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)  โดยคุณพ่ออันตน วีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราช ร่วมกับคุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พรทวี โสรินทร์ หัวหน้าแผนกก่อสร้างของอัครสังฆมณฑลฯ
 เสก-เปิดโอกาสเปิดเดือนแม่พระแห่งสายประคำ 30 กันยายน 2016
โดยคุณพ่ออันตน วีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราช
ศาลามีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ถือเป็นเครื่องหมายแห่งความร่วมมือของพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ ที่ทุกคนมีส่วนช่วยกันในการทำให้สำเร็จอย่างน่าสรรเสริญ (โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณจากอัครสังฆมณฑลฯ) ทั้งการบริจาคและการบอกบุญแผ่ปัจจัยจากพี่น้องชาวท่าแร่ตามชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลตำบลท่าแร่และเทศบาลเมืองทองท่าแร่ อีกทั้งยังได้ร่วมกันซื้อเสื้อที่ระลึก 30 ปีวัดป่าพนาวัลย์” ที่ทำขึ้นพิเศษโอกาสฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัดที่ทุกคนได้ช่วยกันจำหน่าย เพื่อนำเงินรายได้สมทบกองทุนและโครงการก่อสร้าง  รวมถึงพี่น้องสัตบุรุษวัดนักบุญเปโตรมุกดาหาร ที่ให้การสนับสนุนอย่างดียิ่งในการจำหน่ายและร่วมทำบุญ
 ซุ้มป้ายประวัติและป้ายชื่อที่สร้างต่อจากซุ้มพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ
1.3.4               ซุ้มประวัติและชื่อวัด
ซุ้มประวัติและชื่อวัด ถือเป็นส่วนต่อขยายของซุ้มพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพ มีลักษณะเป็นซุ้มไม้ต่อจากซุ้มใหญ่ทั้งสองข้าง โดยใช้เสาไม้เต็งข้างละต้นขนาดความความสูง 2.5 เมตร ยาว 3.5 เมตร ซุ้มขวามือด้านที่ติดกับแท่นพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพเป็นซุ้มป้ายชื่อ “วัดป่าพนาวัลย์” ส่วนซุ้มซ้ายมือเป็นซุ้มภาพพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ภาพวัด ภาพถ้ำแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ภาพอนุสาวรีย์และศาลามีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ รวมถึงประวัติ “การฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัดป่าพนาวัลย์ ค.ศ. 1986-2016 วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)  เพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นประจักษ์
 พี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ร่วมใจกันเทพื้นคอนกรีตลานหน้าวัดและถนนสู่ซุ้มประตูทางเข้า
นอกนั้น โอกาสเตรียมฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัด ได้เปลี่ยนหม้อแปรงไฟฟ้าของวัดเป็นขนาด 30 แอม เดินสายไฟเข้าวัดใหม่ ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างมรรคาศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าทั้ง 14 ภาคและถนนเข้าวัด ซึ่งพี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ได้ช่วยกันปรับพื้นและเทพื้นคอนกรีตลานหน้าวัด เทถนนคอนกรีตทางเข้าวัดจนถึงซุ้มพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ชีพ รวมถึงปลูกไม้ดอกไม้ประดับตลอดสองข้างทางและหน้าซุ้มอย่างสวยงาม เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความชื่นชมยินดีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนวัดแห่งนี้ ที่ทุกคนต่างเสียสละแรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์เพื่อพระเกียรติมงคลของพระเจ้า
 คุณพ่อเปาโล พนม ลือประสิทธิ์และซิสเตอร์ทีมแพร่ธรรมมาช่วยเตรียมฉลองวัด
โอกาสเดียวกันนี้ หน่วยงานแพร่ธรรมอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง โดยการนำของคุณพ่อเปาโล พนม ลือประสิทธิ์ พร้อมซิสเตอร์เรจินา อมร รัตนาพร ซิสเตอร์โฉมเฉลา ชมภูจันทร์ และซิสเตอร์โรซา รัตนากร มหัตกุล คณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ ได้มาลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจและซ้อมขับร้องบทเพลงในพิธีแก่พี่น้องชาวป่าพนาวัลย์ตลอด 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมฉลองครบรอบ 30 ปีชุมชนวัด วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)  อย่างมีความหมาย อีกทั้งช่วยรักษามรดกทางความเชื่ออย่างมีชีวิตชีวาและยั่งยืน
 พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์โปรดศีลล้างบาปลูกหลานชาวป่าพนาวัลย์
2.         ลำดับพระสงฆ์ผู้ดูแลและเจ้าอาวาส
2.1     พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน   เสมอพิทักษ์          .. 1986-1996 (.. 2529-2539)
2.2     คุณพ่อยอแซฟ ตรรกวิทย์  เวียรชัย                              .. 1996-1998 (.. 2539-2541)
2.3     คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พรทวี  โสรินทร์                     .. 1998-.. 2000 (.. 2541-2543)
2.4     คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม                              .. 2000-2003 (.. 2543-2546)
2.4.1               คุณพ่อยอแซฟ สุดใจ แสนพลอ่อน              ค.ศ. 2000-2001 (พ.ศ. 2543-2544)
2.4.2               คุณพ่อริชาร์ด พงศ์อนันต์   นามจันโท         ค.ศ. 2000-2001 (.. 2543-2544)
2.4.3               คุณพ่อยอแซฟ ชัยวัฒน์ นำสุย                      ค.ศ. 2001-2002 (พ.ศ. 2544-2545)
2.4.4               คุณพ่อมีคาแอล ธัญญา   ศรีอ่อน                  ค.ศ. 2001-2002 (.. 2544-2545)
2.4.5               คุณพ่อเปาโล วีระชัย อุตุมะชะ                      ค.ศ. 2002-2003 (.. 2545-2546)
2.5     คุณพ่อยอห์น บันลือ เกียรติธาตรี                               ค.ศ. 2003-2008 (พ.ศ. 2546-2551)
2.6     คุณพ่อยอแซฟ กมล เสมอพิทักษ์                                ค.ศ. 2008-2010 (พ.ศ. 2551-2553)
2.7     คุณพ่อเปโตร ทวีชัย ศรีวรกุล                                      ค.ศ. 2010-2013 (พ.ศ. 2553-2556)
2.7.1               คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ จีระศักดิ์ อุ่นหล้า      ค.ศ. 2010-2011 (พ.ศ. 2553-2554)
2.7.2               คุณพ่อเปโตร ศรายุทธ คำภูแสน                   ค.ศ. 2010-2012 (พ.ศ. 2553-2555)
2.7.3               คุณพ่อยอแซฟ วัฒนา สอนนุชาติ                 ค.ศ. 2011-2012 (พ.ศ. 2554-2555)
2.7.4               คุณพ่อเปาโล เด่น ช่วยสุข                              ค.ศ. 2011-2012 (พ.ศ. 2554-2555)
2.7.5               คุณพ่อมีคาแอล ดนัย พิลาจันทร์                   ค.ศ. 2012-2013 (พ.ศ. 2555-2556)
2.7.6               คุณพ่อยอแซฟ ทินกร เหลือหลาย                ค.ศ. 2012-2013 (พ.ศ. 2555-2556)
2.8     คุณพ่อมีคาแอล ธัญญา ศรีอ่อน                                   พ.ค.-ก.ค. 2013 (พ.ศ. 2556)
2.9     คุณพ่อโทมัส ภัคพล มหัตกุล                                      23 ก.ค. 2013-10 พ.ค. 2015 (พ.ศ. 2556-2558)
2.10                                   คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์                        10 พ.ค. 2015 (พ.ศ. 2558)-ปัจจุบัน
3            ข้อมูลปัจจุบัน
3.1  วัดหลังปัจจุบัน   เป็นวัดหลังแรก สร้างโดยพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน   เสมอพิทักษ์ ค.. 1986 บูรณะและต่อเติมสมัยคุณพ่อเปโตร ทวีชัย ศรีวรกุล ค.ศ. 2011-2012 เนื้อที่ 19 ไร่
3.2  เวลามิสซา          
3.2.1      วันอาทิตย์            เวลา       10.00 . และ 19.30 น.

              3.2.2      วันธรรมดา          เวลา       19.00 น.

30 ปีวัดป่าพนาวัลย์1

วัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์

เลขที่ 187 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47230

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ผู้บุกเบิกและก่อสร้างวัดป่าพนาวัลย์
บ้านป่าพนาวัลย์ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตำบลท่าแร่ ตามทางหลวงหมายเลข 2132 สายท่าแร่-ศรีสงคราม กิโลเมตรที่ 2-3 เดิมทางเข้าหมู่บ้าน เป็นซุ้มแคนขนาดใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์ของคนในหมู่บ้านที่ชอบเสียงแคนเสียงพิณ (ปัจจุบันซุ้มแคนถูกรื้อทำซุ้มเหล็กแทน) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายป่า เหมาะแก่การทำเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน  ประชากรส่วนใหญ่เป็นคริสตชนที่ย้ายมาจากอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่
1.         ประวัติความเป็นมา
เดิมบริเวณบ้านป่าพนาวัลย์เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ประมาณ ค.. 1977 (.. 2520) นายผาง คำผาเยือง ได้พานายอินทร์เขียน บือกุศล และนายจันทร์ เดชทะศร เพื่อนรักจากท่าแร่มาตั้งหลักแหล่งหักล้างถางพงทำไร่ ทำนาและทำสวน หลายปีต่อมามีคนจากตระกูลบุตรดีด้วง ตระกูลขำคำ และตระกูลอื่นๆ อีกหลายครอบครัวเข้ามาอาศัย ทำให้จำนวนคนอาศัยเพิ่มเป็น 60 คน จนกลายเป็นชุมชนย่อยๆ
ด้านหน้าวัดป่าพนาวัลย์ที่พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์สร้าง
1.1  การก่อสร้างวัด
ประมาณเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ค.. 1985 (.. 2528) หลังสมโภชปัสกา (7 เมษายน 1985) นายเกิด บุตรดีด้วง ผู้อาวุโสคนหนึ่งของชุมชนใหม่ได้ไปปรึกษาเรื่องการสร้างวัดกับพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน   เสมอพิทักษ์ อดีตประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระคริสตราชาช้างมิ่ง ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มาประจำที่ศูนย์คาทอลิกท่าแร่ พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้ไปสำรวจชุมชนใหม่เห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะสร้างวัด จึงได้เสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะสงฆ์ของอัครสังฆมณฑลฯ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนและสถานที่ฟื้นฟูจิตใจ เมื่อได้รับการอนุมัติได้ดำเนินการก่อสร้างวัดขึ้น โดยมีฐานะเป็นวัดน้อยขึ้นกับอาสนวิหารอัครเทวดามีคาเอลท่าแร่ ไม่มีพระสงฆ์ประจำ 
วัดใหม่หลังคาทรงไทยยกพื้นสูงก่อสร้างด้วยธารน้ำใจจากผู้มีจิตศรัทธา อาทิ คุณวัลลี บูรณพันธ์ คุณบุษบา กิจพานิช คุณพ่อนัลลี คณะการ์แมล กรุงเทพมหานคร และพี่น้องชาวท่าแร่ บนที่ดินที่นายเกิด บุตรดีด้วงบริจาคจำนวน 4 ไร่ และพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้ซื้อเพิ่มจากนายเกิด บุตรดีด้วงอีกประมาณ 6 ไร่ เป็นเงิน 18,000.- บาท โดยมอบหมายให้นายสมัย  บือกุศล ชาวท่าแร่ซึ่งเป็นช่างประจำตัวดำเนินการก่อสร้าง ด้านหน้าวัดได้สร้างถ้ำภูเขาการ์แมลเพื่อประดิษฐานแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณมหัคฆ์ เสมอพิทักษ์ คุณประพาศรี พึ่งพรคุณ และคุณหล่ำ แซ่เล้า ระหว่างถ้ำแม่พระกับตัววัดเป็นลานกว้าง
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์กับนายช่างสมัย บือกุศล ช่างที่ช่วยสร้างวัด

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ยังได้สร้างมรรคาศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า ลักษณะเป็นภาพปูนปั้น ติดบนไม้กางเขนขนาดใหญ่ ตั้งบนฐานขนาดใหญ่ กว้าง 0.95 เมตร ยาว 1.65 เมตร และสร้างรูปปั้นการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าบริเวณทางเดินเข้าวัด อีกทั้งยังได้สร้างเรือนไทย 4 หลัง เรียกว่า อาศรม สำหรับเป็นที่พักของผู้มาเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจ นอกจากนั้นยังได้สร้างบ้านพักคนงานและหอระฆัง  ส่วนบริเวณพื้นที่อื่นนอกเขตก่อสร้างได้ปล่อยให้ต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อเป็นป่าอนุรักษ์ตามความตั้งใจ และให้ชื่อวัดใหม่ว่า วัดสวนป่าพนาวัลย์
เดือนตุลาคม ค.. 1986 (.. 2529) การก่อสร้างวัดตามโครงการสำเร็จลง พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้ทำพิธีเสกและเปิดวัดใหม่ วัดแม่พระภูเขาการ์แมล สวนป่าพนาวัลย์ วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.. 1986 (.. 2529) ท่ามกลางพระสงฆ์ นักบวชและพี่น้องคริสตชนจากที่ต่างๆ จำนวนมาก  ค.. 1988 (.. 2531) ยังได้สร้าง ศูนย์พระวิสุทธิวงศ์ ทางทิศตะวันออกของวัดบนเนื้อที่ 9 ไร่เศษ เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมและฟื้นฟูจิตใจ พร้อมกับสร้างโรงอาหาร บ้านพักและถังเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่สำหรับใช้อุปโภคและบริโภค       
ถ้ำแม่พระและพระรูปแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ด้านหน้าวัด

พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้เอาใจใส่ดูแลชุมชนใหม่ด้วยความร้อนรน กระทั่งเดือนสิงหาคม ค.. 1996 (.. 2539) ได้ล้มป่วยเป็นอัมพาต ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีก คุณพ่อยอแซฟ ตรรกวิทย์  เวียรชัย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลและได้จัดตั้งสภาอภิบาลวัดชุดแรกขึ้นมาตามระเบียบการปกครองวัด ต่อมาคุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พรทวี   โสรินทร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลเข้ารับหน้าที่วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม ค.. 1998 (.. 2541)   พร้อมกับทำการสำรวจจำนวนประชากรโดยความช่วยเหลือของอาจารย์ยินดี  พลากุล  เลขานุการสภาอภิบาลวัด   และพบว่าบ้านสวนป่าพนาวัลย์มี 144 ครอบครัว  มีประชากร 375 คน นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 95
วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม ค.. 1998 (.. 2541) คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พรทวี ได้แนะนำการภาวนาพระเมตตาให้พี่น้องชาวป่าพนาวัลย์เป็นครั้งแรก ต่อมาได้ขยายออกไปเป็นวงกว้างจนมีการภาวนาพระเมตตาก่อนพิธีบูชาขอบพระคุณทุกสัปดาห์ อีกทั้ง ยังได้จัดคารวกิจถวายเกียรติแด่แม่พระโอกาสปิดเดือนแม่พระแห่งสายประคำ เพื่อเสกหมู่บ้านและขอแม่พระอวยพรหมู่บ้านเป็นครั้งแรก วันที่ 31 ตุลาคม ค.. 1998 (.. 2541) โดยการแห่พระรูปแม่พระอย่างสง่าจากศูนย์พระวิสุทธิวงศ์มายังวัด
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน กับครอบครัวนายอุดม แดงจูม (ภายในวัด)

เดือนตุลาคม ค.. 2000 (.. 2543) อัครสังฆมณฑลฯได้มอบวัดป่าพนาวัลย์ให้อยู่ในความดูแลของอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่  มีพระสงฆ์ผู้ช่วยเจ้าอาวาสจมาทำหน้าที่ดูแล ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ วงศ์เสงี่ยม ในฐานะเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ ได้จัดสร้างรูปเหมือนของพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ทำจากไฟเบอร์ในลักษณะกางแขนยกมือทั้งสองข้าง และนำมาติดตั้งบนฐานหินแกรนิตสูงประมาณ 1 เมตร พร้อมกับทำป้ายประวัติการก่อตั้งชุมชนวัด มีพิธีเสกและเปิดโดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน วันที่ 4 กรกฎาคม 2002 (พ.ศ. 2545)
ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) คุณพ่อยอห์น บันลือ เกียรติธาตรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส นับเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกที่พักประจำที่วัดโดยปรับปรุงโครงเหล็กที่ตั้งถังประปาเป็นบ้านพัก อีกทั้งพยายามจะทำสุสานศักดิ์สิทธิ์ของวัด หลังจากได้รับอนุมัติจากผู้ใหญ่ของอัครสังฆมณฑลฯ ได้โค่นต้นไม้ ไถปรับพื้นที่ป่าด้านทิศเหนือ ทำกำแพงกั้นและเตรียมทำหลุมฝังศพ แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อให้สำเร็จเนื่องจากพระอัครสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ยับยั้ง ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้มาใช้สถานที่ในอนาคต นอกนั้นคุณพ่อยังได้ปรับปรุงอาศรมทั้ง 4 หลังด้วยการปูพื้นกระเบื้อง และติดฟ้าเพดานศูนย์พระวิสุทธิวงศ์
 พิธีเสกรูปเหมือนและอนุสาวรีย์พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์
โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน 4 กรกฎาคม 2002
1.2  การต่อเติมและบูรณะวัดและอาศรม
ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) คุณพ่อยอแซฟ กมล เสมอพิทักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส แต่ไม่ได้มาประจำยังคงพักประจำที่บ้านซีเมออนท่าแร่ คุณพ่อได้ริเริ่มโครงการต่อเติมและขยายวัดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เหมาะกับจำนวนสัตบุรุษที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยได้เสนอโครงการเพื่อขอเงินช่วยเหลือจากสันตะสำนัก กรุงโรม ประเทศอิตาลี แต่ไม่สามารถดำเนินการตามโครงการให้สำเร็จเนื่องจากปัญหาเรื่องสุขภาพ ทางอัครสังฆมณฑลฯได้มอบวัดป่าพนาวัลย์ให้อยู่ในความดูแลของอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่เป็นครั้งที่สอง
คุณพ่อเปโตร ทวีชัย ศรีวรกุล เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ พร้อมกับคุณพ่อยอห์น บัปติสต์ จีระศักดิ์ อุ่นหล้าและคุณพ่อเปโตร ศรายุทธ คำภูแสน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล โดยได้มาประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2453) คุณพ่อทั้งสามได้เอาใจใส่ ติดตามและให้กำลังใจกลุ่มคริสตชนพื้นฐานทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแสงตะวัน กลุ่มพูนสุข กลุ่มแสงอรุณและกลุ่มร่วมใจพัฒนา และได้เพิ่มผู้นำกลุ่มย่อยเป็น 5-6 คน มีการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนจะประชุมกลุ่มย่อยในแต่ละครั้ง
 วัดป่าพนาวัลย์หลังการต่อเติมและบูรณะ ค.ศ. 2011-2012
โดยคุณพ่อเปโตร ทวีชัย ศรีวรกุล เสก 21 เมษายน 2012
คุณพ่อเปโตร ทวีชัย ได้สานต่อโครงการของคุณพ่อยอแซฟ กมล ในการต่อเติมและขยายวัดที่พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน ได้สร้างและใช้งานมาเป็นเวลา 25 ปีให้กว้างใหญ่ สง่างาม และเหมาะสมในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ งานต่อเติมและขยายวัดเริ่มวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2011  (พ.ศ. 2554) โดยได้รับงบประมาณก้อนแรกจากสันตะสำนักตามโครงการที่ได้ขอไป จำนวน 827,000.- บาท มีนายปรีชา ทุพแหม่ง เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง มีนายสุนทร ตระกูลมา เป็นหัวหน้าช่างและดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด พร้อมช่างจากท่าแร่ ป่าพนาวัลย์ และหมู่บ้านใกล้เคียง
คุณพ่อเปโตร ทวีชัยได้ทำการบูรณะวัดทั้งหลังควบคู่ไปกับการขยายและต่อเติม ใช้เวลาในการดำเนินการ 6 เดือนเต็ม จนกระทั่งงานทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 1,733,842.- บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย อาทิ สันตะสำนัก วัดและสัตบุรุษวัดป่าพนาวัลย์ ครอบครัวคุณทินกร กิจเจริญและกลุ่มพระจิตกรุงเทพฯ คณะภคินีรักกางเขนแห่งท่าแร่ และผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ ที่มีส่วนทำให้งานทุกอย่างสำเร็จลงอย่างน่าสรรเสริญ มีพิธีเปิดและถวายวัดแด่พระเจ้า โดยพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ วันเสาร์ที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) นอกนั้นยังได้ก่อสร้างลานกีฬาสำหรับเยาวชนทางทิศเหนือ
บ้านพักพระสงฆ์ หรือ San Tomasso Ashram และโรงสอนคำสอน 
โดยคุณพ่อโทมัส ภัคพล มหัตกุล ค.ศ. 2013
ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) คุณพ่อมีคาแอล ธัญญา ศรีอ่อน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าพนาวัลย์ แยกเป็นเอกเทศจากอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ คุณพ่อได้เข้าพักที่อาศรมและเสนอโครงการเพื่อการปรับปรุงอาศรมหนึ่งหลังให้เป็นบ้านพักเจ้าอาวาสและห้องทำงาน อีกทั้งยังได้จัดหาคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการบริจาคจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์โดยคุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ เพื่อให้เด็กคำสอนและเยาวชนได้ใช้งาน แต่ยังไม่ได้เริ่มโครงการเพราะได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญมารีอามักดาเลนา นาโพธิ์ ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) คุณพ่อโทมัส ภัคพล มหัตกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และสานต่อโครงการของคุณพ่อมีคาแอล ธัญญาในการปรับปรุงอาศรม โดยได้สร้างส่วนต่อขยายด้านข้างขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร มีห้องน้ำและห้องครัวในตัว การตกแต่งภายในทำอย่างประณีตบรรจง มีภาพเขียนฝาผนังลายเส้นเป็นรูปต้นไม้และมหาวิหารนักบุญเปโตร พื้นที่ด้านหน้าได้ออกแบบเป็นลานปูด้วยแผ่นพื้นเฌอร่าและทำหลังคากันแดนฝนเพื่อเป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือทำงาน อีกทั้งตกแต่งสวนหย่อมหน้าบ้านให้ร่มรื่นสวยงามและโดดเด่น ซึ่งคุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ ให้ชื่ออาศรมหลังนี้ว่า San Tomasso Ashram” ตามนามนักบุญโทมัสองค์อุปถัมภ์ของคุณพ่อโทมัส ภัคพล             
พระรูปแม่พระแห่งภูเขาการ์แมลขนาด 1.50 เมตรที่คุณพ่อโทมัส ภัคพล มหัตกุลจัดหามา
               นอกนั้น คุณพ่อโทมัส ภัคพล ยังได้สร้างโรงคำสอนขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร จำนวน 2 ห้อง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากครอบครัวพรศิลปกุลและครอบครัวดิมัยโอ อีกทั้งยังได้ตกแต่งเพดานกลางวัดให้เป็นเหมือนท้องฟ้าสวยงาม พร้อมกับจัดหารูปแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ขนาดความสูง 1.50 เมตร ราคา 63,500.- บาท โดยได้รับบริจาคจากคุณเสี่ยง-คุณสำอาง ประสูตร์แสงจันทร์ และได้มีพิธีเสกพระรูปนี้โอกาสฉลองความเชื่อประจำปี วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) โดยคุณพ่ออันตน วีระเดช ใจเสรี อุปสังฆราช